รัฐราชาชาติ

ลดราคา!

฿360.00฿450.00


รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

บทนำ สาแหรก (genealogy) ทางความคิดว่าด้วยรัฐราชาชาติของไทยในปัจจุบัน

ภาค1 รัฐ+สังคม

บทที่ 1 อนาคตการศึกษาเรื่องรัฐในสังคมไทย

บทที่ 2 อำนาจกับการขบถ

ภาค2 ราชา+รัฐ (+สังคม)

บทที่ 3 ลัทธิคลั่งไคล้เจ้าของประเทศไทย : ความสำเร็จในอดีต กับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกในปัจจุบัน

บทที่ 4 ประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมของไทย : ประวัติ กลไกการทำงาน และภาวะวิกฤต

ภาค3 นิติ+รัฐ+ราช

บทที่ 5 นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย

บทที่ 6 ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับกรณีของไทย

ภาค 4 ชาติ (ไม่นับประชา)

บทที่ 7 ชาติไทย เมืองไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์

บทที่ 8 อ่าน Imagined Communities ของ Benedict Anderson หรือ IC ของ “ครูเบ็น”

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ขณะที่หนังสือรวมบทความของธงชัย วินิจจะกูล ลำดับที่ 7 ซึ่งตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในชื่อ รัฐราชาชาติ : ว่าด้วยรัฐไทย เล่มนี้ ใกล้ออกสู่สายตาผู้อ่าน ตำรวจได้นำหมายค้นเข้ามาที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเพื่อยึดหนังสือสามเล่มที่ถูกระบุว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายผิดกฎหมาย หนึ่งในนั้นคือหนังสือ ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ของอาจารย์ธงชัยลำดับที่ 1 ซึ่งตีพิมพ์กับฟ้าเดียวกันครั้งแรกในปี 2556 โดยในคำร้องขอหมายค้นของตำรวจที่ได้รับการอนุมัติจากศาลจังหวัดนนทบุรี ระบุว่า

สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ดได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาเนื้อหาในหนังสือ พบว่ามีการยุยงปลุกปั่นให้ผู้อ่านหนังสือเล่มนี้เกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันกษัตริย์ เป็นการโจมตีสถาบันกษัตริย์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จและลดความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดิน และยังมีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ของไทย ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา [และ] …ประกอบกับมีการจัดชุมนุมขึ้นทั่วภายในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆ โดยมีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงเชื่อว่าหนังสือดังกล่าวนี้ผลิตออกมาเพื่อเจตนาให้เกิดความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐ

เหตุที่ทำให้หนังสือที่พิมพ์ออกมา 7 ปีแล้ว และตลอดมาเผยแพร่ได้ปกติ ถูกจับตา ถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายหมวดความมั่นคง และถูกยึด คือการที่ตำรวจเชื่อมโยงหนังสือดังกล่าวเข้ากับการลุกฮือของมวลชนคนหนุ่มสาวที่เริ่มต้นในสถานศึกษาหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และกลับมาอีกครั้งหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 เริ่มซาลงในเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา เมื่ออานนท์ นำภา เปิดฉากอภิปรายถึงสถาบันกษัตริย์ตรงๆ ในม็อบ “แฮร์รี่พอตเตอร์ เสกคาถาผู้พิทักษ์ ปกป้องประชาธิปไตย” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตามด้วยการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) โดยมีแกนนำคือ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประกาศ “ข้อเรียกร้อง 10 ข้อ” ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งสร้างความตะลึงพรึงเพริดไปทั่วทั้งสังคมไทย

