ให้คนดีปกครองบ้านเมือง

ลดราคา!

฿225.00


Back Cover
รหัสสินค้า: 9786169399452 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำเสนอ เพราะคนดีได้ปกครองตลอดมา บ้านเมืองเราจะลงแดง

คำนำผู้เขียน

บทที่ 1 จาก 6 ตุลาฯ ถึงการ “ปฏิวัตินกหวีด” : ศีลธรรม ความรุนแรง และการเมืองของความไม่เสมอภาค

บทที่ 2 “รักประชาธิปไตย ต้องไม่ไปเลือกตั้ง” : การต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม การขัดขวางการเลือกตั้ง และการขับไล่รัฐบาล

บทที่ 3 สงครามของ “คนดี” : การลดทอนความเป็นมนุษย์ และความรุนแรงเชิงศีลธรรม

บทที่ 4 “การปฏิวัตินกหวีด” : อนารยะขัดขืนและการเมืองของความไม่เสมอภาค

บทที่ 5 มรดกของนกหวีด

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนี

ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้

พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี
11 ธันวาคม 2512 

กปปส. หรือองค์กรที่มีชื่อเต็มว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งนำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556 หลังจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งจนผ่านสภาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 

ภายในระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งเดือน การชุมนุมของคนจำนวนหลักร้อยกลายเป็นมวลชน กปปส. ถึงหลักแสนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด นี่มิใช่การระดมมวลชนของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว (เช่นเดียวกับที่เราไม่อาจประเมินการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นเพียงการระดมมวลชนของนักการเมืองอีกฝั่ง) แต่ต้องยอมรับว่า “ปรากฏการณ์ กปปส.” ได้ปลุกคนออกมาได้ไม่น้อย อีกทั้งหลายคนไม่ได้สนใจการเมืองมาก่อนแต่กลับแสดงออกอย่างแข็งขัน

หากเราอธิบายว่าปรากฏการณ์ กปปส. เป็นเพียงการเล่นละครหลอกคนดูที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามของแกนนำเช่นสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แปลงร่างจากนักการเมืองที่เต็มไปด้วยบาดแผลคอร์รัปชั่นอันเป็นที่รังเกียจของชนชั้นกลางในเมือง มาเป็น “ลุงกำนัน” ผู้มุ่งมั่นจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็คงไม่ต้องมาอธิบายอะไรกันต่อ แต่บรรดามวลชน กปปส. ที่อวดตัวว่ารู้เช่นเห็นชาตินักการเมืองนั้น “โง่” ขนาดถูกสุเทพหลอกจริงหรือ หรือว่าพวกเขาแค่ปิดหูปิดตาให้กับพฤติกรรมของนายสุเทพในฐานะนักการเมืองชั่วคราว แล้วเดินตามนายสุเทพในร่าง “ลุงกำนัน” อย่างเชื่องเชื่อเพราะแรงผลักดันอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น

สิ่งที่หลอมรวมคนเหล่านั้นให้ออกมาคืออะไร หากมองเฉพาะช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่นาน อาจตอบง่ายๆ ได้ว่า เกิดวาทกรรมที่ว่าประเทศไทยและสถาบันกษัตริย์กำลังถูกคุกคาม ครั้งน้ีมิใช่จากเจ้าอาณานิคมอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือจากคอมมิวนิสต์อย่างในช่วงสงครามเย็น แต่จาก “คนไม่ดี” ซึ่งในที่นี้หมายถึงนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็น “นอมินี” หรือสายธารของทักษิณ ชินวัตร นักการเมืองผู้ก่อให้เกิด “วิกฤตที่สุดในโลก” (ตามคำนิยามของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอง) และถูกล้มไปโดยรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นรัฐประหารที่ “เสียของ” ในสายตาของชนชั้นนำ ด้วยเหตุนี้มวลชนใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่น้อมรับ “โจทย์” ตั้งต้นมาก่อนหน้านั้นแล้วว่า ปัญหาครั้งนี้คือ “คนไม่ดี” ได้กลับมาปกครองบ้านเมืองอีกแล้วและกำลังคุกคามสถาบันกษัตริย์แถมยังผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับตนเอง จึงน่าแปลกใจน้อยลงที่มวลชน กปปส. จะยอมรับ “คำตอบ” อันหมายถึงทั้งแกนนำอย่างสุเทพรวมไปถึงทุกวิถีทางที่จะจัดการกับปัญหานี้ให้ได้ 

กระนั้นก็ตาม เรื่องมันไม่ง่ายที่ “คนดีๆ” อย่างพวกเขา จะใช้วิธีการอย่างที่ “พวกคนชั่ว” นิยมทำกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำหยาบคาย เหยียดเพศ เหยียดชนชั้น การใช้ความรุนแรงกับผู้เห็นต่าง การทำลายกระบวนการเลือกตั้งด้วยการไปปิดล้อมคูหา และท้ายที่สุดการยอมรับรัฐประหารว่าเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการกำจัดรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรื่องของเรื่องคือมันต้องมีการสร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมชั่วๆ ของคนดีๆ ให้ได้เสียก่อน

ผลงานของประจักษ์ ก้องกีรติ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง : การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย เล่มนี้พยายามตอบคำถามว่าพวกเขาเหล่านั้นใช้วิธีการอะไรในการสร้างความชอบธรรมอย่างว่า โดยใช้กรอบการเมืองวัฒนธรรมในการศึกษา (ก่อนหน้านี้ประจักษ์ได้ศึกษาขบวนการนักศึกษาก่อน 14 ตุลา 2516 ในหนังสือเล่มสำคัญคือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ ด้วยกรอบเดียวกันนี้)

