สารบัญ
บทบรรณาธิการ
หาเรื่องมาเล่า
ถอดรหัสความเงียบแห่งประวัติศาสตร์บาดแผล
คำขบวน
Culture Jamming การป่วนทางวัฒนธรรม
ภัควดี วีระภาสพงษ์
ปีกซ้ายไร้ปีก
ขวาไทย
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
เงินเดินดิน
Moral Hazard, Adverse Selection และความเป็นธรรมของเจ้าหนี้
สฤณี อาชวานันทกุล
ในกระแส
นิเวศสังคมนิยม
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
มนุษยภาพ
พรรคการเมือง ระบบอุปถัมภ์ และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม : บทเรียนจากอาร์เจนตินา
สลิสา ยุกตะนันท์
สัมภาษณ์พิเศษ
เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน
แอนดรูว์วอล์กเกอร์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
“ระลึกวันก่อตั้งพรรคมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ครบรอบ 35 ปีของสหายมิตร สมานันท์”
ธิกานต์ ศรีนารา
“ประชาชนทั่วประเทศจงสามัคคีกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โค่นรัฐบาลปฏิกิริยาขายชาติอย่างเด็ดเดียว”
ทัศนะวิพากษ์
ปฏิบัติการพอเพียงในหมู่บ้าน : การควบคุมชนบทของชนชั้นนำ
พฤกษ์ เกาถวิล
ปริศนากรณีสวรรคต
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
สองทศวรรษหลังเหตุการณ์ 8/8/88
พวงทอง ภวัครพันธุ์
ขบวนการต่อต้านในระยะเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลาฯ
ประจักษ์ ก้องกีรติ เขียน ศุษม อรรถวิภาคไพศาลย์,ศิริภาส ยมจินดา และวริศากิตติคุณเสรี แปล
เผ่นเพื่อชาติ
อาดาดล อิงคะวณิช
บทบรรณาธิการ
ขวาไทย
คล้ายกับว่าการเคลื่อนไหวของขบวนการ “ภาคประชาชน” ในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และแนวร่วม จะขับเคลื่อนผลักดันสังคมการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่พลันเมื่อพิจารณาทั้งเนื้อหาและท่วงทำนองจนครบถ้วนแล้ว ก็ประจักษ์ชัดว่าพวกเขากำลงบ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตยอย่างถึงราก
คล้ายกับว่าการเคลื่อนไหวโจมตีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในกรณีบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ล้อมปราบ 6 ตุลาคม 2519 จะนำไปสู่การชำระสะสางประวัติศาสตร์บาดแผลที่เรื้อรังมากว่า 3 ทศวรรษ แต่พลันเมื่อพลพรรคพันธมิตรฯ พากันปิดตาอีกข้าง บอดใบ้ต่อเครือข่ายฆาตกร 6 ตุลาฯ ที่ร่วมสังฆกรรมกันอยู่ ซ้ำยังฉวยใช้อุดมการณ์ชาติ-ศาสน์กษัตริย์มาทำลายล้างศัตรูทางการเมืองของตนอย่างบ้าคลั่ง บรรยากาศแบบขวาพิฆาตซ้ายก็พัดหวนคืนมา คลอเคลียไปกับเสียงเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้”
คล้ายกับว่าข้อเสนอ “การเมืองใหม่” ของกลุ่มพันธมิตรฯ จะชี้ทิศนำทางให้การเมืองไทยข้ามพ้นข้อจำกัดของประชาธิปไตยตัวแทนแบบเสรีนิยม แต่พลันที่พวกเขาเปลือยความคิดออกมา “การเมืองขวาใหม่” ก็ปรากฏให้เห็นแจ่มชัดอยู่เบื้องหน้า
ด้านหนึ่ง การเมืองขวาไทย ณ พ.ศ. 2551 ช่างทาบทับกับการเมืองของฝ่ายขวา ณ พ.ศ. 2519 ได้อย่างพอเหมาะพอดี ทั้งในแง่อุดมการณ์ชี้นำและอาวุธทางการเมือง ณ วันนี้เราจึงยังพบข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกลื่อนกล่นไปทั่ว เราจึงยังได้ยินเพลงปลุกใจประเภท “หนักแผ่นดิน” อยู่เนืองๆ เราจึงยังได้เห็นกระบวนการปลุกเร้ากระแสราชาชาตินิยมอย่างรุนแรง เราจึงยังได้เป็นประจักษ์พยานแก่การป่าวร้องให้ทหารหาญก้าวออกมาแทรกแซงการเมืองเพื่อเป็นราชพลี