สังคมไทยตกตะลึงเพราะนึกไม่ออกว่าประชาชนคนหนึ่งก็มีสิทธิ์เรียกร้องให้กษัตริย์ปรับปรุงตัว นึกไม่ออกเพราะไม่เคยรู้สึกว่ากษัตริย์กับประชาชนเสมอภาคกันภายใต้รัฐธรรมนูญ จากประสบการณ์ของคนไทยส่วนใหญ่ แค่คนรวยกับคนจนก็ไม่เคยเสมอภาคกันอยู่แล้วภายใต้นิติรัฐแบบไทยๆ อย่าว่าแต่กษัตริย์ที่พวกเขาคิดว่าเป็น “เทวดาที่มีชีวิต” หลังจากการชุมนุมเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของเยาวชนลุกลามไปทั่วประเทศ รัฐก็ปฏิบัติการคุกคามพวกเขาอย่างหนักหน่วงด้วยการใช้มาตรา 116 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” (sedition) ซึ่งอยู่ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร นำมาสู่ความฉงนปนคับข้องใจจนมีเยาวชนคนหนึ่งชูป้ายในม็อบว่า “การขอให้อยู่ใต้กฎหมาย ทำไมถึงผิดกฎหมาย”

รัฐแบบไหนกันที่เปราะบางถึงขนาดไล่จับเยาวชนที่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไล่ยึดหนังสือด้วยข้อหาด้านความมั่นคง มิพักต้องเอ่ยถึงประชาชนที่ถูกจำคุกด้วยมาตรา 112 จำนวนมากในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา และอีกหลายคนที่ถูกอุ้มหาย บางคนถูกสังหารโหดแล้วปล่อยศพที่ถูกกระทำอย่างวิปริตลอยมาตามแม่น้ำโขง ทั้งหมดนี้ไม่มีใครต้องรับผิดชอบสักคน

หนังสือ รัฐราชาชาติ : ว่าด้วยรัฐไทย ในมือผู้อ่านเล่มนี้จะช่วยไขให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ธงชัยชี้ให้เห็นว่า “รัฐ-ชาติ” (nation-state) ของไทยนั้น อ่านเต็มๆ ได้ว่า “รัฐ(ราชา)ชาติ” ไม่ใช่ “รัฐ(ประชา)ชาติ” เนื่องจากรัฐไทยสมัยใหม่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้เงื่อนไขกึ่งอาณานิคม และ “ชาติ” ถูกให้ความหมายใหม่ในช่วงสงครามเย็นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ ทำให้ชาติกับราชา (สถาบันกษัตริย์) เป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอย่างแยกไม่ออก ชุมชนจินตกรรม (imagined community) ที่คนไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมารับรู้ ไม่ใช่ชุมชนของประชาชาติที่เสมอภาคกันภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ผู้คนรับรู้ถึงความเป็นชาติผ่านพระราชา “รัฐ(ราชา)ชาติ” แบบนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยที่กษัตริย์มีอำนาจสูงสุดเหนือกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งบวกระบบราชการ แต่เป็นไปในรูปแบบไม่เป็นทางการ จึงไม่ต้องรับผิดใดๆ ทั้งสิ้น

สำหรับเยาวชนที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ การถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 อาจไม่ขมขื่นและเข้าใจยากเท่ากับการที่คนรุ่นพ่อแม่ชี้หน้าว่าพวกเขา “ชังชาติ” “ล้มสถาบัน” “เนรคุณแผ่นดิน” บางคนถึงกับถูกทำร้ายร่างกายเพียงเพราะไม่ยืนตรงเคารพธงชาติ และยังมีกรณีที่พ่อฟ้องลูกตัวเองว่ากระทำผิดกฎหมายมาตรา 112 บทความในหนังสือเล่มนี้อาจช่วยปลอบประโลมพวกเขาและทำให้เข้าใจคนรุ่นผู้ใหญ่เหล่านี้มากขึ้น โดยธงชัยคลี่ให้เห็นว่าประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมที่ต่อมาเข้มข้นล้นเกินจนกลายเป็นลัทธิคลั่งไคล้เจ้านั้น ถือกำเนิดขึ้นอย่างไร สืบทอดต่อมาอย่างไร เพื่ออะไร และกำลังประสบกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างไร ผู้ใหญ่เหล่านั้นถูกกล่อมเกลาฝังชิปในสมองมาอย่างไรเป็นเวลาหลายทศวรรษระหว่าง 2500 ถึง 2550 จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของประชาสังคมที่ผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาติศาสน์กษัตริย์ จับจ้องลงโทษผู้ที่ไม่เชื่อฟัง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่น้อยไปกว่ากลไกอย่างเป็นทางการของรัฐ

