Sale 10%

ฟ้าเดียวกัน 19/1 : 80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน

Original price was: 300.00 บาท.Current price is: 270.00 บาท.

รหัส: 9786167667935 หมวดหมู่:

สารบัญ

บทบรรณาธิการ

ปลดแอกประวัติศาสตร์

บทบรรณาธิการประจำฉบับ

80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน

ทัศนะวิพากษ์

ประวัติศาสตร์ไทยในมิติยาวไกล (longue durée)

คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร

“รัฐเจ้าเมือง” : ข้อเสนอเรื่อง “รัฐ” ของคนไตในเวียดนาม

นิติ ภวัครพันธุ์

สงครามและการกวาดต้อนผู้คนในลุ่มนํ้าโขง : การฟื้นฟูและขยายอำนาจของสยามในยุคธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์

พวงทอง ภวัครพันธุ์

“ไปเมืองแก้ว” โลกทัศน์ของสามัญชนในบันทึกเดินทางไปต่างแดน : จากระบอบสมบูรณาญา­สิทธิราชย์ถึงประชาธิปไตย

ณัฐพล ใจจริง

วิพากษ์ลัทธิมาร์กซ์ใน โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน ของจิตร ภูมิศักดิ์

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

แผนที่คือภาษา

ธงชัย วินิจจะกูล

การกลับคืนของ ปากไก่และใบเรือ และการอ่านในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

ธนภาษ เดชพาวุฒิกุล

อุษาคเนย์ยามว่างแผ่นดิน

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บทบรรณาธิการ

ปลดแอกประวัติศาสตร์

ถ้าเรากลับไปมองเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เมื่อระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส ที่ “อยู่ยั้งยืนยง” ตั้งแต่รัฐประหาร 2500 ล้มลงภายในชั่วข้ามคืน ทำให้กองทัพที่เป็นผู้เล่นหลักมายาวนานต้องกลับเข้าสู่กรมกอง (แม้ว่าจะชั่วคราว) ส่งผลให้ผู้เล่นทางการเมืองอื่นๆ ได้มีบทบาทมากขึ้น สื่อมวลชนกลายเป็นกระบอกเสียงที่สามารถมีจุดยืนทางการเมืองของตนเองได้  ขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกรเริ่มมีปากเสียงมากขึ้น (ก่อนที่จะถูกปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519) และที่สำคัญสถาบันกษัตริย์ภายใต้การนำของในหลวงภูมิพลฯ ที่เคยเป็นหุ้นส่วนอำนาจกับกองทัพได้ขึ้นครองอำนาจนำ

14 ตุลา ไม่เพียงแต่เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง แต่ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิปัญญาโดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ดังที่ธงชัย วินิจจะกูล ได้กล่าวไว้ในบทความ “ภูมิทัศน์ของอดีตที่เปลี่ยนไป : ประวัติศาสตร์ชุดใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลา”

การศึกษาประวัติศาสตร์กลายมาเป็นศูนย์กลางของความสนใจทางปัญญาสำหรับทุกสาขาวิชา รวมทั้งเป็นสังเวียนของการต่อสู้แข่งขันทางอุดมการณ์และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมาก ความรู้เกี่ยวกับอดีตในขนบแบบเดิมๆ ถูกท้าทายและล้มล้างไป จึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับอดีตในแบบใหม่ๆ

ด้วยเหตุที่ความตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยผูกโยงกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เมื่อความเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในกระแสต่ำนับจากกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ก็ลดลงตามไปด้วย หรือหากจะมีก็จำกัดอยู่ในแวดวงวิชาการที่เริ่มศึกษาสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้เล่นสำคัญในการเมืองไทย ก่อนที่ความสนใจประวัติศาสตร์จะหวนกลับมาเป็นกระแสสูงอีกครั้งหลังรัฐประหาร 2549 โดยเริ่มจากความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ในฐานะอุดมการณ์ที่จะมาต่อสู้แข่งขันกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยม ดังที่มีผู้เรียกมันว่าเป็นการเกิดใหม่ครั้งที่ 2 ของ 2475 กระนั้นก็ยังถือว่าเกิดขึ้นในวงแคบ