หนังสือเล่มนี้มุ่งศึกษาปรากฏการณ์ กปปส. ระหว่างปี 2556-2557 และชี้ให้เห็นการต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรมเพื่อกำหนดหรือสร้างคำนิยามความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ตนเรียกร้อง ที่สำคัญประจักษ์ชำแหละอัตลักษณ์การเป็นคนดีและการเมืองแบบคุณธรรมที่ถูกสร้างขึ้นให้เป็นคู่ตรงข้ามกับฝั่งที่ กปปส. มองว่าเป็นศัตรู ซึ่งก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์และผู้สนับสนุนที่ถูกลดทอนความเป็นมนุษย์และไม่อยู่ในขอบเขตของพื้นที่รับผิดชอบทางศีลธรรมของผู้ชุมนุม กปปส. ในแง่หนึ่ง คำอธิบายและการวิเคราะห์ของประจักษ์ก็ช่วยไขข้อข้องใจให้เราได้ว่าทำไมมือปืนป๊อปคอร์นจึงกลายเป็น “ฮีโร่” ของเหล่าคนดีขึ้นมาได้ 

สำหรับผู้อ่านที่อยู่ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้น หนังสือเล่มนี้จะพาท่านหวนระลึกถึงรายละเอียดต่างๆ ทั้งผู้เล่นสำคัญและวาทกรรมที่ไหลเวียนในสังคมไทย ณ ขณะนั้น คล้ายการอ่าน “บันทึก (พฤติ) กรรม” ซึ่งหากมองจากมุมของศัตรูคู่ตรงข้ามก็อาจเรียกได้ว่าเป็น “บัญชีหนังหมา” แต่สำหรับ กปปส. กลับใจ หนังสือเล่มนี้ก็อาจเป็นเสมือนการส่องสะท้อนย้อนคิดถึงความไร้เดียงสาของตนในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หากจะอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้อรรถรสและเปิดสมองยิ่งขึ้น อีกวิธีหนึ่งคือการวางมันลงในประวัติศาสตร์ช่วงยาวของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยที่ไม่ได้ราบรื่นเป็นเส้นตรง ทว่าลดเลี้ยวเคี้ยวคด เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม การสะดุดหยุดชะงัก ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะของสองฟากอุดมการณ์ ซึ่งจะทำให้เราเห็นเชื้อมูลความคิดต่างๆ ที่เป็นมรดกตกทอดและมีส่วนก่อให้เกิดขบวนการ กปปส. อันใหญ่โตได้แม้ในชั่วระยะเวลาที่อาจเรียกได้ว่า “พริบตาเดียว” หากมองผ่านแว่นประวัติศาสตร์ช่วงยาว

เชื้อมูลดังกล่าวอาจยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่าประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งคือสิ่งแปลกปลอม เป็นของตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมไทยนั้น ถูกฝังรากมาตั้งแต่ขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ก่อตัวมาตั้งแต่หลังปฏิวัติสยาม 2475 ขณะที่วาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ก็ถือกำเนิดมาในช่วงรัฐบาลเผด็จการทหารของจอมพลถนอม กิตติขจร ในทศวรรษ 2510 ส่วนวาทกรรม “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ก็ย้อนไปถึงพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2512 เป็นอย่างน้อย 

นอกจากนี้ การผุดขึ้นอย่างรวดเร็วของมวลชน กปปส. ที่ไม่ได้เป็นการระดมผ่านพรรคการเมืองเท่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าจำนวนไม่น้อยเกิดจากเครือข่ายในหลวงที่ขยายตัวแทรกซอนและฝังรากอยู่ในระบบราชการตลอดจนสถาบันทางสังคมต่างๆ มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ อีกทั้งแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ลัทธิคลั่งไคล้เจ้า และการพุ่งสู่จุดสูงสุดของพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายใต้ระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

ในช่วงที่ปรากฏการณ์ กปปส. พุ่งสู่จุดสูงสุด คงไม่มี กปปส. คนใดคาดคิดว่าวันหนึ่งในอนาคตจะต้องออกมาขอโทษกับสิ่งที่ได้ทำลงไป หลายคนอาจถามตัวเองว่า “ผิดไหมที่ไม่รู้” “ผิดมากไหมที่เคยไร้เดียงสา” “ผิดมากหรือที่เคยเชื่ออย่างสุดจิตสุดใจ” ต่อเรื่องนี้ แต่ละคนย่อมมีคำตอบให้กับตัวเอง แต่หากอยากจะโทษใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยกล่าวไว้อย่างแหลมคมว่า “ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่มีข้อกังขา คุณตาบอดสองข้าง”

เพราะคนดีได้ปกครองตลอดมา บ้านเมืองเราจึงลงแดง

หนังสือเล่มนี้สนใจอธิบายปรากฏการณ์ ‘การปฏิวัตินกหวีด’ หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในแง่มุมที่สัมพันธ์กับการเมืองวัฒนธรรมและความรุนแรง เพื่อชี้ให้เห็นบริบททางประวัติศาสตร์ของการก่อตัวของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘การปฏิวัตินกหวีด’ วิเคราะห์และวิจารณ์แนวทางที่ใช้ในการต่อสู้เรียกร้อง เผยให้เห็นอุดมการณ์ชี้นำที่กำกับอยู่เบื้องหลัง รวมถึงอภิปรายผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทยและประชาธิปไตยไทย

บางส่วนจากบทที่ 1 ของ ให้คนดีปกครองบ้านเมือง 

งานศึกษาเกี่ยวกับขบวนการฝ่ายขวาในประเทศไทยในยุคเดือนตุลา ถ้าไม่ใช่งานที่ให้ข้อมูลพื้นฐานให้ผู้อ่านรู้จักกลุ่มต่างๆ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก็มักสนใจในแง่ชนชั้นหรือสถานะทางสังคมของชนชั้นกลางไทยในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปจนกลายเป็นผู้ต่อต้านประชาธิปไตย เพราะกลุ่มขบวนการฝ่ายขวาในยุคนั้นไม่ได้มีลักษณะเด่นที่งานโฆษณาความคิดหรือวาทกรรมที่มีอิทธิพลต่อสาธารณชน เพราะบทบาททางอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นภารกิจของรัฐ ทั้งหน่วยงานความมั่นคงและวัง (ซึ่งทำไมไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฝ่ายขวาก็ไม่ทราบ ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นส่วนหลักด้วยซ้ำไปทั้งด้านอุดมการณ์ งานโฆษณาชวนเชื่อ และการใช้ความรุนแรง)

ขบวนการฝ่ายขวาที่ต่อต้านประชาธิปไตยในช่วงวิกฤตทางการเมืองช่วงปลายรัชกาลที่ 9 หรือนับจากปี 2548 เป็นต้นมา (โดยประมาณ) ได้แก่ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีบทบาทเด่นตรงที่ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม หรือการเผยแพร่ความคิดและโฆษณามวลชนผ่านวาทกรรมสำคัญๆ จนกลายเป็นวาทกรรมที่ทรงอิทธิพลทางสังคมอย่างมาก (ในขณะที่หน่วยงานความมั่นคงและวังก็ยังมีบทบาทสำคัญอยู่เช่นเดิม แต่ทำไมไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการฝ่ายขวาก็ยังไม่ทราบเช่นเดิม)

หนังสือเล่มนี้ของประจักษ์ ก้องกีรติ มุ่งความสนใจลงไปที่การเมืองวัฒนธรรม (cultural politics) ของขบวนการฝ่ายขวาโดยเฉพาะ กปปส. 

ประเด็นใหญ่ที่หนังสือเล่มนี้เสนอคือวาทกรรมว่าด้วย “คนดี” ซึ่งนอกจากอวดอ้างความดีสารพัดของพวกตัวเองแล้ว ความดีตามที่พวกเขาอ้างยังถูกนิยามด้วยการเปรียบเทียบแบบป้ายสีว่าผู้ที่คิดต่างเห็นต่างจากพวกเขาไม่ดีหรือเลวอย่างไร สิ่งสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นกระจ่างคือวาทกรรมของเหล่า “คนดี” ที่เหยียดหยามกดลดทอนฝ่ายตรงข้ามจนราวกับไม่ใช่คน กลับตาลปัตรทำให้ทัศนะและเหตุผลอันน่าขยะแขยงหลายอย่างกลายเป็นเหตุผลที่ฟังดูดีมีน้ำหนัก ให้ความชอบธรรมแก่ปฏิบัติการอัปลักษณ์ทั้งหลาย รวมทั้งโวหารกักขฬะหยาบคายเหยียดผู้หญิง และถึงขนาดให้ความชอบธรรมแก่การใช้ความรุนแรงกับคู่ต่อสู้หรือคนที่มีความคิดทาง
การเมืองต่างจากตนอีกด้วย 

อานุภาพของวาทกรรม “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ช่วยกลับตาลปัตรให้ขบวนการที่ต่อต้านประชาธิปไตยด้วยวิธีการอนารยะอย่าง กปปส. กลายเป็นขบวนการที่คนกรุงเทพฯ ชื่นชมแห่แหนกันราวกับเทวดามาโปรด

อ่านหนังสือเล่มนี้ ณ เวลาที่ห่างจากขบวนการ กปปส. และปฏิบัติการอัปลักษณ์เหล่านั้นมาหลายปีแล้ว ช่วยให้เรามองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตาที่ยาวไกลกว่าแต่ก่อน น่าตกใจมากว่าการเมืองและอารยธรรมของไทยก้าวถอยหลังไปสุดโต่งเหลือเกินนับจากการรัฐประหาร 2549 และถอยกรูดอย่างหนักและเร็วเข้าไปอีกนับจากวันที่เกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อปี 2557 โดยมีขบวนการอนารยะอย่าง กปปส. ช่วยบุกเบิกทางให้ 

หากมองในมิติประวัติศาสตร์ที่ยาวไกลกว่านั้น ดูเหมือนว่านี่เป็นกระบวนการถดถอยของการเมืองและอารยธรรรมไทยครั้งสำคัญ เพราะเป็นการใช้ปืนยึดอำนาจรัฐในบริบทวัฒนธรรมคลั่งเจ้าจนขาดสติและเบิกทางด้วยขบวนการกักขฬะของ “คนดี” สร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้น

สังคมไทยถอยหลังสุดโต่งถึงขนาดที่คนตรงผู้ยึดหลักการทั้งหลายซึ่งไม่ยอมตกต่ำถอยไปตามกระแส กลับถูกให้ร้ายดูถูกดูหมิ่นว่าเป็นคนหัวรุนแรงก่อความวุ่นวาย ตัวอย่างเช่นคนที่แม่นหลักกฎหมายและยืนตรงเสมออย่างอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กลับถูกให้ร้ายว่าเป็นภัยต่อบ้านเมืองและถูกทำร้าย ทั้งๆ ที่วรเจตน์มิได้ผลักดันกฎหมายหรือการเมืองแบบราดิคัล (radical) แม้แต่น้อย มีผู้คนและการกระทำอีกมากมายซึ่งยึดหลักการตามอารยธรรมปกติทั่วไป กลับถูกหาว่าเป็นซ้าย ขบวนการของเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่าง “คณะราษฎร 2563” ก็เช่นกัน ข้อเรียกร้องของพวกเขา หากเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยอื่นจะถูกจัดว่าเป็นข้อเรียกร้องกลางๆ ตามหลักการปกติ ไม่ได้รุนแรงแต่อย่างใด แต่สังคมไทยกลับถือว่าพวกเขาก้าวร้าวหัวรุนแรง เพราะบริบทของไทยคือการเมืองและวัฒนธรรมที่ถอยหลังจน “ขวาสุดโต่ง”