นอกจากนี้ กล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ออกมาในเวลาที่ประจวบเหมาะสำหรับขบวนการเยาวชนปลดแอกที่ประกาศชูธงว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” พร้อมกับติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ว่า “#ให้มันจบที่รุ่นเรา” เนื่องจากบทความในเล่มนี้จะอธิบายถึงกลไกการทำงานของระบอบประชาธิปไตยแบบกษัตริย์นิยมภายใต้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าวางรากฐานมาอย่างไรในประวัติศาสตร์ พร้อมยกตัวอย่างรูปธรรมว่าสถาบันกษัตริย์และเครือข่ายโหนเจ้าใช้กลไกอะไรบ้างในการแทรกแซง มีอิทธิพล บงการการบริหารงานของรัฐ ทั้งผ่านรัฐสภาภายใต้การชี้นำของกษัตริย์ การแต่งตั้งองคมนตรี ผบ.ทบ. ผู้พิพากษา ข้าราชการระดับสูง องค์กรอิสระ จนมีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและใช้ภาษีประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด พูดง่ายๆ ว่าธงชัยแจกแจงให้เห็นว่ามีอะไรบ้างที่ต้องสะสาง ขุดรากถอนโคน สุดท้ายแล้วภารกิจเหล่านั้นอาจจะกินเวลานานกว่าที่คาด ต้องอาศัยความมุ่งมั่นมากกว่าที่คิด และอาจไม่จบที่รุ่นเรา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะสาง “นิติรัฐอภิสิทธิ์ ราชนิติธรรม” ซึ่งเป็นมรดกจากความพยายามสถาปนากฎหมายสมัยใหม่ลงบนจารีตกฎหมายที่มีอยู่ก่อนในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ภาวะกึ่งอาณานิคมและไม่มีการปฏิวัติศาสนาไปสู่โลกวิสัยที่จะทำให้กฎหมายกับศีลธรรมเป็นคนละเรื่องกัน ส่งผลให้ “นิติศาสตร์แบบราชนิติธรรม” ให้อำนาจรัฐสูงมาก เน้นหน้าที่ไม่ใช่สิทธิ ชุมชนไม่ใช่ปัจเจก ทั้งยังให้ความสำคัญกับชั้นของบุคคลไม่ใช่ความเสมอภาค จนทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นเสาหลักของนิติรัฐไม่ใช่การปกครองของกฎหมาย (rule of law) จนกษัตริย์มีสถานะเหนือกฎหมาย เหนือรัฐธรรมนูญ รวมถึงได้รับอภิสิทธิ์ปลอดพ้นความผิด (impunity) ตั้งแต่เริ่มต้นรัชสมัยเลยด้วยซ้ำ

นับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 ที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และพยายามก่อรูปก่อร่างชุมชนจินตกรรมที่รัฐไทยสมัยใหม่เป็น “รัฐประชาชาติ” แต่ก็ต้องสะดุดหยุดชะงัก เป็นได้แต่เพียงโครงการค้างเติ่งเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจลงอย่างสิ้นเชิงหลังการรัฐประหาร 2500 จนต่อมาพลังของฝ่ายอนุรักษนิยมที่เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติได้ผลักดันชุมชนจินตกรรมให้หันเหไปเป็นแบบ “รัฐราชาชาติ” ได้สำเร็จ โดยสะกดคนไทยให้หลับใหลภายใต้มนตร์คาถาของลัทธิคลั่งไคล้พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ นานหลายทศวรรษ ทว่าในช่วงปลายรัชกาลที่ 9 ต่อต้นรัชกาลที่ 10 หรือประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา กลับเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันทั่วไปในสังคมไทยว่า “ตาสว่าง” หลายระลอก จนกระทั่งถึงปี 2563 นี่เองที่เราสังเกตเห็นความมุ่งมาดปรารถนาของประชาชนจำนวนมากซึ่งนำโดยเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จะสานต่อโครงการที่ยังค้างคาของคณะราษฎรอีกครั้ง แม้จะมีคนพูดเสมอว่าเวลาอยู่ข้างเรา คน “ตื่นแล้ว ตื่นเลย” ขณะที่คนหลับใหลลดน้อยถอยลงทุกวัน แต่หากประชาชนไม่ลงทุนลงแรงอย่างต่อเนื่องและสุดกำลัง ชุมชนจินตกรรมแบบ “รัฐประชาชาติ” ที่คณะราษฎร 2475 ใฝ่ฝันถึง และคณะราษฎร 2563 มาสานต่อ คงจะไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้