จนกระทั่งตลอดปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 การเมืองไทยจึงเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อปรากฏความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่ชูคำขวัญ “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ภายใต้ขบวนการดังกล่าวเราได้เห็นปัญหาที่ซุกซ่อนไว้ใต้พรม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการศึกษา ทุนผูกขาด เพศสภาพ การสืบทอดอำนาจของกองทัพ ฯลฯ รวมทั้งประเด็น “Elephant in the room” ซึ่งหมายถึงปัญหาสถานะพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่ขัดฝืนต่อระบอบประชาธิปไตย ทว่ากลับเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถกเถียงกันในสังคมไทยได้อย่างเปิดเผย จนกระทั่งการกำเนิดขึ้นของประกาศข้อเรียกร้อง “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ของขบวนการเยาวชนคนหนุ่มสาว

พร้อมกันนั้น ความสนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ก็พุ่งขึ้นสูงในหมู่คนรุ่นใหม่ หนังสือประวัติศาสตร์กระแสรองหรือแนววิพากษ์กลายเป็นที่ “ไถ่ถามอยากเรียนรู้” ไม่ต่างจากบรรยากาศหลัง 14 ตุลา 2516

เพื่อให้สอดคล้องกับความตื่นตัวศึกษาประวัติศาสตร์ วารสารฟ้าเดียวกันฉบับ “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน” คือการรวมบทความทางประวัติศาสตร์เพื่อเป็นเกียรติแก่หนึ่งในนักประวัติศาสตร์คนสำคัญของประเทศไทย

กล่าวสำหรับนิธิ ภารกิจในการเขียนประวัติศาสตร์นั้นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจำเป็นจะต้องไปไกลกว่า “ชาตินิยม” ไม่ว่าจะเป็นชาตินิยมแบบ “ขุนศึก” หรือ “ศักดินา” ดังที่ปรากฏในบทปาฐกถา “การศึกษาประวัติศาสตร์ไทย : อดีตและอนาคต” เมื่อปี 2523 ว่า

การเขียนประวัติศาสตร์เพื่อรับใช้รัฐประชาชาติและสถาบันกษัตริย์อันเป็นสถาบันที่เพิ่งเกิดขึ้นและสถาบันที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ล้วนเป็นเหตุให้การวิเคราะห์ประวัติศาสตร์พลาดจากความเป็นจริงหรือมิฉะนั้นก็ตื้นเขิน ในส่วนผู้ที่มีความ ‘รักชาติ’ อย่างแรงกล้าที่พร้อมจะอุทิศทั้งทรัพย์ ชีวิต และวิญญาณแก่ ‘ชาติ’ ก็น่าจะสำนึกได้ว่าความเป็นรัฐประชาชาติของไทยปัจจุบันเข้มแข็งพอที่จะไม่ต้อง ‘สร้าง’ ประวัติศาสตร์มาค้ำชูแล้ว… ในสมัยหนึ่งวิชาประวัติศาสตร์ไทยถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรก็เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอดีตของประชาชนไทย ในบัดนี้เราไม่เห็นทั้งความจำเป็นหรือข้อดีที่จะเอาประวัติศาสตร์ไปรับใช้ ‘ชาติ’ อีกต่อไป อีกทั้งยังเห็นว่าประวัติศาสตร์ไทยที่มองจาก ‘ชาติ’ เช่นนี้ย่อมมีผลบิดเบือนความจริงไปได้มาก

หลากหลายบทความทางประวัติศาสตร์ในวารสารฉบับนี้ แม้จะมีจุดยืน มุมมอง หรือทฤษฎีที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมกันคือความพยายามไปไกลกว่า “ชาตินิยม” ที่ครอบทั้งการศึกษาประวัติศาสตร์และการเมืองไทยมาช้านาน

