ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475

ลดราคา!

฿360.00฿450.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน พิมพ์ครั้งที่ 1

คำนำผู้เขียน พิมพ์ครั้งที่ 2

บทที่ 1 การปฏิวัติสยาม 2475 : พรหมแดนแห่งความรู้

บทที่ 2 วาทกรรมการเมืองว่าด้วยประชาธิปไตยของไทย

บทที่ 3 อิทธิพลของความคิดฝรั่งเศสที่มีต่อการเมืองไทยสมัยใหม่

บทที่ 4 สองกระแสของภูมิปัญญาในการปฏิวัติสยามทศวรรษ 2470

บทที่ 5 ความนึกคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจของราษฎรในสมัยของการปฏิวัติทศวรรษ 2470

บทที่ 6 พระยามโนปกรณ์นิติธาดากับการเมืองสยามในปี พ.ศ. 2475

บทที่ 7 กบฏบวรเดช : การเมืองของประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของการเมือง

บทที่ 8 การแสวงหาระบบเศรษฐกิจใหม่ในช่วงหนึ่งทศวรรษภายหลังการปฏิวัติสยาม 2475

บทที่ 9 ระบอบรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม : การก่อรูปของแนวความคิดและความหมายทางการเมือง

บทส่งท้าย ความคิดในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม

ภาคผนวก เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม 2475 วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ สัมภาษณ์

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

อ่านต่อ >>

ไพร่เป็นพื้นยืนเห็นประเด็นชอบ

ตามระบอบปาลิเมนต์ประเด็นขำ

แม้นนิ่งช้าล้าหลังมิยังทำ

จะตกต่ำน้อยหน้าเวลาสาย

บทกวีข้างต้น เทียนวรรณ หรือ ต.ว.ส. วัณณาโภ ได้รจนาขึ้นในปี 2448 ในยุคสมัยที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังเป็นสุดเขตแดนของจินตนาการรูปแบบการปกครองที่เป็นไปได้ของชนชั้นนำสยาม ในขณะนั้น แน่นอนที่สุดผู้ที่บังอาจคิดถึงรูปแบบการปกครองที่ดีกว่า ถ้าหากไม่ถูกทำให้กลายเป็น “คนบ้า” ในสายตาของผู้ปกครองก็จะถูกโซ่ตรวนมาพันธนาการ

โชคร้ายเป็นของเทียนวรรณที่ท่านได้รับโทษทัณฑ์ทั้ง 2 ประการ

แต่ก็ใช่ว่าความพยายามของเทียนวรรณจะไร้ค่าก็หาไม่

ในบั้นปลายของชีวิตภายหลังจากพ้นโทษ เทียนวรรณขณะนั้นอายุเกือบจะ 70 ปีแล้ว ได้สนทนาวิสาสะกับเด็กมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนหนึ่ง ซึ่ง ก่อนหน้านั้นได้รับการบอกเล่าจากครูประจำชั้นถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐในปี 2454 โดยมี ดร.ซุนยัดเซ็นเป็นหัวหน้า

เด็กเรียนมัธยมผู้นี้มีความประทับใจในข้อเขียนของเทียนวรรณ เขาได้เดินทางไปหาเทียนวรรณ ที่อาศัยอยู่ที่ตึกแถวบริเวณวัดบวรนิเวศฯ

บทสนทนาระหว่างคนต่างรุ่นที่สนใจการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น อย่างไรบ้าง ยังเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน

16 ปีหลังจากนั้น

24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง ฟ้าได้ผ่าเปรี้ยงลงกลางพระนคร เมื่อนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้อ่านประกาศของคณะราษฎร ประณามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างรุนแรง พร้อมทั้งเสนอรูปแบบการปกครองใหม่ที่ให้กษัตริย์ “อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” และให้มีสภาที่จะเป็นที่ปรึกษาหารือกัน

โดยผู้เขียนคำประกาศคณะราษฎรฉบับดังกล่าวคือคนเดียวกันกับเด็กมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยคนนั้น ซึ่งก็คือนายปรีดี พนมยงค์

บ่ายโมงเศษของวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมที่คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ใช้เป็นกองบัญชาการ นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ได้กล่าวต่อร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ หัวหน้า “คณะพรรค ร.ศ. 130” ผู้ที่ล้มเหลวในความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง 20 ปีก่อนหน้านั้นว่า

ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม !

กระแสความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่หลอมรวมมาเป็น “เหตุการณ์ 24 มิถุนา” นั้นได้ชี้ให้เห็นเป็นอย่างดีว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมิได้เป็นเพียง “ละครการเมือง” ที่เริ่มและจบภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงของเช้าวันนั้น หากแต่ “เหตุการณ์ 24 มิถุนา” เป็นความจำเป็นทางประวัติศาสตร์ของการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งกระบวนการ

แต่อย่างที่รับรู้กันในปัจจุบันว่า ความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ 24 มิถุนาเป็นไปอย่างหลากหลาย ซึ่งในความหลากหลายนั้นมี “อำนาจการเมือง” ในแต่ละยุคมาเป็นโครงครอบ

ดังนั้น การที่จะทำความเข้าใจ “ความคิด” ที่จะนำไปสู่ “เหตุการณ์ 24 มิถุนา” จนเป็น “ความรู้” ที่สั่งสมมาในปัจจุบันนั้น ต้องเข้าใจด้วยว่ามี “อำนาจการเมือง” ใดบ้างมากำหนด

การจัดพิมพ์ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเขียนของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ “เหตุการณ์ 24 มิถุนา” ในแง่มุมต่างๆ ในระหว่าง พ.ศ. 2525-2533 ขึ้นใหม่หลังจากที่สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้ง แรกใน พ.ศ. 2533 นั้น สำหรับการพิมพ์ในครั้งนี้ทางผู้เขียนและสำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน ได้ปรับปรุงและ แก้ไขข้อผิดพลาดบางส่วนจากการจัดพิมพ์ในครั้งแรก นอกจากนี้ยังได้นำบทสัมภาษณ์ เรื่อง “เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม 2475” ของนครินทร์ มาเป็นภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับทำดรรชนีและบรรณานุกรมรวมด้วย

สำหรับมูลเหตุของการจัดพิมพ์ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 เป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเห็นว่างานชิ้นนี้มิได้ เป็นเพียงหนังสือรวมบทความเท่านั้น หากแต่งานชิ้นนี้เป็นการนำเสนอการศึกษา “เหตุการณ์ 24 มิถุนา” โดยมีจุดมุ่งหมาย และวิธีการศึกษาที่แน่ชัดคือการเผยให้เห็นว่า ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองที่ควบคุมความรับรู้เกี่ยวกับ “เหตุการณ์ 24 มิถุนา” นั้นมีอะไรบ้าง ทำงานอย่างไร ส่วนการตีความ/ช่วงชิงความหมายเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้คงจะเป็นหน้าที่ของผู้อ่านดังที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวไว้ว่า

ผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วย จะต้องรบกันไปอีก และแย่งกันในระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้…[1]

 

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

2546

 

[1]ดู “ภาคสุนทรพจน์ เรื่อง คำอภิปรายของนายกรัฐมนตรีกล่าวแต่มวลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ สภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวแก่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบทฉะเพาะกาล พุทธศักราช 2483 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2483,” ใน ข่าวโฆษณาการ ปีที่ 3 ฉบับที่ 6 (2483) : 1460-71.

อ่านต่อ >>

ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475 นี้ เป็นหนังสือรวบรวมบทความของผู้เขียนในระหว่าง พ.ศ. 2525 จนถึง พ.ศ. 2532 จากบทความที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในแง่มุมต่างๆ ทั้งนี้บทความที่นำมารวบรวมพิมพ์ในครั้งกระนั้นก็มีการตัดทอน และเปลี่ยนแปลงเนื้อหาไปจากต้นฉบับเดิมบ้าง เหตุก็เพราะต้องการจัดเนื้อเรื่องให้มีความเหมาะสม และทำให้โครงเรื่องมีความชัดเจนสำหรับผู้อ่าน รวมทั้งผู้เขียนได้เขียนบทความเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งบทเป็นการเฉพาะสำหรับการพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2533 ด้วย โดยมุ่งแสดงความคิดรวบยอดของผู้เขียนเองในสมัยนั้นว่าผู้เขียนมีความคิดอย่างไรจึงได้รวบรวมบทความทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน

ตราบจนถึง พ.ศ. 2546 ซึ่งครบวาระ 71 ปี ภายหลังการปฏิวัติสยามปี 2475 พบได้ว่า หนังสือตำรับตำรา บทความ เอกสารทางวิชาการ และการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเหตุการณ์ดังกล่าว มีปรากฏอยู่น้อยมาก (ดูตัวอย่างการประมวลเรื่องราว รวมทั้งการสะท้อนข้อคิดที่น่าสนใจของธนาพล อิ๋วสกุล, “70 ปี 24 มิถุนายน : ความหลงลืมทางประวัติศาสตร์, กรุงเทพธุรกิจ24 มิถุนายน 2545) ในบรรยากาศเช่นนี้ เมื่อมีผู้ปรารถนาจะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นใหม่อีกวาระหนึ่ง และนับเป็นการพิมพ์ครั้งที่สองภายหลังจากการพิมพ์ครั้งแรกผ่านพ้นมา 13 ปี นับว่าเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความปลื้มปีติแก่ผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อผู้เขียนเองได้มีโอกาสทบทวนความคิดและงานเขียนของตนเองชุดนี้อีกครั้งหนึ่ง แม้นว่าจะใช้เวลาไม่นานนัก โดยนำไปพิจารณาเปรียบเทียบกับความก้าวหน้าของการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 โดยรวมแล้วพบว่าการศึกษาในระยะต่อมามีการนำหลักฐานใหม่ๆ ใช้เพิ่มเติมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นจำนวนหรือมีปริมาณที่น้อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากนี้ หากจะพิจารณาถึงวิธีการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อกาลเวลาผ่านไป โดยหลักการแล้วก็ควรจะมีแนวทางการศึกษาและมีแนวการวิเคราะห์แบบใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน เช่น ควรจะมีการวิเคราะห์ทางอำนาจชนิดใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดความรู้เพิ่มเติมจากสถานะความรู้เดิม เป็นต้นอย่างไรก็ดีเมื่อประเมินทั้งความก้าวหน้าในระยะสิบปีเศษที่ผ่านมา ผู้เขียนมีความเห็นว่ามีพัฒนาการที่ไม่มากมายอะไรนัก และข้อสำคัญก็คือ มีลักษณะและทิศทางที่เป็นส่วนขยายของแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยแบบจารีต คือเน้นอธิบายความเปลี่ยนแปลงจากการกระทำของบุคคล โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองเสียมากกว่าจะเป็นการศึกษาในเชิงที่เป็นระบบสังคมการเมือง กระบวนการทางการเมือง หรือในเชิงของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองทั้งระบบ

หากพิจารณาย้อนหลังกลับไปถึงช่วงสมัยเวลาที่ผู้เขียนได้เขียนบทความต่างๆ ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475ผู้เขียนยังคงระลึกได้เสมอว่าในช่วงเวลานั้น สังคมการเมืองและกลุ่มศึกษาทางวิชาการของไทยล้วนมีความพยายามอย่างเอาจริงเอาจังที่จะแสวงหาช่องทางการอธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 รวมทั้งประวัติศาสตร์ไทยโดยรวมในแง่มุมใหม่ๆ ตัวอย่างเช่นที่ผู้เขียนได้เสนอว่าการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับการปฏิวัติสยาม 2475 ควรเน้นภาพการเคลื่อนไหวของสังคมการเมืองโดยรวมมากกว่าจะเน้นบทบาทของบุคคลเพียง 2-3 คน ทั้งนี้ควรจะศึกษาการเคลื่อนของกลุ่มบุคคลนับตั้งแต่ชนชั้นสูง ชนชั้นนำผู้มีอำนาจทางการเมือง ระบบราชการ ปัญญาชน พ่อค้าชนชั้นกลาง นักหนังสือพิมพ์ และอื่นๆ เรื่อยลงมาจนถึงราษฎร ชาวนาที่อยู่เบื้องล่าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้เขียนกล่าวว่าการศึกษาการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอื่นๆ นอกเหนือไปจากพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์นั้นมีความสำคัญต่อการเข้าใจสถานะและความหมายของการปฏิวัติสยาม 2475 ก็เพราะผู้เขียนคิดคล้อยไปตามวิธีการคิดของยุคสมัยนั้นเองว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ แต่ครั้นเมื่อกาลเวลาได้ผ่านพ้นไปสิบปีเศษแล้ว ปรากฏว่าความคิดในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังคงวนเวียนอยู่กับกรอบความคิดแบบเดิมๆ ที่จะตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นเรื่องของพระมหากษัตริย์และผู้นำเพียง 2-3 คนเป็นการเฉพาะ และเรื่องนี้เป็นปัญหาของการตอกย้ำในความคิดแบบเดิมๆ คือเป็นปัญหาของผู้ศึกษาเสียมากกว่าจะเป็นปัญหาของเอกสารและหลักฐานซึ่งถูกละทิ้งไว้เฉยๆ อย่างไม่มีความหมายต่อผู้ศึกษา

ผู้เขียนยังคงจดจำได้ว่าบรรยากาศทางวิชาการและสังคมของต้นทศวรรษ 2520 ซึ่งแวดล้อมและเป็นแรงบันดาลใจต่อการทำงานของผู้เขียนในทางใดทางหนึ่ง นับว่ามีส่วนสำคัญยิ่งทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าสมัยนั้นเป็นยุคสมัยของการวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการศึกษาแบบจารีตอย่างเอาจริงเอาจัง โดยที่ผู้นำของการศึกษาทางวิชาการในแบบวิพากษ์วิจารณ์ในสมัยนั้นมีด้วยกันหลายคน และภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบแนวทางการศึกษาแบบต่างๆ ว่าแนวทางใดมีความเหมาะสมต่อการศึกษาเรื่องสยาม/ไทยมากกว่ากัน เพราะเหตุใด อย่างไร ฯลฯ โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

บรรยากาศทางวิชาการในช่วงทศวรรษ 2530 ถึงทศวรรษ 2540 เป็นช่วงเวลาที่มีการขยายแนวทางการศึกษาแบบต่างๆ ให้กว้างขวางครอบคลุมแง่มุมและประเด็นต่างๆ กระนั้นก็ตาม แนวทางการศึกษาทางประวัติศาสตร์ที่เน้นบทบาทของพระมหากษัตริย์และผู้นำทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่และมีบทบาทสำคัญในการศึกษาการปฏิวัติสยาม 2475 ตัวอย่างเช่น ในช่วงต้นทศวรรษ 2540 ได้มีการจัดงานครบรอบร้อยปีชาตกาลของผู้นำสำคัญบางคนในเหตุการณ์การปฏิวัติสยาม 2475 เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2540) และนายปรีดี พนมยงค์ (พ.ศ. 2543) เป็นต้นในโอกาสเช่นนี้ ทำให้มีการตรวจสอบข้อมูล มีการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารต่างๆ และมีการแสดงทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาการปฏิวัติสยาม 2475 เพิ่มเติมขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวการศึกษาแบบจารีตที่เน้นบทบาทของผู้นำซึ่งฝังรากลึกอยู่ในบริบทสังคมการเมืองไทย

งานวิชาการในระยะต่อมาที่น่าสนใจบางเล่ม อาทิ การเมืองไทยยุคสัญลักษณ์รัฐไทยซึ่งเป็นการนำวิทยานิพนธ์ในปี 2533 ของ มานิตย์ นวลละออมาปรับปรุงพิมพ์เผยแพร่ในปี 2540 โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปรากฏว่ามีลักษณะเด่นคือ มีการใช้แนวทางการวิเคราะห์เชิงสัญลักษณ์มาอธิบายประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการนำแนวคิดใหม่ๆ มาใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยแต่กระนั้นก็ตาม โดยวิธีคิดแล้วก็ยังคงเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองที่เน้นเรื่องราวของตัวท่านผู้นำ คือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่ามีบทบาทสูงเด่นในการนำการเปลี่ยนแปลงระบอบใหม่ในทศวรรษ 2470 ต่อเนื่องจนถึงทศวรรษ 2480