อ่านต่อ >>

รัฐราชาชาติ เล่มนี้รวมบทความเกี่ยวกับรัฐและชาติของไทยซึ่งตีพิมพ์ในเวลาต่างกัน บทความเก่าสุดตั้งแต่ต้นปี 2538 และสองบทล่าสุดเพิ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2562 และ 2563 นี่เอง ระยะเวลาระหว่างนั้นมีความผันแปรทางการเมืองมากมาย ชีวิตทางสังคมของคนไทยก็เปลี่ยนไปมาก รวมถึงย้อนกลับไปทางขวาอย่างสุดโต่งนับแต่การรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ช่วงเวลาดังกล่าวมีคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่พอรับรู้ความเป็นไปของสังคมหลายรุ่น แต่เป็นระยะเวลาที่เขาเหล่านั้นแทบทุกรุ่นเติบโตมาท่ามกลางวัฒนธรรมคลั่งไคล้เจ้า (Hyper-royalism) ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ทศวรรษ 2510 (ดังจะอธิบายในเล่มนี้) ส่วนใหญ่จึงเติบโตมากับความเชื่อฝังหัวว่าตนได้ประจักษ์ถึงกษัตริย์ผู้ทรงคุณวิเศษราวเทพซึ่งมีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีเพียงคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในช่วงไม่ถึง 10 ปีหลังมานี้เองเท่านั้นที่เห็นความขัดฝืนกันระหว่างการบูชาเจ้าผู้ทรงคุณวิเศษกับความเป็นจริงที่เขารับรู้ได้ทุกวี่วัน บวกกับคนที่ไม่หลงไปกับวัฒนธรรมคลั่งไคล้เจ้า (ซึ่งมีในทุกรุ่น แต่มากน้อยคงยากจะประเมิน) ที่พูดไม่ออกกับอาการ “ล้น” (เว่อร์) และหลอกตัวเองของสังคมไทย

รัฐราชาชาติ เล่มนี้ตีพิมพ์ท่ามกลางกระแสความตื่นตัวของเยาวชนนักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนหญิงชั้นมัธยม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ไทยมาก่อน พวกเขาประกาศว่า “จะไม่ทนอีกต่อไป” และขอประกาศความฝันของตนอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะทั่วประเทศไทย

ท่ามกลางภาวะเช่นนี้เอง พวกเขากลับถูกกล่าวหาโดยผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่จำนวนมากว่าเป็นพวกชังชาติ ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับที่คนรุ่นผู้เขียนถูกกล่าวหาว่าไม่รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ข้อกล่าวหาเช่นนี้เคยนำไปสู่ความบ้าคลั่งและฆาตกรรมที่โหดเหี้ยมมาแล้ว หลายสิบปีผ่านไป ความรักชาติพรรค์นี้ยังแสดงรังสีอำมหิตเหมือนเดิม ถ้า “ชาติ” ดำมืดปานนั้น ย่อมสมควรจะถูกชัง คนที่รักชาติประเภทนี้อย่างสุดใจเป็นคนไร้ศีลธรรมและน่ารังเกียจที่สุด ประเทศไทยต้องการพลังที่สว่าง มองเห็นความเป็นไปได้ของอนาคตที่สดใสกว่า เพื่อขจัดด้านมืดของ “ชาติ”

