ข้อมูลทั่วไป
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 416 |
ปีที่พิมพ์ | 2568 |
ISBN ปกอ่อน | 9786169476719 |
ISBN ปกแข็ง | 9786169476702 |
ปกแข็ง 525.00 บาทปกอ่อน 430.00 บาท
หมายเหตุ
ผู้เขียน | นิธิ เอียวศรีวงศ์ |
---|---|
จำนวนหน้า | 416 |
ปีที่พิมพ์ | 2568 |
ISBN ปกอ่อน | 9786169476719 |
ISBN ปกแข็ง | 9786169476702 |
คำนำสำนักพิมพ์
ภาค 1
รากที่มา (และที่ไป) ของทหารไทย : จากกองทัพอาณานิคม ถึงกองทัพแห่งชาติ (?)
1. เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
2. กองทัพไทยกับการเมือง
3. ทหารมีไว้ทำไม
4. ความเป็นมาและเป็นไปของลัทธิทหาร
5. กองทัพมีไว้ทำไม
6. วัฒนธรรมเผด็จการไทย
7. กองทัพอาณานิคม
ภาค 2
พันธมิตรของทหาร : เผด็จการแฝง เจ้าสัว เทคโนแครต
8. วัฒนธรรมรัฐประหารไทย
9. คณาธิปไตยในการเมืองไทย
10. เศรษฐศาสตร์การเมืองของเผด็จการและประชาธิปไตยไทย
11. ธรรมชาติเผด็จการของเทคโนแครตไทย
12. ปฏิรูปใต้ระบอบเผด็จการ
ภาค 3
กองทัพไทย กองทัพอุษาคเนย์ มุมมองเชิงเปรียบเทียบ
13. จากกองทัพชาวนาถึงกองทัพสมัยใหม่
14. กองทัพกับการเมืองในอุษาคเนย์
15. กองทัพกับรัฐประหาร
16. เกสตาปูกับ 6 ตุลา
17. ศึกเดียนเบียนฟู
18. มองเมียงเชียงตุง
ภาค 4
กบฏ การปฏิรูปจากข้างล่าง และการเมืองมวลชน
19. อีกเมื่อไร
20. ฝูงชนในการปฏิวัติสยาม
21. มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่น “กบฏชาวนา”
22. ปฏิรูปจากข้างบนหรือข้างล่าง
23. ปฏิรูปกองทัพ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
24. เหตุใดจึงเลิกเกณฑ์ทหารไม่ได้
25. อดีตในอนาคต
ประวัติผู้เขียน
ประวัติการตีพิมพ์
ดรรชนี
ทำไมต้องอ่านงานเกี่ยวกับทหารไทยของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ?
ชื่อของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะนักประวัติศาสตร์เป็นที่จดจำในงานศึกษาความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจสังคมไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งตีพิมพ์เป็นบทความเลื่องชื่อตลอดทศวรรษ 2520 จนรวมเล่มเป็นหนังสือเล่มสำคัญคือ ปากไก่และใบเรือ (2527) และงานศึกษายุคสมัยของพระเจ้าตากสินในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529)
ในฐานะคอลัมนิสต์ นิธิผลิตงานเขียนจำนวนมาก กระจัดกระจายในหลากหลายหัวข้อ โดยมีจุดเด่นอยู่ที่การวิเคราะห์วัฒนธรรมไทยในแง่มุมต่างๆ งานชิ้นที่เป็นที่จดจำ เช่น หนังสือ ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร. 5 (2536) และ ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ (2538)
แต่นิธิสนใจเรื่องทหารไทยด้วยหรือ ?