บทบรรณาธิการประจำฉบับ

80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน

พวงทอง ภวัครพันธุ์

บ่อยครั้งทีเดียวที่ดิฉันมักได้ยินนักวิชาการรุ่นใหม่ที่สนใจศึกษางานเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวคล้ายๆ กันว่า ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีใครวิจารณ์งานของนิธิอย่างจริงๆ จังๆ คำกล่าวในลักษณะนี้ดูจะกลายเป็นความเชื่อโดยทั่วไป แต่พวกเขาจะรู้ว่านั่นเป็นเพียงความเชื่อเท่านั้นหากได้พิจารณาบทความของคริส เบเคอร์ (Chris Baker) “History after 1976: The Reception of Nidhi Eoseewong’s Pen and Sail”[1] อันเป็น “คำตาม” (Afterword) ที่เบเคอร์เขียนขึ้นสำหรับการตีพิมพ์หนังสือ Pen and Sail: Literature and History in Early Bangkok (2005) อันเป็นภาคภาษาอังกฤษของ ปากไก่และใบเรือ : รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ ของนิธิ  เบเคอร์ได้รวบรวมและสรุปบทวิจารณ์จำนวน 15 ชิ้นที่มีต่องานเขียนวิชาการชิ้นต่างๆ ของนิธิระหว่างปี 2512-2540 และหากรวม “คำตาม” ของเบเคอร์ที่ตีพิมพ์ในปี 2548 ด้วย ก็เท่ากับว่าจนถึงปี 2548 มีงานที่ศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์งานของนิธิอย่างจริงจังอย่างน้อย 16 ชิ้น และแน่นอนว่าหลังปี 2548 การวิเคราะห์-วิจารณ์งานของนิธิยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏให้เห็นในบทความ “การกลับคืนของ ปากไก่และใบเรือ และการอ่านในสังคมที่เปลี่ยนแปลง” โดยธนภาษ เดชพาวุฒิกุล ซึ่งได้นำมาตีพิมพ์รวมไว้ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับ “80 ปีนิธิ เอียวศรีวงศ์ : ปัญญาชนแห่งสยามยุคเปลี่ยนผัน” ที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ด้วย

ทั้งนี้ การวิเคราะห์วิจารณ์ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการไม่เห็นด้วยแต่เพียงประการเดียว แต่เป็นได้ทั้งเห็นด้วย สนับสนุน ชื่นชอบ วิเคราะห์ต่อยอด ประเมินคุณูปการ-ผลกระทบ ไปจนถึงวิพากษ์ถอดรื้องานนั้นๆ ฉะนั้น ไม่ว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับบทวิจารณ์ทั้งหลาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกวิชาการของไทย งานเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้รับความสนใจจากนักวิชาการหลายรุ่นอย่างต่อเนื่องมากที่สุด งานของนิธิตั้งแต่ทศวรรษ 2520 ยังได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นงานที่นักเรียนประวัติศาสตร์รุ่นแล้วรุ่นเล่ายังต้องอ่านกันต่อไป

80 ปีของนิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งหลายหน บางครั้งดูเหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่บางครั้ง หรืออาจจะบ่อยครั้ง ที่รัฐประกาศชัยชนะบนความสูญเสียและบาดแผลฉกาจฉกรรจ์ที่กระทำไว้กับประชาชนจำนวนมาก ในขณะที่ผู้มีอำนาจภาคภูมิใจกับผลงานของตนเองและประกาศ “เถลิงประเทศชาติไทย ทวีมีชัย ชโย” แต่ประชาชนรุ่นแล้วรุ่นเล่ายังสร้างขวัญกำลังใจ หรือปลอบประโลมตนเอง ด้วยความหวังว่า “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” การเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเป็นการเปลี่ยนแค่กลุ่มผู้นำ แต่การเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็เป็นระดับเปลี่ยนผัน (transform) ที่สร้างผลสะเทือนอย่างกว้างขวางและยาวนานแก่ผู้คนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบทหาร-ศักดินา-สหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 2500-2510, การเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516, การสังหารหมู่ประชาชน 6 ตุลาคม 2519, ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบของเปรม, ความตื่นตัวของการเมืองภาคประชาชน, การเมืองสีเสื้อ, จนถึงการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนนิสิตนักศึกษานับตั้งแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น นิธิได้ผ่านพ้นช่วงเวลาเปลี่ยนผันที่สำคัญเหล่านี้ ซึ่งเขาได้บันทึกความคิดของตนเองต่อการเปลี่ยนผันไว้ในงานเขียนวิชาการและบทความในนิตยสารและหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผันที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อความคิดทางการเมืองของนิธิด้วยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนผันในระดับการเมืองเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2549