บทความในหนังสือเล่มนี้อธิบายคุณลักษณะของรัฐ ชาติ และชาตินิยมของไทยในปัจจุบัน (หมายถึงประมาณครึ่งศตวรรษก่อนหน้ามาจนถึงทุกวันนี้) ผู้เขียนเคยตีพิมพ์บทความหลายชิ้นเพื่ออธิบายในประเด็นเหล่านี้มาก่อน บทความในเล่มนี้ตอกย้ำและเพิ่มเติมประเด็นซึ่งไม่เคยกล่าวถึงมาก่อนในเล่มก่อนหน้า ได้แก่ รัฐและการใช้อำนาจรัฐในชีวิตประจำวัน ความเป็นมาและกระบวนการสร้างลัทธิคลั่งไคล้เจ้า ระบบการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นิติศาสตร์ของรัฐราชาชาติ และชาตินิยมที่ไม่มีประชาชนของไทย

ผู้เขียนเชื่อว่าบทความในเล่มนี้และที่ตีพิมพ์ก่อนหน้านี้จะช่วยทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงคุณสมบัติและปัญหาอันเกิดจากรัฐราชาชาติและระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองในแบบไทยๆ ที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้ว่าเป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างหนักอย่างไร

เยาวชนลุกขึ้นมาประกาศความฝันต่อผู้คนทั้งหลาย ก็เพราะพวกเขาเติบโตมาในระยะที่ประเทศไทยมืดมน หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อว่า “อดีตคืออนาคต” อนาคตจะต่างจากอดีตไม่ได้เพราะบรรพบุรุษของเราสร้างชาติไว้อย่างวิเศษและเป็นนิรันดร แต่อดีตที่สวยหรูนิรันดรนั้นเป็นแค่ฝันเพ้อเจ้อของอภิสิทธิ์ชนคนชั้นสูงและผู้มีอำนาจ ผู้คนมหาศาลที่ไร้อภิสิทธิ์และไร้อำนาจต้องการอนาคตอย่างใหม่ เยาวชนรุ่นนี้ขอสร้างอนาคตของเขาเอง

ด่านแรกคือต้องฝ่าฟันระบอบการเมืองที่ปิดกั้นทำลายอนาคตของเขาให้จงได้ แต่พวกเขามองเห็นมากกว่านั้น เขามองเห็นสถาบันที่ค้ำจุนรัฐราชาชาติในปัจจุบัน ซึ่งได้สร้างปัญหาแก่ระบอบประชาธิปไตยจนจมปลักกับวงจรของความล้มเหลวมากว่าหนึ่งศตวรรษ เขาจึงกล้าประกาศความฝันซึ่งคนรุ่นผู้ใหญ่ในประเทศนี้ไม่คาดว่าจะได้เห็น

อันที่จริงความฝันของเขามิใช่เรื่องประหลาดเพ้อเจ้อเลยเพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อน 2500 การพูดคุยในสังคมและในรัฐสภาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าควรมีบทบาทอำนาจแค่ไหน ควรมีสถานะทางสังคมอย่างไรจึงจะเหมาะสมเป็นที่เทิดทูนบูชา เหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องถูกกล่าวหาว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อชาติต่อกษัตริย์ แม้แต่ผู้มีความคิดอนุรักษนิยมและรักเจ้าก็อภิปรายปัญหานี้เป็นปกติอย่างมีเหตุมีผลและเคารพความคิดที่แตกต่างกันได้ วัฒนธรรมทางปัญญาเช่นนี้ถูกปิดทำลายลงพร้อมกับการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ที่มีราชสำนักหนุนหลังเมื่อ 2500

คนในประเทศไทยปัจจุบันแทบทุกชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคที่การแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องกษัตริย์อย่างมีวุฒิภาวะถูกปิดลง นับจากนั้นมาการพูดถึงปัญหาสถานะและอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องน่าสะพรึงกลัว เป็นอันตราย สังคมไทยปลายสมัยสมบูรณาญา­สิทธิราชย์ในช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7 ยังมีโอกาสพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ได้มากกว่าปัจจุบันนี้เสียอีก