นิธิน่าจะเริ่มวิเคราะห์ทหารไทยอย่างจริงจังนับแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา และผลิตงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เฉพาะที่รวมไว้ในเล่มนี้ก็มีมากถึง 25 ชิ้น
ท่ามกลางงานศึกษาเรื่องทหารไทยในโลกภาษาไทยชิ้นสำคัญ—เช่น ชัยอนันต์ สมุทวณิช, ยังเติร์กกับทหารประชาธิปไตย : การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย (2525) ; ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (2526) ; ณัฐพล ใจจริง, ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี : การเมืองไทยภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา 2491–2500 (2563) ; สุรชาติ บำรุงสุข, Transform or die : ปฏิรูปกองทัพไทย (2566) ; ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, เนื้อในระบอบถนอม : ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506–2516 (2566) ; พวงทอง ภวัครพันธุ์, ในนามของความมั่นคงภายใน : การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย (2567)—งานเขียนของนิธิมีจุดเด่นอยู่ที่ความรู้ลึกในแง่เวลา และความรู้กว้างในแง่พื้นที่
ในแง่เวลา หลายบทความของนิธิมีชื่อเป็นประโยคคำถาม เช่น “เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”, “ทหารมีไว้ทำไม”, “กองทัพมีไว้ทำไม”, “อีกเมื่อไร” เป็นต้น เมื่อตั้งคำถามแนวนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่นิธิต้องให้คำตอบที่ลงลึกในมิติเรื่องเวลา นั่นคือสืบสาวอดีตการก่อกำเนิดของกองทัพไทย ภาวะการดำรงอยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ในการตอบคำถามเหล่านี้ นิธิอธิบายปูมหลังย้อนไปไกลถึงยุคสมัยแห่งการปฏิวัติทวิภาคอังกฤษ-ฝรั่งเศส ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นจุดเริ่มต้นของ “รัฐสมัยใหม่” และการแพร่ขยายของลัทธิอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดกำเนิดกองทัพประจำการสมัยใหม่ของสยามในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนหนึ่งของกระแสโลกนี้ พูดให้ชัดก็คือ มีแม่แบบเป็นกองทัพอาณานิคมของเจ้าจักรวรรดิที่สร้างขึ้นเพื่อกำราบควบคุมคนภายใน ไม่ใช่กองทัพกู้ “ชาติ” ที่พยายามปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม ลักษณะแบบนี้ยังดำรงคงอยู่ และสร้างปมปัญหาจนเกิดคำถามว่า ทหารมีไว้ทำไม
ในแง่พื้นที่ นิธิมีความรอบรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ จึงใช้วิธีวิทยาเปรียบเทียบอย่างช่ำชองในการวิเคราะห์กองทัพไทยเทียบกับกองทัพในยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น แอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกองทัพในรัฐอุษาคเนย์ซึ่งประสบกับการตกเป็นอาณานิคม ได้แก่ กองทัพพม่า เวียดนาม กัมพูชา ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซียที่นิธิรู้จักดีเป็นพิเศษ ผลก็คือมุมมองที่ฉายให้เห็นความผิดปกติของกองทัพไทยอย่างแจ่มชัด
ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยเหตุที่นิธิสนใจวิเคราะห์วัฒนธรรมไทยมาโดยตลอด งานเขียนเกี่ยวกับทหารของนิธิจึงไม่ได้ลึกและกว้างในแง่มิติเวลา-พื้นที่เท่านั้น หากยังลุ่มลึกด้วยการวิเคราะห์ “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นเครื่องพยุง หรือเป็นเงื่อนไขปัจจัยทางความคิด เป็นไวยากรณ์ที่กำกับความสัมพันธ์ทางสังคมของกลุ่มบุคคลต่างๆ ในสังคมไทย ในหลายบทความ นิธิชี้ให้เห็นตาข่ายทางวัฒนธรรมขนาดมหึมาที่ครอบงำสังคมไทยเอาไว้ ตาข่ายนี้ถักทอขึ้นด้วยเงื่อนปมมโนทัศน์ความเป็นชาติ ราชาชาตินิยม ความเป็นไทย ความสามัคคี ความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นที่ตั้งอยู่บนหลักการว่าคนไม่เท่ากัน ฯลฯ พูดให้กระชับก็คือ นิธิวิเคราะห์ว่าสังคมไทยเห็นว่าธรรมชาติของคนเป็นอย่างไร ปัจเจกกับสังคมสัมพันธ์กันอย่างไร สังคมที่ดีหน้าตาเป็นอย่างไร คนไทยคิดว่าระบอบการเมืองการปกครองแบบไหนที่เหมาะสมกับประเทศไทย อุดมคติหรืออำนาจทางวัฒนธรรมเหล่านี้เองที่เอื้อให้ทหารไทยเป็นแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ เช่น เรียกตัวเองว่าทหารของพระราชาก็ได้ ทำรัฐประหารโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันฯ ก็ได้ แข็งขันในการรบกับคนในชาติก็ได้ แถมอ้างเรื่องความมั่นคงภายในแบบครอบจักรวาล ทั้งยังยืนยันว่ายกเลิกทหารเกณฑ์ไม่ได้ ฯลฯ