การจัดพิมพ์พระนิพนธ์เรื่อง สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น: ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475ของ ม.จ. พูนพิศมัยดิศกุล ที่ได้ทรงนิพนธ์ไว้จบสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2486 แต่นำมาพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2542 และพิมพ์ต่อมาอีกหลายครั้ง กล่าวได้ว่าเป็นการเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนตลอดรัชกาลจากมุมมองของพระราชวงศ์พระองค์หนึ่งที่ใกล้ชิดศูนย์กลางการปกครองในช่วงการปฏิวัติสยามปี 2475 แม้ไม่ทราบเหตุผลที่ม.จ. พูนพิศมัยดิศกุลไม่ทรงพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้าเวลานั้นเป็นเวลาหลายสิบปี แต่ครั้นเมื่อตีพิมพ์แล้วก็มีการเว้นช่องว่าง (พระ) นามของบุคคลต่างๆ ตลอดทั้งเรื่อง พระนิพนธ์เรื่องนี้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะเดียวกันก็เป็นการตอกย้ำแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเดิมที่เน้นบทบาทของผู้นำเป็นสำคัญอีกวาระหนึ่ง

นอกจากนี้ ได้แก่การจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง: รวมบทความเกี่ยวกับกรณี 14 ตุลา และ 6 ตุลาโดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลในปี 2544 โดยที่บทความในส่วนแรกมุ่งอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิวัติสยาม 2475 กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยชี้ให้เห็นจุดเด่นและข้อขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมหรือปรีดี พนมยงค์ เป็นสำคัญ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่าเป็นแนวคิดของคอมมิวนิสต์ และเรื่องนี้เป็นสาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้งที่สำคัญประการหนึ่งของเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ในช่วงระหว่างปี 2476 จนถึง 2477 โดยที่ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ของสถาบันกษัตริย์ได้ฝังรากลึกอยู่ในสังคมการเมืองไทยนับจากช่วงเวลานี้ ต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ความพลิกผันอีกประการหนึ่งของการเมืองการปกครองของไทยคือ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัชกาลที่ 7 กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้การขู่ว่าจะทรงสละราชย์เป็นเครื่องมือต่อรองที่มีประสิทธิภาพกับคณะราษฎรมาโดยตลอด จนในท้ายที่สุด เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชย์จริงๆ ปรากฏว่าพระราชหัตถเลขาสละราชย์ของรัชกาลที่ 7 ได้กลับพลิกผันและพลิกฟื้นขึ้นมามีความสำคัญในภายหลัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นข้อความสำคัญที่สุดที่ขบวนการ 14 ตุลาคม 2516 ได้ใช้รณรงค์ต่อต้านรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ในภาพลักษณ์ว่าเป็นทายาทของรัฐบาลคณะราษฎร

การศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายอธิบายการปฏิวัติสยาม 2475 ทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร หากจำกัดความสนใจอยู่ที่ผลกระทบและความเกี่ยวพันที่การปฏิวัติสยาม 2475 ส่งผลต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ในภายหลังว่าเป็นไปในลักษณะใด อย่างไรก็ตามในโครงเรื่องดังกล่าว เห็นได้ว่าพระมหากษัตริย์และผู้นำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ของไทยในความคิดและการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์ไทยในยุคปัจจุบันเสียยิ่งกว่าจะเน้นการศึกษาถึงปัจจัยและบุคคลที่ไม่มีความสำคัญคนอื่น ๆ

กล่าวได้ว่าในห้วงเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมานี้มีความก้าวหน้าในการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 ทั้งในเรื่องการเผยแพร่หลักฐานใหม่และใช้แนวคิดใหม่ในการอธิบายเรื่องการปฏิวัติ 2475 อยู่บ้าง แต่แนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์การปฏิวัติสยาม 2475 โดยรวมยังคงมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หากจะเปรียบเทียบกับการศึกษาเรื่องเดียวกันนี้ในช่วงทศวรรษที่ 2520 รวมกระทั่งในยุคสมัยก่อนหน้านั้น