การเมืองและอารยธรรมไทยถอยไปมากถึงขนาดที่อาจเรียกได้ว่าย้อนกลับไปเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในหลายแง่ด้วยซ้ำไป เช่น รัฐและกองทัพทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย นายพลเป็นศักดินาใหม่มีไพร่ทาสรับใช้ ระบบเส้นสายที่กลับมาเฟื่องฟูในทุกวงการทุกระดับ เครือข่ายอำนาจใต้อุปถัมภ์ของคนระดับสูงได้เป็นใหญ่แทบทุกวงการ เจ้าสัวต้องจิ้มก้องส่งส่วยบรรณาการเจ้านาย ผู้น้อยต้องหมอบกราบคลานเข่าเยี่ยงทาสกันอีกครั้งทั้งๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ประกาศให้เลิกไปนานแล้ว วัฒนธรรมแบบศักดินาแผ่ซ่านแม้แต่ในมหาวิทยาลัย สามัญชนต้องสงบเสงี่ยมเจียมกะลาหัวเพราะประเทศนี้กลับเป็นของเจ้าอีกครั้ง ไม่ใช่ของราษฎรอย่างที่เคยเชื่อกันมาผิดๆ นับจากหลัง 2475

อย่างไรก็ตาม อ่านหนังสือดีๆ ที่ชวนให้คิดอย่างเล่มนี้ น่าจะทำให้ผู้อ่านอย่างเราท่านสงสัย เกิดคำถามใหญ่ๆ ให้คิดต่อ ตัวอย่างเช่น

หนึ่ง ทำไมและอย่างไรสาธารณชนในกรุงเทพฯ (และอีกไม่น้อยในที่อื่นๆ) จึงต้อนรับชื่นชมกับวาทกรรมทำลายความเป็นคนและโวหารกักขฬะอัปลักษณ์เหล่านั้นได้ (ในขณะที่สาธารณชนกลุ่มเดียวกันต่อต้านรังเกียจเยาวชนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยเสียเหลือเกินว่าก้าวร้าวหยาบคาย ทำไมผู้ใหญ่ที่กักขฬะจึงน่าสนับสนุนสุดลิ่มทิ่มประตู แต่เด็กที่ปากกล้าจึงน่ารังเกียจ) ทำไมจึงยอมรับการอวดอ้างความดีทั้งที่ประวัติของผู้นำ กปปส. แปดเปื้อนดำเขรอะกว่านักการเมืองที่พวกเขาต่อต้าน 

สอง โวหารกักขฬะน่ารังเกียจเช่นนั้น ตามปทัสถานปกติ (norm) ของทุกสังคมอารยะ ย่อมถือว่าอยู่นอกเหนือหรือพ้นไปจากสถานที่สาธารณะ เพราะถือกันว่าไม่เคารพผู้อื่น ผิดไปจากบรรทัดฐาน กล่าวอีกอย่างก็คือพวกสุดโต่ง วาทกรรมสุดโต่ง โวหารน่ารังเกียจ มักอยู่นอกที่สาธารณะ มักแอบแฝงตัวอยู่ตามชายขอบของสังคม บรรทัดฐานตามปกติของสังคมไทยก็ไม่ต่างกัน ทว่าสำหรับมวลชน พธม. และ กปปส. วาทกรรมสุดโต่ง โวหารกักขฬะน่ารังเกียจกลับกลายเป็นสิ่งปกติธรรมดาที่ยอมรับกันได้ เงื่อนไขอะไรหรือภาวะอย่างไรเล่าจึงทำให้วาทกรรมทำนองนั้นกลายเป็นสิ่งปกติ แถมมีประสิทธิภาพสัมฤทธิ์ผลอีกด้วย

คำตอบคงไม่ใช่เรื่องของสถานการณ์ในการเมืองชั่วขณะนั้นเพียงอย่างเดียว 

หากตอบตามสามัญสำนึกคงจะมุ่งอธิบายไปที่พฤติกรรมและจิตวิทยาของบุคคล เช่น คนเหล่านั้นโง่กว่าคนปกติ ทำนองเดียวกับที่เขามักกล่าวหาผู้อื่น แต่คำตอบเช่นนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้เพราะมวลชนของ พธม. และ กปปส. เต็มไปด้วยผู้มีการศึกษาดีหรือสูงมาก ยิ่งมีปริญญามากใบหรือมีสถานะทางสังคมสูงอย่างแพทย์หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยก็กลับยิ่งเถื่อนยิ่งต่ำ หรือว่าการศึกษายิ่งสูงยิ่งทำให้เขาหน้ามืดตามัวเพราะความอวดดีว่าตนสูงส่งกว่าคนอื่นทำให้ขาดวิจารณญาณ (critical mind) ครั้นตกหลุมอวิชชาจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังจมดิ่งไปกับอคติจนหน้ามืดตามัว ถ้าอธิบายเช่นนั้น ก็ต้องถามต่อไปว่าทำไมผู้มีการศึกษาดีผ่านการคิดการใช้เหตุผลในวิชาชีพกันมาอย่างช่ำชองจึงขาดสามัญสำนึกได้ถึงปานนั้น กลายเป็นคนสมองตื้นไร้รสนิยมไร้วิจารณญาณได้ถึงขนาดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวาทกรรมน่าขยะแขยงที่ดูถูกเหยียดเพศแม่ของตนเอง และกับการลดทอนความเป็นมนุษย์ถึงขนาดทำให้พวกเขาพอใจสะใจกับการใช้ความรุนแรงกับคู่ต่อสู้ 

หากตอบในเชิงศาสนาอย่างที่ครั้งหนึ่ง พระไพศาล วิสาโล เคยเสนอ ท่านอธิบายว่าด้านมืดของมนุษย์หรือ “ความอำมหิต” (The Evil) ผุดขึ้นเข้าครอบงำจิตใจของคนเหล่านั้น ใช่ ! เราท่านทั้งหลายสามารถกลายเป็นอนารยชนคนโหดร้ายได้ทั้งนั้น ทว่าอย่ามัวแต่โทษ “ความอำมหิต” ที่เป็นนามธรรมเลย เราทั้งหลายต้องรับผิดชอบการกระทำของเราเองเป็นปฐม 

แต่คำตอบนี้ต้องหาทางอธิบายให้ได้ว่าด้านมืดในจิตใจของปัจเจกบุคคลผุดขึ้นมากับคนจำนวนมากหรือรวมหมู่พร้อมๆ กันได้อย่างไร ทำไมมันถึงเข้าครอบงำพวกเขาได้ง่ายปานนั้น ? หรือน่าจะมีคำอธิบายที่ดีกว่าจิตวิทยาบุคคลหรือพุทธศาสนา ? เช่น เป็นไปได้ไหมว่าด้านมืดหรือความอำมหิตได้ซ่อนตัวอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมไทยอยู่แล้วเสมอมาเป็นปกติ รอเพียงเงื่อนไขที่จะเผยตัวออกมาในความคิดจิตใจของคนจำนวนมากหรือรวมหมู่ที่อยู่ในภาวะหรือเงื่อนไขที่เหมาะสมคล้ายๆ กัน

อะไรเล่าคือเงื่อนไขที่ซ่อนตัวอยู่ในวัฒนธรรมของสังคมไทยมาตลอด ? หรือว่าความอำมหิตเป็นมรดกของวัฒนธรรมศักดินาในหมู่ผู้อยู่ในสถานะสูงและมี “อำนาจเชิงวัฒนธรรม” ในสังคมไทย ยิ่งสถานะสูงก็มีอำนาจและยิ่งเชื่อว่าตนถูก แถมยิ่งไม่กลัวความผิดเพราะรู้ว่าตนมีอภิสิทธิ์ที่จะหยาบคายเหนือผู้ที่ต่ำกว่า ? 

คำตอบเหล่านี้ทั้งหมดอาจทำให้เราต้องรู้สึกเย็นยะเยือก เพราะนอกจากเราท่านสามารถกลายเป็นอนารยชนคนโหดร้ายได้ทั้งนั้นแล้ว เชื้อมูลของความรุนแรงและการ
กระทำอันโหดร้ายยังดำรงอยู่ตลอดเวลาในสังคมไทย มันโผล่ตัวเป็นความอำมหิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในการสังหารโหดคนเสื้อแดงราวกับเป็นเชื้อโรคร้าย (ดังนั้นหลังจากฆ่าให้ตายแล้ว จึงต้องออกมาช่วยกันทำความสะอาด) และโผล่อีกทีในขบวนการ กปปส. 

แถมทางออกก็อาจจะน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าตัวปัญหา กล่าวคือ ในขณะที่พระไพศาลเตือนย้ำให้เราระแวดระวัง อย่าให้ “ความอำมหิต” มันโผล่หัวออกมาอีก แต่ถ้าวัฒนธรรมของสังคมไทยเป็นที่ซ่อนตัวของมัน เงื่อนไขที่ให้ความชั่วช้ายังดำรงอยู่ในความเป็นไทย จะให้เราทำอย่างไรเล่า ? เราต้องจัดการกับเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นแหล่งแฝงตัวของมันและเป็นเชื้อเพาะเลี้ยงให้มันใช่หรือไม่ ? ทำอย่างไรเล่า ? ยิ่งไปกว่านั้น วาทกรรมที่โทษความอำมหิตอันเป็นนามธรรมนั้น ในตัวมันเองเป็นวาทกรรมเชิงศีลธรรมที่เปิดโอกาสให้บางคนใช้อวดอ้างทำร้ายคนอื่นในนามของการกำจัดความอำมหิตได้เช่นกันและน่ากลัวไม่น้อยกว่ากันเลย

คำถามที่สาม แม้ว่าความอำมหิตจะแฝงฝังในวัฒนธรรมของสังคมไทยตามปกติ แต่มันไม่ได้โผล่ตัวออกมากลืนกินมนุษยธรรมของผู้คนในทุกเวลาหรือในยามปกติ ถ้าเช่นนั้น สถานการณ์เฉพาะอย่างไรจึงเป็นเงื่อนไข อะไรเล่าที่เปิดโอกาสให้มันออกมาอาละวาด ? คำตอบแบบหนึ่ง (ซึ่งมิได้หมายความว่าเป็นคำตอบเดียว) ก็คือ มันรอเงื่อนไขเหมาะๆ อย่างในต้นเดือนตุลา 2519 หรือในช่วงวิกฤตการเมืองสิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงโผล่ออกมาทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้คน อะไรคือเงื่อนไขดังกล่าวที่เปิดโอกาสให้ไอ้ตัวชั่วมันผุดขึ้นมาในจิตใจและในวาทกรรมของคนคิดว่าตนเองดีประเสริฐกว่าคนอื่น ถึงขนาดทำลายความเป็นคนของคนอื่นภายใต้คำขวัญ “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ?

คำตอบแบบไม่ต้องใช้สมองมากนัก ก็น่าจะเป็นเพราะคนชั่วกำลังปกครองใช้อำนาจอย่างเหิมเกริม แต่คำตอบนี้อาจจะไม่ใช่ เพราะคนที่กำลังปลุกระดมจนความอำมหิตโผล่ตัวขึ้นในจิตใจและวาทกรรมของเขา ล้วนเป็นคนที่เชื่อว่าตนเองเป็น “คนดี” ที่ต้องทำการปลุกระดมเร่งเร้าให้ระวังอย่าให้คนชั่วขึ้นมามีอำนาจ 

คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ เพราะอำนาจของ “คนดี” กำลังรู้สึกถูกคุกคามจนน่าวิตก กล่าวอีกอย่างก็คือ “คนดี” อยู่ในสถานะทรงอำนาจนำ แต่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงในแบบที่พวกเขาวิตกกังวลว่าอาจจะสูญเสียอำนาจ ในภาวะเช่นนั้น สังคมการเมืองจึงเหวี่ยงถอยหลังไปสุดๆ ความอำมหิตปรากฏตัวขึ้นมาท่ามกลาง “คนดี” ที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่าน อาการหวาดวิตกพรั่นพรึงกลัวการเปลี่ยนแปลงดูจะเป็นจุดร่วมของ 6 ตุลา 2519 และวิกฤตการเมืองปลายรัชกาลที่ 9 นับจากปี 2549 เป็นต้นมา 