นี่คือมิติด้านวัฒนธรรม ซึ่งเป็นมิติที่สามในงานของนิธิ
กล่าวได้ว่า งานเขียนเกี่ยวกับทหารของนิธิเป็นงานสามมิติ หากเปรียบเป็นรูปทรง ก็คงเป็นทรงกลม ที่มองจากมุมไหนก็ได้ มองจากศูนย์กลางหรือชายขอบก็ได้ มองจากมุมสูงก็ได้ มองจากข้างล่างก็ได้ มีความกลมกล่อม สลับซับซ้อน อ่านได้หลายชั้น
แต่จะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างไรดี เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เกิดจากการรวบรวมบทความเกี่ยวทหารไทยที่นิธิเขียนขึ้นระหว่างปี 2556–2565 (ซึ่งในช่วงนั้นได้เกิดปรากฏการณ์ทหารพระราชา, การเมืองสีเสื้อ, รัฐประหารซ้ำสอง, การเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งการเมืองบนท้องถนนและการเมืองในรัฐสภา) ลงในนิตยสารรายวันและรายสัปดาห์[1] อย่างกระจัดกระจายในฐานะคอลัมนิสต์ที่ครุ่นคิดและเขียนโดยที่ไม่มากก็น้อยเป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เมื่อนำบทความทั้งหมดมารวมเป็นเล่ม กองบรรณาธิการพยายามปะติดปะต่อภาพความคิดเรื่องทหารไทยของนิธิเข้าด้วยกัน แล้วจัดเรียงออกมาเป็น 4 ภาค ได้แก่
ภาค 1 รากที่มา (และที่ไป) ของทหารไทย ประกอบด้วยบทความ 7 ชิ้น ที่นิธิบรรยายให้เห็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกองทัพไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงข้อเสนอและความใฝ่ฝันของนิธิที่อยากเห็น “กองทัพแห่งชาติ” ซึ่งอยู่ใต้อาณัติของประชาชน ที่สำคัญนิธิใช้กรอบคิดpatrimonialism ชี้ว่ารัฐไทยไม่ใช่รัฐสมัยใหม่แท้ ยังคงรักษาความเป็นรัฐ patrimonial หรือ “รัฐสมบัติส่วนตัว” ของผู้ถืออำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น (กองทัพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ จึงถือเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถืออำนาจ) นิธิเตือนว่าความพยายามผลักดันประชาธิปไตยภายใต้รัฐ patrimonial ไม่มีวันทำได้สำเร็จ การเปลี่ยนผ่านที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของไทยคือเราต้องเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่เสียที ก้าวแรกคือการผลักดันให้คนไทยยอมรับว่ารัฐไทยเป็น “สมบัติร่วมกัน” ของประชาชนไทยทุกคน
ภาค 2 พันธมิตรของทหาร ประกอบด้วยบทความ 5 ชิ้น ซึ่งนิธิชี้ให้เห็นกลุ่มชนชั้นนำ อาทิ เผด็จการแฝง เจ้าสัว เทคโนแครต ตัวละครที่เป็นพันธมิตรของทหารในการแทรกแซงการเมืองเหล่านี้มีวิธีคิดอย่างไร ผูกโยงกันด้วยผลประโยชน์แบบใด
และความเชื่อที่ว่าปฏิรูปใต้เผด็จการทหารอาจจะสำเร็จได้ สุดท้ายแล้วล้มเหลวไม่เกิดผลเพราะเหตุใด
ภาค 3 กองทัพไทย กองทัพอุษาคเนย์ มุมมองเชิงเปรียบเทียบ มีบทความทั้งหมด 6 ชิ้น ผู้อ่านจะได้เรียนรู้บทเรียนการปฏิรูปกองทัพจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสำเร็จและล้มเหลวผ่านวิธีวิทยาเปรียบเทียบ ซึ่งอาจจะทำให้หลายคนนึกถึงลีลาเช่นเดียวกันนี้ในงานของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน อย่างไรก็ดี ในบทความอื่นๆ ที่ไม่ได้รวมอยู่ในภาค 3 นี้ นิธิก็มักเปรียบเทียบทหารไทยกับทหารในที่อื่นๆ ทั่วโลก ทั้งเพื่อบอกว่าไทยมีลักษณะที่เหมือนใครๆ พอๆ กับไทยเป็นไทยที่ไม่มีใครเหมือน