เยาวชนรุ่นปัจจุบันจึงต้องการให้เปิดพื้นที่แก่การถกเถียงอย่างมีเหตุมีผลถึงอนาคตของชาติ วิถีทางและวิธีการเช่นนี้เท่านั้นสังคมไทยจึงจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ช้าบ้างเร็วบ้าง เดินหน้าบ้างถอยหลังบ้าง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงหรือการรัฐประหารเพื่อบงการให้ผู้คนคิดเหมือนกัน เชื่อเหมือนกัน รักและศรัทธาเหมือนกัน ไม่ต้องมีการลงโทษคนที่คิดแตกต่าง ไม่มีใครต้องถูกทำร้ายทำลายชีวิตหรืออุ้มหาย

นี่คือวิถีทางประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือวิถีทาง ฟ้าสีทองที่ประชาชนเป็นใหญ่คือวิถีทางของคนที่เท่ากัน ไม่มีอภิสิทธิ์ชน

ถ้าหากชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจจะทำตัวเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมสักหน่อย ก็จะเห็นได้ไม่ยากว่าสังคมไทยโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลังเพียงต้องการให้เปิดประตูพูดคุยกัน ถ้าหากความคิดของเขาเร็วเกินกาล เขาก็พร้อมจะอดทนอธิบายความคิดของเขาต่อไปเรื่อยๆ ถ้าหากความคิดของผู้หลักผู้ใหญ่สายไปแล้ว ไม่เหมาะแก่โลกที่เดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ก็น่าจะมีวุฒิภาวะพอที่จะอำนวยให้ความแตกต่างเหล่านั้นกลับกลายเป็นด้านดี คือเป็นทั้งพลังที่ฉุดมิให้เปลี่ยนเร็วเกินไป และเป็นพลังที่ผลักให้สังคมเดินหน้าอย่างมีพลวัตอยู่ตลอดเวลา

การกระทำใดเพื่อปิดกั้นความฝันของคนเรานั้น มีแต่จะสะสมความไม่พอใจ รังเกียจกัน อัดอั้นจนอาจเป็นระเบิดเวลาไม่ช้าก็เร็ว นับจากหลัง 2500 เป็นต้นมา เราได้เห็นการระเบิดเช่นนี้มาแล้วทุกๆ 12 ถึง 15 ปี ไม่มีใครรู้ว่าการระเบิดครั้งหน้าจะแรงขนาดไหน จะออกผลในทางการเมืองและสังคมเป็นอย่างไร ในขณะที่เรามีทางเลือกที่สันติและคาดผลได้มากกว่านั้น คือทำให้ความต่างและความขัดแย้งทางความคิดกลายเป็นการถกเถียงตามปกติในสังคม

บทความใน รัฐราชาชาติ เล่มนี้สะท้อนและอธิบายรัฐและชาติไทยในปัจจุบัน ซึ่งหมายถึงในช่วงชีวิตของคนรุ่นใกล้กับผู้เขียน ถ้าหากใน 20-30 ปีข้างหน้า บทความในเล่มนี้และคำนำชิ้นนี้ยังอ่านแล้วสอดคล้องกับยุคสมัยขณะนั้น ย่อมหมายความว่าสังคมไทยล้มเหลวในการปรับตัว ผู้เขียนจึงปรารถนาอย่างยิ่งว่า ในอีกไม่นานนัก คำนำนี้จะฟังดูล้าสมัยและบทความในเล่มนี้จะมีค่าเป็นบทความทางประวัติศาสตร์ที่อธิบายถึงอดีตซึ่งสังคมไทยผ่านพ้นไปแล้ว

ขอให้ความปรารถนาของเยาวชนรุ่นปัจจุบันที่ต้องการให้มันจบในรุ่นของเขา เป็นความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล
สิ้นเดือนสิงหาคม 2563

อ่านต่อ >>