เงื่อนไขของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 นั้น มีผู้เปรียบไว้ว่าเสมือนบ้านเมืองกำลังลงแดง หมายถึงการที่สังคมเสพติดกับปัจจัยบางอย่างที่ทำให้พึงพอใจมีความสุข (เช่น ความเจริญทางเศรษฐกิจด้วยการค้ำจุนจากสหรัฐอเมริกาตลอดช่วงสงครามเย็น) แล้วต่อมาปัจจัยดังกล่าวไม่มีให้เสพอีกต่อไป ย่อมก่อให้เกิดอาการทุรนทุราย หวาดวิตก พรั่นพรึงกลัวการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จนความอำมหิตโผล่ตัวในขบวนการฝ่ายขวาจัด 

ถ้าเช่นนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า ณ ปลายรัชกาลที่ 9 อันเป็นระยะที่ พธม. และ กปปส. ออกมาทำลายความเป็นมนุษย์ของคู่ต่อสู้ขนานใหญ่นั้น บ้านเมืองก็อยู่ในสภาวะลงแดงเช่นกัน นั่นคือ สังคมไทยไม่มีปัญหาว่าขาด “คนดี” ปกครองบ้านเมืองเลย แต่สังคมไทยมีปัญหาเพราะอยู่ภายใต้อำนาจของ “คนดี” มาตลอดต่างหาก เสพติดคลั่งไคล้จนคิดว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไปและคงจะขาดใจหากไม่ได้ “คนดี” มาปกครอง ครั้นสิ่งที่สังคมไทยเสพติดมาหลายทศวรรษหลายชั่วอายุคนกำลังจะหมดไปจริงๆ สังคมการเมืองไทยจึงหวาดวิตกกลัวการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น บ้านเมืองจึงเกิดอาการลงแดงทุรนทุรายกันอีกครั้ง ความอำมหิตจึงปรากฏตัว

การรัฐประหาร 2549 พธม. และ กปปส. รัฐประหาร 2557 ล้วนเป็นอาการลงแดงทุรนทุรายพยายามรักษาการปกครองของ “คนดี” ไว้ ยิ่งไปกว่านั้น การลงแดงรอบหลังนี้โหดร้ายไม่แพ้ 6 ตุลาเพราะทำลายชีวิตไปถึง 99 รายภายหลังจากทำให้เขาเป็นเสมือนเชื้อโรคร้าย ซึ่งหลังจากกำจัดให้ตายแล้วจึงต้องทำความสะอาดบ้านเมืองกันขนานใหญ่

วาทกรรมที่อวดอ้างถึงความดีของตัวเองในขณะที่ทำร้ายและทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วยโวหารน่ารังเกียจดังที่ “คนดี” อย่าง กปปส. และคณะรัฐประหารมักอวดอ้างเพื่อทำร้ายผู้อื่นนั้น ล้วนเป็นอาการอย่างหนึ่งของภาวะลงแดง เป็นวาทกรรมและโวหารอันเกิดจาก The Evil โผล่ขึ้นในใจของพวกเขา

“ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” เป็นวาทกรรมที่อาจเปิดโอกาสให้แก่ “ความอำมหิต” ออกมาทำร้ายผู้คน !

เราจะเลือกเสพติดกับการปกครองของ “คนดี” กลัวการเปลี่ยนแปลงจนบ้านเมืองซูบผอมอ่อนแรงลงทุกวัน หรือเราจะเลือกอดทนผ่านการลงแดงไปให้พ้น จะได้หายจากการเสพติด “คนดี” เสียที

ธงชัย วินิจจะกูล

อ่านต่อ >>

หนังสือเล่มนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากความตั้งใจของผู้เขียนที่ต้องการรื้อถอนมายาคติ “การเมืองของคนดี” และแนวคิดที่ว่าด้วย “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาอย่างยาวนาน  แนวความคิดนี้มิได้เพิ่งก่อตัวในยุควิกฤตการเมืองปัจจุบัน แต่มีรากฐานย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคเผด็จการทหารในสมัยทศวรรษ 2500-2510 ที่ชนชั้นนำจารีตและกองทัพประดิษฐ์สร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ขึ้นมาเป็นอุดมการณ์หลักในการกล่อมเกลาประชาชนให้สยบยอมต่ออำนาจ รวมทั้งให้ความชอบธรรมกับระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นระบอบอำนาจนิยมที่ฉ้อฉล รุนแรง และขาดความชอบธรรม  

แนวคิดเรื่องการเมืองคนดีเป็นแนวคิดที่น่ากลัว เพราะมันถูกทำให้เป็นแนวคิดที่ดูไม่มีพิษภัย เป็นแนวคิดที่ถูกต้องโดยมิต้องตั้งคำถาม ราวกับเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกสังคมควรถูกปกครองด้วยคนดีจำนวนน้อยที่มีคุณธรรมและศีลธรรมสูงส่งเพื่อกำราบและกำจัดคนเลวซึ่งชั่วร้ายและโง่เขลาซึ่งมีอยู่จำนวนมากในสังคม งานชิ้นนี้ชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับวาทกรรมและปฏิบัติการทางการเมืองที่เชิดชูเรื่องการเมืองของคนดีผ่านการศึกษาวิกฤตการเมืองร่วมสมัย

ในบรรดาขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทย อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำโดย “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อย่อ “กปปส.” เป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ความเป็น “คนดี” ให้กับตนเองขึ้นมาอย่างเป็นระบบในลักษณะที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเมื่อเทียบกับขบวนการทางการเมืองอื่นๆ ของไทย อัตลักษณ์คนดีนี้ถูกสร้างขึ้นมาผ่านกระบวนการสร้างขั้วตรงข้าม “คนดีกับคนเลว” และ “ธรรมกับอธรรม” เพื่อหลอมรวมผู้ชุมนุมจากหลากหลายอาชีพ การสร้างขั้วตรงข้ามแบบขาวดำเช่นนี้มีส่วนสำคัญที่นำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่มีความคิดและความเชื่อทางการเมืองตรงกันข้าม และถูกนำไปให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงของฝ่าย กปปส. เพราะขบวนการ กปปส. เชื่อว่าตนกำลังต่อสู้ในภารกิจที่สูงส่งในการปกป้องชาติ-ศาสน์-กษัตริย์ และกำจัดคนเลว การใช้มาตรการทุกวิถีทางรวมทั้งความรุนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและผู้สนับสนุนรัฐบาลที่เป็นคนไร้ศีลธรรมและมีสถานะต่ำกว่าจึงถูกอธิบายว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรื้อฟื้นระเบียบทางสังคมและการเมืองที่ตั้งอยู่บนฐานศีลธรรมอันดีงามและการเมืองที่กำกับควบคุมโดยคนดี 

หนังสือเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านระแวดระวังกับการเมืองของคนดีและตั้งคำถามกับการเมืองเชิงศีลธรรม เพราะจากประสบการณ์ของการเมืองไทย การเมืองเชิงศีลธรรมมิได้อยู่ตรงข้ามกับความรุนแรง ตรงกันข้าม ขบวนการทางการเมืองที่เชิดชูศีลธรรมกลับสนับสนุนความรุนแรงอย่างเปิดเผย ทั้งในส่วนความรุนแรงที่ตนเองเป็นผู้กระทำ รวมถึงความรุนแรงโดยรัฐ (ผ่านกลไกตำรวจและทหาร) เพื่อปราบปรามคนที่เห็นต่างจากตนเอง ยิ่งเชื่อว่าฝ่ายตนกำลังต่อสู้ในนามของความดีและฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย ยิ่งทำให้การกระทำของฝ่ายตนเอง (ไม่ว่าจะร้ายแรงเช่นใด) ไม่ถูกตั้งคำถาม ในประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา เราเห็นการปรากฏตัวของการเมืองเชิงศีลธรรมเช่นนี้หลายครั้ง ที่ชัดเจนที่สุดคือในโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ชนชั้นนำฝ่ายรอยัลลิสต์และขบวนการฝ่ายขวาใช้ความรุนแรงอย่างโหดร้ายโดยอ้างว่าทำไปเพื่อกำจัดนักศึกษาที่เป็นพวก “หนักแผ่นดิน” 

ศีลธรรมที่รองรับความรุนแรงคือศีลธรรมที่น่ากลัว เราจึงต้องตระหนักถึงการเมืองของการอ้างศีลธรรมเพื่อพิทักษ์สิ่งดีงาม เชื้อมูลที่น่ากลัวในสังคมไทย แนวคิดแบบอำนาจนิยมที่หลอมรวมกับแนวคิดอนุรักษนิยมที่ยอมรับความรุนแรงและการกระทำที่อัปลักษณ์ต่างๆ โดยอ้างความดีและศีลธรรม โดยเชื้อมูลเช่นนี้มักจะปรากฏให้เห็นในช่วงที่อำนาจทางการเมืองของฝ่ายชนชั้นนำจารีตถูกสั่นคลอน  

นอกจากการเมืองที่เชิดชูคนดีและหาทางให้คนดีได้ปกครองบ้านเมืองจะมีส่วนสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงเพื่อกำจัดคนที่เห็นต่างแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการเมืองคนดีในสังคมไทยยังเป็นการเมืองที่ต่อต้านประชาธิปไตยและความเสมอภาค เพราะแนวคิดเรื่องการเมืองคนดีเชื่อว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสูงส่งกว่าคนอื่น ทั้งโดยชาติวุฒิ วัยวุฒิ คุณวุฒิ และบุญบารมี คนเหล่านี้มีความเหมาะสมที่สุดที่จะปกครองบ้านเมือง ดังนั้นความไม่เสมอภาคจึงเป็นเรื่องปรกติ คนเราไม่เท่าเทียมกันตั้งแต่ชาติกำเนิด ด้วยเหตุนี้ขบวนการทางการเมืองที่ชูเรื่องการเมืองคนดีจึงมีลักษณะต่อต้านประชาธิปไตย เพราะมองว่าประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่ขัดกับวัฒนธรรมแบบไทยที่เน้นความเหลื่อมล้ำต่ำสูง รูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดคือ การประกาศ
ชัตดาวน์การเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. และขัดขวางไม่ให้คนไปใช้สิทธิเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2557

เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดผู้ที่สนับสนุนแนวคิดการเมืองคนดีจึงยอมรับและสนับสนุนการรัฐประหารของ คสช. ในปี 2557 และระบอบรัฐประหารที่ก่อตัวหลังจากนั้น เพราะเป้าหมายที่ให้คนดีได้มีอำนาจย่อมสำคัญกว่าวิธีการหรือหลักการใดๆ การทำลายรัฐธรรมนูญหรือกระบวนการประชาธิปไตยย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ผิด หากมันทำให้ “คนดีได้ปกครองบ้านเมือง” 

เมื่อมองย้อนกลับไปในอดีตช่วงก่อนการรัฐประหาร 2557 เปรียบเทียบมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าแม้ว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการ กปปส. หรือ “ขบวนการนกหวีด” จะจบไปแล้ว แต่ “จิตสำนึกทางการเมืองแบบนกหวีด” ยังคงดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเมืองมวลชนแบบอนุรักษนิยมหลากหลายกลุ่มที่สนับสนุนอำนาจแบบเผด็จการ ทัศนะที่ต่อต้านประชาธิปไตยและความเสมอภาคทางการเมืองทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ การแสดงความสะใจเมื่อเห็นรัฐใช้กำลังปราบปรามขบวนการเยาวชน การใช้กฎหมายเพื่อทำร้ายและทำลายคนที่ตั้งคำถามกับอุดมการณ์หลักของรัฐ ฯลฯ 