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้รับการยอมรับมานานแล้วว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีผลงานสำคัญจำนวนมาก ได้รับการยอมรับมากที่สุดในบรรดานักประวัติศาสตร์รุ่นเดียวกับเขา ส่วนในพื้นที่นอกหอคอยงาช้าง บทบาท “ปัญญาชนสาธารณะ” ของนิธิ ที่กระทำผ่านบทวิเคราะห์การเมืองและสังคมในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารการเมืองในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้งานทางปัญญาของนิธิได้แผ่ขยายออกไปสู่ผู้อ่านในวงกว้างมากกว่านักวิชาการคนใดจะทำได้ ทำให้การขีดคั่นสถานะของนิธิด้วยเส้นแบ่งระหว่างการเป็น “ปัญญาชนหอคอยงาช้าง” กับ “ปัญญาชนสาธารณะ” ไม่มีความหมายมากนัก  กระนั้น เมื่อมีผู้ตั้งคำถามกับนิธิว่าเขารู้สึกอย่างไรเมื่อถูกเรียกด้วยคำว่า “ปราชญ์สามัญชน นักวิชาการที่ยืนอยู่ข้างคนจน เป็นนักวิชาการนอกคอก ปัญญาชนคนสามัญ” นิธิก็ตอบกลับด้วยความตระหนักถึงสถานะทางชนชั้นของตนอย่างไม่ดัดจริตว่า

คำกล่าวหรือแม้คำยกย่องที่คนอื่นให้แก่ผมนั้นส่วนใหญ่ไม่ตรงกับความจริง ผมไม่ได้อยู่อย่างคนจน ตรงกันข้ามในวิถีชีวิตที่ผมอยู่เวลานี้ เอารัดเอาเปรียบคนจนอยู่ไม่น้อยทีเดียว หลายอย่างที่ผมทำหรือบริโภคตามความเคยชินนั้น ทำและบริโภคได้เพราะมีคนจนอยู่ในโลก หากเราเฉลี่ยทรัพยากรกันอย่างทั่วถึงกว่านี้ ผมคงทำและบริโภคอย่างนั้นไม่ได้ ผมจึงรู้สึกอับอายกับคำยกย่องหลายอย่าง แต่ก็ไม่อาจชี้แจงได้ เพราะดูเหมือนขอร้องให้ยกย่องเพิ่มอีก หรือไม่แน่ใจว่าชีวิตของตนมีความสำคัญถึงกับต้องยกขึ้นไปค้าน[2]

ผู้ที่รู้จักนิธิอยู่บ้างจะรู้ดีว่านิธิมักรู้สึกอึดอัดกระอักกระอ่วนใจในเวลาที่มีผู้กล่าวยกย่องเชิดชูเขาต่อหน้า ฉะนั้น ดิฉันจะขอหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าวในบทนำชิ้นนี้ อีกทั้งผลงานที่ผ่านมาของนิธิเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าทางปัญญามากจนเราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาประดิษฐ์คำสรรเสริญใดๆ ให้แก่นิธิอีกแล้ว

สิ่งที่ดิฉันอยากกล่าวเพียงเล็กน้อยสำหรับการจัดทำหนังสือเล่มนี้ในวาระครบรอบอายุ 80 ปีของอาจารย์นิธิในปี 2563 นี้ก็คือ ผู้เขียนทั้ง 8 คนในหนังสือเล่มนี้ และทีมงานสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ไม่มีใครสักคนเดียวที่เป็นลูกศิษย์โดยตรง หรือเป็นเพื่อนสนิทวงในของอาจารย์นิธิ  แต่ทุกคนในที่นี้กลับมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมกันเขียนงานสำหรับโอกาสนี้ ด้วยเหตุผลที่ดิฉันเชื่อว่าพวกเรามีร่วมกับธงชัย วินิจจะกูล ดังที่ธงชัยได้ระบุไว้ในบทความของตนในหนังสือเล่มนี้ว่า