ฉะนั้น การนำหนังสือ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475กลับมาพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้มีการอ่านกันอีกครั้งหนึ่งในกลางทศวรรษ 2540 เช่นนี้จึงยังมีความน่าสนใจอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจการศึกษาในแนวทางใหม่ๆ การตีความใหม่ๆ และการแสวงหาเรื่องใหม่ๆ ที่พ้นไปจากกรอบความคิดที่ว่าด้วยการเผชิญหน้ากันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะเจ้านายกับฝ่ายคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำของคณะราษฎรที่กล่าวกันว่า บางคนมีความใฝ่อยากได้อำนาจทางการเมืองมากกว่าคนอื่นๆ

ทั้งนี้เหตุผลคงจะเป็นเพราะบทความต่างๆ ของผู้เขียนในช่วงเวลานั้น ซึ่งรวบรวมมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้ตกอยู่ภายใต้กระแสความคิดที่ต้องการจะก้าวไปให้พ้นจากกรอบของการพิจารณาพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์และของผู้นำการเมืองบางคน ซึ่งเรื่องนี้ควรจะเป็นฐานคิดของสังคมไทยสมัยใหม่ที่สอดรับกับการเข้าใจสังคมไทยในปัจจุบัน และเข้าใจ“อดีต”อย่างมีความหมาย โดยเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบัน และเชื่อมปัจจุบันกับโลกในอนาคตได้มากกว่าการศึกษาที่เน้นผู้นำเป็นศูนย์กลางเพียงประการเดียว

เนื่องด้วยจุดเน้นของการศึกษาในที่นี้ไม่ได้อยู่ที่ผู้นำที่เชื่อว่ามีความสำคัญบางคน ฉะนั้น ชื่อของผู้นำ ตลอดจนบุคคลทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญจึงถูกกล่าวถึงมากเป็นพิเศษ เรื่องนี้แน่นอนว่าคงจะสร้างความกระอักกระอ่วนให้แก่ท่านผู้อ่านที่ผูกติดความเข้าใจของตนเองไว้กับคำอธิบายในแบบจารีตและคงจะทำให้เรื่องราวต่างๆ มีความซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจที่เป็นพื้นๆ ทั่วไปจะทำความเข้าใจได้โดยง่าย แต่นี่ก็เป็นเรื่องของความรู้ ความคิด และอำนาจการเมือง ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กันอย่างซับช้อนเป็นธรรมชาติของเรื่องราวในตัวเองแล้ว

ผู้เขียนยอมรับว่าเรื่องราวต่างๆ ที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ยังคงมีความบกพร่องอยู่ด้วย ซึ่งคงต้องการเวลาและคงต้องการแรงงานของผู้ศึกษาวิจัยใหม่ๆ ที่จะอุทิศตนและช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้เรื่องราวต่างๆ มีความสมบูรณ์มากขึ้น และมีความเที่ยงตรงมากขึ้นเท่าที่ข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ จะเอื้ออำนวยให้มีการศึกษาวิจัยได้ในทางปฏิบัติ

ในที่นี้ ผู้เขียนขอขอบคุณในความปรารถนาดีของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ช่วยเป็นธุระในการจัดพิมพ์หนังสือเล่มขึ้นนี้เป็นครั้งที่สอง และดำเนินการพิมพ์เป็นอย่างดี มีการทำดรรชนีค้นคำ รวมทั้งได้นำบทสัมภาษณ์ของผู้เขียนเองที่ได้เคยจัดพิมพ์ไว้ในนิตยสารสารคดี มารวมพิมพ์เพิ่มเติมด้วยอีกบทหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณคุณสุวัสดี โภชน์พันธุ์ที่ช่วยดูแลเตรียมต้นฉบับการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ใหม่ โดยทำอย่างเรียบร้อยและถูกต้องสมบูรณ์กว่าการจัดพิมพ์ครั้งแรกเป็นอันมาก

 

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

มิถุนายน 2546

อ่านต่อ >>