ภาค 4 กบฏ การปฏิรูปจากข้างล่าง และการเมืองมวลชน ประกอบด้วยบทความ 7 ชิ้น ซึ่งนิธิครุ่นคิดถึงทางออกของปัญหา โดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิรูปกองทัพจากปัจจัยเงื่อนไขต่างๆ และเปรียบเทียบระบอบเผด็จการสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสว่าเหมือนหรือต่างกับระบอบ คสช. อย่างไร ที่สำคัญ นิธิชี้ให้เห็นการต่อต้านเผด็จการในรูปแบบต่างๆ ทั้งซ่อนเร้นและเปิดเผยของคนข้างล่างที่ถูกกดทับจากอำนาจ นับจากกบฏชาวนาก่อนรัฐสมัยใหม่จนถึงฝูงชนในการปฏิวัติ2475 การประท้วงของคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ และล่าสุดความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ซึ่งนิธิมองว่าเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
เมื่อรวมทั้ง 4 ภาคเข้าด้วยกันแล้ว งานเขียนเกี่ยวกับทหารไทยของนิธิเล่มนี้น่าจะฉายให้เห็นภาพใหญ่ และสามารถเป็นเสมือนแผนที่นำทางให้กับนักเรียนประวัติศาสตร์ที่สนใจศึกษาเจาะลึกในประเด็นเฉพาะเกี่ยวกับทหารไทยอย่างลงรายละเอียดต่อไป อีกทั้งน่าจะมีคุณประโยชน์ไม่มากก็น้อยต่อผู้ที่มีเจตจำนงที่จะปฏิรูปกองทัพ ไม่ว่านักการเมือง นักเคลื่อนไหว หรือมวลชนซึ่งนิธิเห็นว่าเป็นพลังสำคัญที่สุดที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแท้จริง
อย่างไรก็ดี การจัดหมวดหมู่และแบ่งภาคเช่นนี้เป็นแค่ไกด์ไลน์ในการอ่านหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ผู้อ่านอาจเลือกอ่านแบบไม่เรียงลำดับตามความสนใจของตนก็ได้ เพราะงานแต่ละชิ้นของนิธิเสมือนเรื่องสั้นที่ได้อรรถรสและจบในตัวเองอยู่แล้ว แต่หากผู้อ่านอ่านแล้วก็แล้วกัน นิธิคงไม่ชอบใจแน่ ดังที่นิธิเคยเขียนไว้ในคำนำ (ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง) ของหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี(2536) ว่า “หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีที่ประสบความล้มเหลว เมื่อพิมพ์ครั้งแรกในต้นปี 2529 นั้นจำหน่ายหมดลงอย่างรวดเร็ว จนต้องพิมพ์เพิ่มอีกในเวลาอันสั้น แต่ความสำเร็จของหนังสือไม่ได้อยู่ที่ตลาดเพียงอย่างเดียว… ยังควรต้องมีผลกระทบต่องานศึกษาเรื่องเดียวกันติดตามมาบ้าง ไม่ในทางลบก็ทางบวก”
คงไม่มีใครบอกได้ในตอนนี้ว่าหนังสือ ทหารไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร : ลัทธิอาณานิคม วัฒนธรรมเผด็จการ และการเมืองมวลชน ของนิธิเล่มนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่ และแม้นิธิจะเสนอแนวทางการปฏิรูปกองทัพไทยไว้อย่างค่อนข้างชัดเจน แต่ก็หาใช่คำตอบสำเร็จรูปหรือคัมภีร์ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเถรตรง (ดังที่ผู้อ่านจะเห็นได้ว่าการคาดการณ์หลายอย่างของนิธิก็ไม่ได้เป็นไปตามที่นิธิคาดไว้)
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือลำดับที่ 2 ในชุด “ทหารไทย” ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตั้งใจจัดทำขึ้น (เช่นเดียวกับชุด “สยามพากษ์”, “กษัตริย์ศึกษา”, และ “ทวิพากษ์” ที่ออกมาก่อนหน้านี้) เพื่อรวบรวมองค์ความรู้เชิงวิพากษ์เกี่ยวกับทหารไทยในหลากมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม มาตีพิมพ์ไว้ในชุดเดียวกัน โดยหวังว่าทั้งหมดจะช่วยให้ผู้อ่านเท่าทันพลวัตของสถาบันทหาร พร้อมกับเป็นฐานความรู้ความเข้าใจในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับกองทัพต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นภารกิจหนักหนาที่รอการชำระสะสาง
หมายเหตุ
เชิงอรรถบอกที่มาของหนังสือต่างๆ ที่นิธิอ้างอิงนั้น กอง บ.ก. เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อประโยชน์ในการสืบค้นของผู้อ่านต่อไป
[1] ยกเว้นบทความ “มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านแว่น ‘กบฏชาวนา’” เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน สองเดือนภายหลังเหตุการณ์กรือเซะวันที่ 28 เมษายน 2547