ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | ประชา สุวีรานนท์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 360 |
ปีที่พิมพ์ | 2657 |
ISBN ปกอ่อน | 9786169430346 |
ISBN ปกแข็ง | 9786169430339 |
ปกแข็ง 585.00 บาทปกอ่อน 450.00 บาท
ผู้เขียน | ประชา สุวีรานนท์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 360 |
ปีที่พิมพ์ | 2657 |
ISBN ปกอ่อน | 9786169430346 |
ISBN ปกแข็ง | 9786169430339 |
คำนำสำนักพิมพ์
คำนำผู้เขียน
ตอนที่หนึ่ง มิติต่างๆ ของตัวพิมพ์
บทที่ 1 เทคโนโลยีการสร้างตัวพิมพ์
บทที่ 2 ศิลปะการออกแบบตัวพิมพ์
บทที่ 3 นัยยะแฝงด้านต่างๆ ของตัวพิมพ์
ตอนที่สอง ตัวพิมพ์กับสังคมไทย
บทที่ 1 ตัวพิมพ์กับโลกทัศน์ใหม่ พ.ศ. 2379-2410
บทที่ 2 ตัวพิมพ์กับการสถาปนาชาติ พ.ศ. 2410-2453
บทที่ 3 ตัวพิมพ์กับการอ่านออกเขียนได้ พ.ศ. 2441-2470
บทที่ 4 ตัวพิมพ์กับหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470-2482
บทที่ 5 ตัวพิมพ์ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488-2500
บทที่ 6 ตัวพิมพ์ยุคสงครามเย็น พ.ศ. 2500-2515
บทที่ 7 ตัวพิมพ์ยุคเปลี่ยนผ่าน พ.ศ. 2515-2519
บทที่ 8 ตัวพิมพ์ยุคโฟโต้ไทป์เซตติ้ง พ.ศ. 2519-2530
บทที่ 9 ตัวพิมพ์ยุคฟองสบู่ พ.ศ. 2530-2540
บทที่ 10 ตัวพิมพ์ยุคฟองสบู่แตก พ.ศ. 2540-2545
บทที่ 11 ตัวพิมพ์ดิจิทัล พ.ศ. 2545-ปัจจุบัน
ประวัติผู้เขียน
บรรณานุกรม
ที่มาภาพ
ดรรชนี
เมื่อปี 2545 ประชา สุวีรานนท์ โดยมีเอสซี แมตช์บ็อกซ์เป็นโต้โผ ได้จัดงานนิทรรศการ 10 ตัวพิมพ์กับสังคมไทยขึ้นที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวได้ว่านิทรรศการครั้งนั้นได้เปิดโลกของตัวพิมพ์ไทยจากที่ซุกซ่อนในแดนสนธยาของวงการ typography และแวดวงนักออกแบบกราฟิกดีไซเนอร์ ให้กลายมาเป็นประเด็นที่สังคมในวงกว้างมากขึ้นให้ความสนใจ เนื่องจากการศึกษาตัวพิมพ์ของประชาวางอยู่บนจุดตัดของศาสตร์หลายแขนง ไม่ว่าวัฒนธรรม ภาษา เทคโนโลยี และสุนทรียศาสตร์ น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษารวบรวมและจัดประเภทตัวพิมพ์ไทยอย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีวิทยาแบบสัญศาสตร์ (semiotics) ซึ่งกำลังเป็นกระแสร่วมสมัยในโลกวิชาการสากลขณะนั้น
มองย้อนกลับไปประเทศไทยในปี 2545 เป็นปีที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งนำโดยทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ เป็นปีแรกที่คนไทยทุกคนมีสิทธิเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐด้วย “บัตรทอง” 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นปีที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เงินบาทแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยถูกตั้งเป้าให้เป็นดีทรอยต์แห่งเอเชีย ประชากรมีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยเดือนละ13,736 บาท ค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 133 บาท โทรศัพท์มือถือเริ่มเป็นปัจจัยที่ห้าเมื่อนับว่ามีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 17.4 ล้านเลขหมายเทียบกับกำลังแรงงานรวม 34.2 ล้านคน เป็นปีที่ชนชั้นกลางเริ่มตั้งตัวได้จากที่ล้มละลายคราวฟองสบู่แตก คนรุ่นเจเนอเรชั่น Y ถือกำเนิด กระแสฮัลลยูเริ่มก่อตัวจากละครโทรทัศน์เกาหลีที่ฉายทางช่องไอทีวี คนฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดีแทนเครื่องเล่นเทป แผ่นฟล็อปปีดิสก์ถูกแทนที่ด้วยซีดีรอมก่อนจะกลายร่างเป็นไอคอน save บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ กล้องฟิล์มกำลังจะตายและถูกแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัล สื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรืองถึงขีดสุดก่อนจะล้มหายตายจากเมื่อถูกสื่อออนไลน์ดิสรัปต์ในอีกทศวรรษถัดมา เป็นปีที่นิตยสารหัวใหม่ผุดขึ้นเต็มแผง นักเขียนคอลัมนิสต์กลายเป็นอาชีพที่ใฝ่ฝันของเด็กจบใหม่ เกิดนักเขียนหน้าใหม่ที่ทลายขนบทางภาษา วรรณกรรมแนวโพสต์โมเดิร์นเริ่มเป็นกระแสนิยม เทคโนโลยีการพิมพ์เข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มสูบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงไม่แปลกที่การหวนกลับไปหาตัวตะกั่ว เครื่องพิมพ์เลตเตอร์เพรส กระทั่งการล้างฟิล์มในห้องมืดจะเป็นการโหยหาอดีตรูปแบบหนึ่ง
ในบริบทที่ “สิ่งเก่ากำลังจะตาย สิ่งใหม่ก่อกำเนิด” นิทรรศการ 10 ตัวพิมพ์กับสังคมไทยก็เป็นหมุดหมายหนึ่งของการเปลี่ยนผ่าน มันทำหน้าที่แกะรอยวิวัฒนาการของตัวพิมพ์กับประวัติศาสตร์สังคมไทยกว่าศตวรรษตั้งแต่ยุคแรกที่การพิมพ์เข้าสู่สยาม เป็นต้นว่าตัวอักษรที่ใช้บนโปสเตอร์หนัง นางนาก มาจากตัวบรัดเลเหลี่ยมที่ปรากฏครั้งแรกใน บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย ตัวฝรั่งเศสที่ออกแบบอย่างประณีตได้รับความนิยมมาเป็นร้อยปีและยังคงความทันสมัยก็เกิดขึ้นในยุคสร้างชาติผ่านตำราเรียนแผนใหม่ของโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ตัวพิมพ์ตระกูลโป้งที่เริ่มกลับมาเป็นที่นิยมก็เป็นดั่งตัวแทนของยุคสมัยปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อมันปรากฏครั้งแรกในคำประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน 2475
นิทรรศการ 10 ตัวพิมพ์ที่บอกเล่าเรื่องราว 10 ยุคสมัยยิ่งทำให้เราตระหนักว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ครั้นเกิดรัฐประหารซ้ำถึงสองครั้งสองครา (2549, 2557) จนมีคำกล่าวว่าเป็น “ทศวรรษที่สูญหาย” ของสังคมไทย หากแต่การออกแบบสร้างสรรค์ตัวพิมพ์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง กระทั่งเกิดปรากฏการณ์สั่นสะเทือนการเมืองวัฒนธรรมครั้งใหญ่เมื่อสังคมไทยผลัดรุ่น (จำนวนประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์และเจเนอเรชั่นX ถดถอยแก่ชรา ขณะที่คนเจเนอเรชั่น Y–Z เติบโตเป็นแรงงานหลักขับเคลื่อนสังคม) สื่อใหม่เบ่งบาน (New Media เช่น Facebook, X, TikTok) ในปี 2563 การเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อปลดแอกจากระบอบอำนาจนิยมในสังคมเก่าและเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตัวพิมพ์ไทยก็ได้เป็นหนึ่งในคลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พร้อมๆ กับการเกิดใหม่ครั้งที่สองของคณะราษฎร ตัวพิมพ์ยุคปฏิวัติ 2475 ก็ได้เกิดใหม่ในรูปแบบฟอนต์ “คณะราษฎร เรกูลาร์” ที่ถูกเอาไปใช้บนป้ายประท้วง สติ๊กเกอร์ เสื้อยืด รวมถึงสเตนซิลบนท้องถนน การออกแบบดีไซน์ฟอนต์ถูกนำมาใช้อย่างแข็งขันมีชีวิตชีวาในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้ง
หนังสือ แกะรอยตัวพิมพ์ไทย ในมือท่านผู้อ่านเล่มนี้ก็ได้เกิดใหม่เช่นกัน นอกจากจะปรับปรุงมาจากหนังสือประกอบนิทรรศการ 10 ตัวพิมพ์กับสังคมไทยเมื่อ 2 ทศวรรษก่อนแล้ว แกะรอยตัวพิมพ์ไทย ของประชา สุวีรานนท์ ยังเพิ่มเติมบริบทของตัวพิมพ์ไทย 10 ยุค บวกกับอีก 1 สมัย กลายเป็น 11 ตัวพิมพ์ที่มีบทบาทควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนับแต่ที่มันถือกำเนิด ปรับตัวรับใช้การพิมพ์และการอ่านเขียนมาทุกยุคทุกสมัย