คงไม่มีนักเรียนประวัติศาสตร์คนใดในรุ่นราวเดียวกันกับผู้เขียนที่เติบโตมาโดยไม่เคยอ่านหรือไม่ได้รับอิทธิพลของอาจารย์นิธิ น่าจะกล่าวได้ว่านักเรียนและนักประวัติศาสตร์นับจากทศวรรษ 2520 เป็นต้นมาจำนวนมหาศาล เป็นศิษย์ทางอ้อมของอาจารย์นิธิด้วยกันทั้งนั้น บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความตระหนักว่าแม้อาจารย์นิธิมีบทบาทสำคัญเป็นปัญญาชนสาธารณะ แต่ในขณะเดียวกันอาจารย์ทำงานประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่รู้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์เป็นงานแบบหอคอยงาช้าง หาประโยชน์ใช้สอยโดยตรงทันทีอย่างที่มักเรียกร้องกันไม่ค่อยได้ แต่มีประโยชน์สำหรับการสร้างสติปัญญา ให้รู้จักคิดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์อย่างซับซ้อนเป็นระบบ บทความนี้จึงขอร่วมยืนยันความสำคัญของหอคอยงาช้าง เพื่อย้ำว่าความรู้นานาชนิดทั้งที่มีประโยชน์โดยตรงและไม่มีประโยชน์ใช้สอยโดยตรง ล้วนมีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้นแม้จะมีบทบาทต่างกันออกไปก็ตาม

หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย 8 บทความที่เขียนขึ้นตามความสนใจของแต่ละคน บางบทมีความเกี่ยวเนื่องกับงานของนิธิ บางบทไม่เกี่ยว การเรียงลำดับบทความในเล่มไม่เกี่ยวกับว่าเรื่องใดสำคัญมากกว่าเรื่องใด เกณฑ์มีเพียงง่ายๆ คือหยิบเรื่องประวัติศาสตร์ขึ้นมาก่อน

บทความแรกคือ “ประวัติศาสตร์ไทยในมิติยาวไกล (longue durée)” โดยคริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นการประยุกต์ใช้มุมมองในมิติยาวไกลของนักคิดสำนักอันนาลส์ (Annales School) มาปรับใช้กับประวัติศาสตร์ไทยนับตั้งแต่สุโขทัยจนถึงยุคปัจจุบัน โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงใน 5 มิติ คือ 1. ภูมิประเทศ ทรัพย์ในดินสินในน้ำ 2. ประชากรและการตั้งถิ่นฐาน 3. ระบบรัฐ 4. ภาษาและอัตลักษณ์ 5. ความเชื่อและอำนาจ บทความที่กระชับและอ่านสนุกนี้ไม่เพียงเสนอมุมมองที่ช่วยทำให้เราเห็นความต่อเนื่อง (continuity) หรือเปลี่ยนผัน (transformation) ของประวัติศาสตร์ไทยในระยะพันปีได้อย่างน่าสนใจ แต่ยังอาจเป็นกรอบสำหรับให้ผู้สนใจได้ลองศึกษาต่อในอนาคตว่า การเปลี่ยนแปลงในระยะยาวไกลของประวัติศาสตร์ไทยในแต่ละมิติเป็นดังที่เบเคอร์และผาสุกได้เสนอไว้หรือไม่อย่างไร

บทความที่สองโดยนิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง “‘รัฐเจ้าเมือง’ : ข้อเสนอเรื่อง ‘รัฐ’ ของคนไตในเวียดนาม” หรือไทดำ อันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชุมชนขนาดเล็กกระจายอยู่หลายแห่งในประเทศไทยและเวียดนามในปัจจุบัน นิติได้ทดลองเสนอว่ากลุ่มคนไทดำในอดีตเคยมีโครงสร้าง ระบบ และการจัดระเบียบทางการเมืองในระดับเดียวกับ “รัฐเจ้าเมือง” หรือ Principality สิ่งที่น่าสนใจของบทความนี้คือนิติใช้กรอบทางมานุษยวิทยาเพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการก่อรูปรัฐ (state formation) ของชาวไทดำ เขาเห็นว่าความซับซ้อนและลุ่มลึกของภาษา พิธีกรรม ความเชื่อ ความคิดเรื่องชนชั้น อุดมการณ์ที่มีต่อผู้ปกครองหรือรัฐ การค้าระหว่างรัฐ ตลอดจนเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์ เหล่านี้ชี้ว่าครั้งหนึ่งในอดีตชาวไทดำน่าจะมีชุมชนของตนที่ใหญ่ระดับรัฐเจ้าเมือง

บทความที่สาม “สงครามและการกวาดต้อนผู้คนในลุ่มนํ้าโขง: การฟื้นฟูและขยายอำนาจของสยามในยุคธนบุรี-ต้นรัตนโกสินทร์” โดยพวงทอง ภวัครพันธุ์ บทความชิ้นนี้อธิบายความสำคัญของการทำสงครามของรัฐสยามในยุคกรุงธนบุรีจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ที่กระทำต่อรัฐเพื่อนบ้านในลุ่มแม่น้ำโขง ว่าเกี่ยวข้องกับการควบคุมกำลังคนอย่างไร พวงทองชี้ว่าการพยายามฟื้นฟูและขยายอำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารของสยามหลังกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายโดยพม่าจะกระทำไม่ได้เลยหากไม่มีการทำสงครามที่ควบคู่ไปกับการกวาดต้อนกำลังคนจากรัฐเล็กๆ มาเติมเต็มไพร่เลกที่สูญเสียไปกับการกวาดต้อนของพม่า ความรุ่งโรจน์หรือตกต่ำทางอำนาจของอาณาจักรลุ่มน้ำเจ้าพระยาจึงแยกไม่ออกจากการมีอำนาจเหนืออาณาจักรลุ่มน้ำโขง อันที่จริงบทความนี้เป็นภาคต่อจากบทความ “เส้นทางการค้าสองฝั่งโขงกับการฟื้นฟูอาณาจักรลุ่มเจ้าพระยา” ที่พวงทองได้เคยนำเสนอในโอกาสที่นิธิมีอายุครบ 60 ปี ตีพิมพ์รวมในหนังสือ จักรวาลวิทยา : บทความเพื่อเป็นเกียรติแก่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2549) ที่เน้นไปที่ความพยายามของรัฐสยามที่จะเข้าควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำโขง

บทความที่สี่ นักประวัติศาสตร์มักใช้บันทึกการเดินทางหรือนิราศเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำหรับตีความเหตุการณ์หรือโลกทัศน์ของผู้คนในอดีต โดยผู้บันทึกการเดินทางมักจะเป็นมิชชันนารี เจ้า ขุนนาง ทหาร พ่อค้า ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในแวดวงของชนชั้นนำ สิ่งที่พวกเขาบันทึกย่อมสะท้อนความสนใจและผลประโยชน์ของพวกเขา  ขณะที่สามัญชนมักไม่อยู่ในจารีตการบันทึกแบบลายลักษณ์อักษร นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ในงานเขียนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับสามัญชนมีอย่างจำกัด ด้วยความตระหนักถึงสภาวะดังกล่าว ในบทความ “‘ไปเมืองแก้ว’ : โลกทัศน์ของสามัญชนในบันทึกเดินทางไปต่างแดนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงประชาธิปไตย” ณัฐพล ใจจริง จึงเลือกที่จะพาเราไปสำรวจบันทึกการเดินทางของสามัญชนสารพัดอาชีพและชนชั้น ที่มีโอกาสเดินทางไปยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น แน่นอนว่าโลกทัศน์ของพวกเขาสัมพันธ์กับชนชั้นและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา เช่น สำหรับกะลาสีที่ต้องปากกัดตีนถีบในดินแดนหนาวเหน็บท่ามกลางความยากจน ยุโรปและอเมริกาในการรับรู้ของเขาย่อมแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจาก “โลกอันศิวิไลซ์” ในบันทึกของชนชั้นนำไทยในต่างแดนที่คนไทยคุ้นเคย