หนังสือเล่มนี้จึงมิใช่หนังสือที่ว่าด้วยอดีต แต่คือหนังสือที่ว่าด้วยการเมืองวัฒนธรรมไทยร่วมสมัย ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านของอำนาจนำที่ชนชั้นนำจารีตหวาดวิตกต่อกระแสความเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนการ กปปส. ที่บันทึกไว้ในหนังสือเล่มนี้คือ อาการป่วยไข้ที่สะท้อนวิกฤตของสังคมการเมืองไทย และอาการเช่นนี้อาจจะปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อใดก็ได้เมื่อระเบียบอำนาจของคนดีสั่นคลอน

หนังสือเล่มนี้สำเร็จลงได้ด้วยความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากบุคคลจำนวนมาก ผู้เขียนขอถือโอกาสนี้ขอบคุณผู้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้ ขอบคุณ รศ.ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย และ รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ที่ชักชวนให้ผู้เขียนเข้าร่วมโครงการวิจัย “‘การเมืองคนดี’: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมืองของผู้สนับสนุน ‘ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย’” (สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย—สกว.) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้เขียนได้มีโอกาสขบคิดและลงมือค้นคว้าในประเด็นวาทกรรมการเมืองเรื่องคนดี ขอบคุณ รศ.ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล และ ศ.ดร. อิศรา ศานติศาสน์ ที่สนับสนุนโครงการวิจัยนี้ ขอบคุณบทสนทนาและความช่วยเหลือจากนักวิจัยร่วมโครงการท่านอื่นๆ ได้แก่ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชลิตา บัณฑุวงศ์ ธร ปีติดล ชานนทร์ เตชะสุนทรวัฒน์ วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล อาจินต์ ทองอยู่คง และอุเชนทร์ เชียงเสน

ผู้เขียนมีโอกาสได้นำเสนอบางส่วนของงานชิ้นนี้ในหลายวาระ และได้รับ
คำวิจารณ์พร้อมกับคำแนะนำอันมีคุณค่าในการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาและข้อถกเถียงของงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น หากปราศจากการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและคำชี้แนะดังกล่าว งานชิ้นนี้คงมิอาจสำเร็จลุล่วงได้ ขอขอบคุณครูและเพื่อนนักวิชาการจำนวนมากดังต่อไปนี้ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ศ.ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศ.ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์ Prof. Dr. Kevin Hewison Prof. Dr. Michael Connors Prof. Khoo Boo Teik Prof. Dr. Duncan McCargo Prof. Dr. Michael Montesano Prof. Dr. Terence Chong ศ.ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศ.ดร. สายชล สัตยานุรักษ์ รศ.ดร. ไชยันต์ รัชชกูล รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ รศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร ศ.ดร. นิติ ภวัครพันธุ์ รศ. เวียงรัฐ เนติโพธิ์ รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผศ.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ Associate Prof. Dr. Tyrell Haberkorn ผศ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ อ. วิริยะ สว่างโชติ รศ.ดร. วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ดร. เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อ. พรรณราย โอสถาภิรัตน์ 

ผู้เขียนขอขอบคุณชัชฎา กำลังแพทย์ และอิทธิพล โคตะมี ที่ช่วยรวบรวมข้อมูลและช่วยเหลือในด้านต่างๆ อย่างเต็มกำลัง ขอบคุณเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยดิเรกชัยนามทุกท่าน โดยเฉพาะจิราวรรณ สวยเกษร จุฑาภรณ์ ราไม้ และนูรียะ ยูโซะ ที่ช่วยเหลือสนับสนุนในหลายประการ ขอบคุณผู้อำนวยการ นักวิจัยและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัย ISEAS-Yusof Ishak Institute สิงคโปร์ที่สนับสนุนและช่วยเหลือผู้เขียนเป็นอย่างดีระหว่างที่ผู้เขียนเป็นนักวิจัยรับเชิญที่นั่น ซึ่งทำให้ผู้เขียนมีโอกาสใช้ห้องสมุดและนั่งเขียนส่วนใหญ่ของต้นฉบับงานชิ้นนี้

ขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยเฉพาะคุณธนาพล อิ๋วสกุล ที่สนใจจัดพิมพ์งานวิชาการเล่มนี้ พร้อมให้คำชี้แนะในการปรับปรุงเนื้อหาต้นฉบับให้รัดกุมและหนักแน่นยิ่งขึ้น รวมถึงมิตรภาพที่มีต่อกันเสมอมา และทีมงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ทุกคนที่จัดทำต้นฉบับออกมาอย่างประณีตงดงาม ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล เป็นการพิเศษสำหรับคำนำอันทรงคุณค่าที่มาพร้อมกับคำถามที่แหลมคมหลายประการ ชวนให้ผู้เขียนขบคิดต่อ และทำให้ผู้เขียนมองเห็นลู่ทางในการขยายประเด็นการศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งและกว้างขวางออกไปในมิติเปรียบเทียบทางประวัติศาสตร์

สุดท้าย หวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ผู้อ่านทุกท่านได้มองเห็นวิกฤตการเมืองไทยร่วมสมัยในมุมมองใหม่ ได้ตระหนักถึงพลังและพิษภัยของการเมืองที่มุ่งเชิดชู “คนดี” ให้อยู่เหนือคนอื่น และการทำทุกวิถีทางเพื่อ “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง” ซึ่งฉุดรั้งประเทศไทยให้ถอยหลังมาจนถึงปัจจุบัน

ประจักษ์ ก้องกีรติ
กันยายน 2565
ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

อ่านต่อ >>