ตัวพิมพ์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกหนแห่ง ไม่ว่าหนังสือ นิตยสาร ฉลากสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงเรียน สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า พาสปอร์ต โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ ป้ายถนนไปจนป้ายประท้วง มันสะท้อนถึงการเมืองวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ณ ชั่วขณะหนึ่ง การย้อนกลับไปค้นหาต้นกำเนิดของตัวพิมพ์ในอดีต นอกจากจะช่วยให้เราได้ซึมซับรับรู้วัฒนธรรมแห่งยุคสมัยแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างสรรค์ตัวพิมพ์แบบใหม่ๆ ในบริบทใหม่ด้วย
ตัวพิมพ์ไม่ได้ล่องลอยในอากาศหากแต่ผูกพันฝังรากบนเนื้อดินที่มันเติบโตงอกงาม และในเนื้อนาดินอันอุดมนั้น ตัวพิมพ์มีแต่จะแตกยอดผลิใบตราบใดที่สังคมเราไม่ปิดกั้นเสรีภาพในการคิดสร้างสรรค์
ตั้งแต่เทคโนโลยีการพิมพ์เข้ามาสู่สยามเมื่อ 160 ปีที่แล้ว ตัวพิมพ์ไทยมากหน้าหลายตาก็ได้ออกมาอวดโฉมในบรรณพิภพด้วยฝีมือการสร้างสรรค์ของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า บางตัวก็เลือนหายไปกับกาลเวลา บางตัวก็เป็นที่นิยมใช้กันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ บ้างก็ถูกนำมาปรับแปลงใช้ใหม่ในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นบรัดเล ธงสยาม ฝรั่งเศส โป้งไม้ โมโนไทป์ มานพติก้า หรือ ดีบี เอราวัณ ชื่อแต่ละชื่อเหล่านี้ล้วนมีประวัติความเป็นมาและเป็นไปที่ผูกพันกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยในยุคสมัยต่างๆ อย่างแน่นแฟ้น
ตลอดช่วงเวลาอันยาวนานนี้ แม้เทคโนโลยีการสร้างตัวพิมพ์จะเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดหย่อน จากยุคที่ช่างฝีมือผู้ชำนาญแกะสลักร่องรอยลงบนแท่งพันช์จนเกิดเป็นรูปตัวอักษร ซึ่งจะยังผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนกว่าจะปรากฏเป็นรูปตัวพิมพ์บนแผ่นกระดาษ จนกระทั่งถึงยุคที่นักออกแบบตัวพิมพ์ทำงานด้วยระบบดิจิทัลที่อาศัยชุดคำสั่งอันประกอบด้วยข้อมูลตัวเลขและเวกเตอร์เบื้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่ตัวพิมพ์ก็ยังคงทำหน้าที่เดิมที่มันทำมาตั้งแต่แรกเริ่ม นั่นคือ เป็นสื่อของข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความบันเทิงสำหรับผู้คนจำนวนมหาศาล
หนังสือเล่มนี้มุ่งหมายที่จะเสนอเรื่องราวของตัวพิมพ์ไทยอย่างรอบด้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่หนึ่งจะนำผู้อ่านไปสัมผัสมิติด้านต่างๆ ของตัวพิมพ์ เริ่มด้วยการสำรวจโลกของเทคโนโลยีการสร้างตัวพิมพ์ จากนั้นจะเป็นการพิจารณาแง่มุมต่างๆ ของศิลปะการออกแบบตัวพิมพ์ไทย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการใช้งาน รูปลักษณ์ของตัวพิมพ์แบบต่างๆ รวมถึงนัยยะแฝงที่พ่วงมากับตัวพิมพ์ ตอนที่หนึ่งนี้จะจบลงด้วยบทวิเคราะห์การใช้งานตัวพิมพ์ในบริบทสังคมปัจจุบัน
ตอนที่สองของหนังสือจะเดินเรื่องในกรอบของประวัติศาสตร์ โดยคัดเลือกแบบตัวพิมพ์ 10 แบบของอักษรไทยมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนขับขานเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างตัวพิมพ์กับการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในยุคสมัยต่างๆ ไปตามลำดับ เพื่อเราจะได้ตระหนักถึงความแนบแน่นที่ตัวพิมพ์ผูกพันอยู่กับปัจจัยเหล่านี้เสมอมา ไม่ว่าจะเป็นในทิศทางที่ก้าวหน้า ถดถอย ลังเล เวียนวน หรืออาจจะคลี่คลายไปในแนวทางที่ยังไม่อาจคาดการณ์ใดๆ ได้เลยก็ตาม
ประชา สุวีรานนท์
ตุลาคม 2545