บทความที่ห้า “วิพากษ์ลัทธิมาร์กซ์ใน โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน ของจิตร ภูมิศักดิ์” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ชวนเราอ่านงานเขียนชิ้นสำคัญของ จิตร ภูมิศักดิ์ ผู้ซึ่งผ่านการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักเดียวกันกับนิธิ (แม้ว่าเทวาลัยแห่งนี้ก็ไม่ใคร่จะเอ่ยถึงศิษย์เก่าผู้มีคุณูปการสูงสุดต่อวงการประวัติศาสตร์ไทย 2 คนนี้ก็ตาม)  ธเนศชี้ให้เห็นความสามารถของจิตรในการประยุกต์ใช้กรอบทฤษฎีวิวัฒนาการทางสังคมของมาร์กซ์กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมในดินแดนที่เรียกว่าประเทศไทยในปัจจุบัน แต่เมื่อจิตรเห็นลักษณะเฉพาะที่ไม่ตรงตามทฤษฎี ก็พร้อมที่จะวิพากษ์ทฤษฎีและเสนอการตีความที่แตกต่างออกไป การทำงานหนักของจิตรในฐานะนักลัทธิมาร์กซ์รุ่นบุกเบิกของไทยทำให้ธเนศกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า นักลัทธิมาร์กซ์ไทยยังต้องทำงานทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติให้มากขึ้นหากยังต้องการรักษาความเป็น “ศาสตร์แห่งสังคม” ของลัทธิมาร์กซ์ไว้ต่อไป

บทความที่หก “แผนที่คือภาษา” ธงชัย วินิจจะกูล ได้พาเรากลับไปพิจารณาเรื่องราวเกี่ยวกับแผนที่ อันเป็นงานวิชาการยุคแรกของเขา แต่ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากแนวคิด “ภูมิกายา” (geo-body) ที่เราคุ้นเคยกัน ในบทความนี้ธงชัยเสนอให้เรามองแผนที่ในฐานะภาษาชุดหนึ่ง ที่ประกอบด้วยไวยากรณ์ (grammar) ที่อยู่ในรูปของสี สัญลักษณ์ เสียง ศัพท์ ระบบระเบียบหรือกฎเกณฑ์ชุดหนึ่ง ฯลฯ การบันทึกภาษาของแผนที่จึงอยู่ในรูปของภาพ (visual inscription) ไวยากรณ์ที่ว่านี้ไม่ได้มีอยู่แต่ในแผนที่โลก ที่แสดงกายภาพของพื้นผิวโลกอย่างเป็นระบบระเบียบมีสเกลชัดเจน แต่แผนที่ลักษณะอื่นๆ ก็คือภาษาชุดหนึ่งที่มีไวยากรณ์เฉพาะของตนเพื่อสื่อสารเรื่องราวเฉพาะของตน ไม่ว่าจะเป็นแผนที่การเดินทางยุคโบราณที่ไม่ได้สนใจการถ่ายทอดความจริงอย่างแม่นยำ แผนที่ศาสนา แผนที่บอกเล่าการเดินทางของอารยธรรม แผนที่ดวงดาว แผนที่บอกเล่าเส้นทางของความลุ่มหลง (delusion) และความโลภ (greed) แผนที่แสดงลำดับชั้นของอำนาจ ฯลฯ แน่นอนว่าเมื่อแผนที่คือภาษา แผนที่บางชนิดสื่อสารเรื่องศาสนา บางชนิดสื่อสารเรื่องการเมือง แล้วกรณีของไทยล่ะ แผนที่ประเภทไหนที่ยังสื่อสารพลังทางการเมืองได้มากที่สุดจนถึงปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ผู้อ่านพึงแสวงหาคำตอบในบทความด้วยตนเองต่อไป

บทความที่เจ็ด โดยธนภาษ เดชพาวุฒิกุล นักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจเป็นพิเศษต่อประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาสมัยใหม่ของไทย งานและความคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ จึงเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญที่ธนภาษต้องการศึกษา บทความ “การกลับคืนของ ปากไก่และใบเรือ กับการอ่านในสังคมที่เปลี่ยนแปลง” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยใหญ่ของเขาที่มีหนังสือ ปากไก่และใบเรือ เป็นแกนกลางของการศึกษา อย่างไรก็ตาม บทความที่นำเสนอในที่นี้ธนภาษไม่เพียงพยายามแกะรอยสาแหรก (genealogy) ทางความคิดของนิธิ แต่เขาได้วิพากษ์ข้อวิจารณ์ที่นักวิชาการหลายคนมีต่อนิธิด้วย ธนภาษกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “นักวิชาการที่ทำงานไทยศึกษาสามารถหาประโยชน์จากนิธิในฐานะนักวิชาการที่สร้างความซับซ้อนให้แก่มุมมองเรื่องชนชั้น ไม่ว่าจะชนชั้นใดก็ตาม กระทั่งนิธิในการตีความของนักวิชาการเหล่านี้เสมือนเป็นคนละคน นับเป็นคุณูปการของนิธิที่ทำให้นักวิชาการมีประเด็นให้ศึกษา เพราะถ้าจะไปศึกษาความคิดเรื่องชนชั้นหรือสังคมไทยจากปัญญาชนใหญ่ท่านอื่นก็ดูจะไม่มีความโดดเด่นและมีตัวบทให้วิเคราะห์มากเท่านิธิ” ดูเหมือนนิธิและงานของเขายังสามารถเป็นหัวข้อวิจัยให้นักวิชาการรุ่นใหม่ได้ต่อไป รวมทั้งธนภาษด้วย

บทความสุดท้ายเป็นอีกบทความที่เกี่ยวข้องกับงานของนิธิโดยตรง ยุกติ มุกดาวิจิตร ได้ชวนให้เราอ่านหนังสือเล่มล่าสุดของนิธิเรื่อง ว่างแผ่นดิน : ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบกรุงแตกในสามราชอาณาจักร สำหรับยุกติ นิธิได้นำเสนอแง่มุมที่สำคัญและน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง ด้วยการเปรียบเทียบการล่มสลายของสามอาณาจักรในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 คือ อาณาจักรอยุธยา ด่ายเหวียด และอังวะ นิธิเสนอให้เรามองความคล้ายคลึงและความแตกต่างที่นำไปสู่การสถาปนาอำนาจของสามอาณาจักร แต่กลับเป็นจุดอ่อนที่นำไปสู่การล่มสลายของอำนาจด้วยเช่นกัน

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนทุกคนในหนังสือเล่มนี้ขอขอบคุณคุณนฤมล กระจ่างดารารัตน์ และสังคม จิรชูสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่ดูแลแก้ไขต้นฉบับ การอ้างอิง และกระบวนการจัดพิมพ์จนสำเร็จเรียบร้อย ขอขอบคุณคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผู้ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนการเผยแพร่งานวิชาการอย่างเต็มที่และตลอดมา พวกเราหวังว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากข้อเขียนทั้ง 8 ชิ้นนี้ตามสมควร เป็นงานที่พวกเราตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อแสดงความนับถือต่อปัญญาชนคนสำคัญแห่งยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผันของสังคมไทย… แด่ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนแห่งสยามในยุคเปลี่ยนผัน

[1] ดูฉบับแปลภาษาไทยใน คริส เบเคอร์, “ประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลา: การตอบรับของสังคมไทยต่อ ปากไก่และใบเรือ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์,” แปลโดย สายชล สัตยานุรักษ์, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 10, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2555) : 144-77.

[2] อ้างจากเว็บไซต์ สมาคมนักเขียนไทย, “นาม: นิธิ เอียวศรีวงศ์,” THAIWRITER.ORG, เข้าถึงเมื่อ 7 มกราคม 2564, http://www.thaiwriter.org/interview/niti%20eawsriwong/niti.htm.

ทดลองอ่าน