ทว่าอีกด้านหนึ่ง ในความเก่าย่อมมีความใหม่ มีพลวัต ไม่หยุดนิ่งตายตัว ซ้ำยังพลิกกลับหัวกลับหางเสียใหม่ในบางลักษณะ
พิจารณาเฉพาะปรากฏการณ์พื้นผิวที่ปรากฏต่อสาธารณชน จาก 2519 ถึง 2551 พลพรรคขวาไทยได้เคลื่อนย้ายศัตรูจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ไปเป็นขบวนการสาธารณรัฐ พวกเขามิได้สดุดีระบบทุนนิยมเป็นพระเจ้าแข่งกับเศรษฐกิจสังคมนิยมอีกต่อไปแล้ว พวกเขาผลิตวาทกรรม ทุนนิยมสามานย์ขึ้นมาพร้อมกับเชิดชูเศรษฐกิจพอเพียงให้สูงเด่น ลักษณะหน้าตาของผู้นำขบวนการฝ่ายขวาได้เปลี่ยนจากขุนศึกไปเป็นนักสื่อสารมวลชนและนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนเสียแล้ว
พลพรรคขวาใหม่ยังคงแลเห็นประชาชนส่วนใหญ่ว่าโง่เง่า ไม่พร้อมที่จะเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถูกนักการเมืองซื้อด้วยเงินบ้างหรือผลประโยชน์เฉพาะหน้าในรูปอื่นบ้าง แม้พวกเขาไม่วางใจในประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็กลับเรียกร้องประชาธิปไตยทางตรงหรือกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง บ่อยครั้งก็แอบแฝงทำลายหลักการประชาธิปไตยด้วยโวหารทางการเมืองที่ก้าวหน้าชวนหลงใหล
ถึงที่สุด “การเมืองใหม่” ของขวาไทย ณ พ.ศ. 2551 นั้น ย่อมไม่ใช่เค้าโครงทางการเมืองที่หันกลับไปหาของเก่า หากเป็นการเมืองประดิษฐ์ใหม่ในนาม “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งยังประกอบสร้างไม่แล้วเสร็จ อิหลักอิเหลือ และไม่แน่ว่าจะไปสิ้นสุดที่ใด
คำถามชวนคิดต่อมาก็คือว่า สิ่งใดเล่าเป็นเนื้อดินที่คอยหล่อเลี้ยงให้ขวาไทยดำรงต่อเนื่องมา เติบโต และวิวัฒนาการสืบไปในสังคมไทย เหตุใดสังคมการเมืองไทยยังคงอนุญาตให้กระแสความคิดฝ่ายขวาสามารถโลดแล่นได้อย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะพรั่งพรูออกมาจากนักวิชาการชั้นนำ จากแกนนำภาคประชาชน จากราษฎรอาวุโส จากผู้นำกองทัพ จากสื่อมวลชน จากปัญญาชนสาธารณะ จากอดีตคอมมิวนิสต์ จากสถาบันจารีตและบริวาร
แน่นอนว่า หนทางการสัประยุทธ์กับกระแสขวาใหม่ย่อมมิใช่การหลบเลี่ยงหรือปฏิเสธปัญหาของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่พันธมิตรฯ และแนวร่วมหยิบยกขึ้นมาจุดชนวนการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดของระบบประชาธิปไตย ตัวแทนแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่ฉ้อฉลไม่เป็นธรรม
หากต้องเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญ และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองให้ถึงรากอย่างแท้จริงตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย ตามพละกำลังที่เป็นจริง
ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การเคลื่อนไหวนั้น ๆ กลับช่วยทำนุบำรุงเนื้อดินของ “การเมืองของสัตว์พิเศษ” ให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป