สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
สากล
ปฏิกิริยา
ดอกผลและหนทางข้างหน้า
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
ทัศนะวิพากษ์
โครงการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
พลวัตทุนไทยและแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองไทย
ผาสุก พงษ์ไพจิตร
มรดกรายงานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ
ชัยวัฒน์สถาอานันท์
วิวาทะว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2
บรรเจิด สิงคะเนติ, สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, ธงชัย วินิจจะกูล
สรุปประเด็นการสัมมนา
เกษียร เตชะพีระ
คำขบวน
Black Bloc แนวร่วมชุดดำ
ภัควดี วีระภาสพงษ์
รายงานพิเศษ
เปิดคำฟ้องยกเลิกคำสั่งยึด ฟ้าเดียวกัน
ธนาพล อิ๋วสกุล
ชานหนังสือ
ในกระแส
เวเนซุเอลาจะไปทางไหน?
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
บทบรรณาธิการ
เปลี่ยนประเทศไทย
ในบรรดาข้อกล่าวหาที่มีต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเศรษฐกิจประชานิยม ที่หว่านเงินเพื่อซื้อใจคนรากหญ้า ขณะเดียวกันก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างมหาศาลผ่านโครงการเมกะโปรเจ็กต์, การบริหารประเทศแบบซีอีโอ ที่บูรณาการอำนาจมาขึ้นต่อรัฐบาลส่วนกลางและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง จนเกิดปัญหาไฟใต้ที่ดูจะลุกลามเกินกำลังที่รัฐบาลจะรับได้, การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เอาผลประโยชน์ “ชาติ” ไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องบริวาร, การแปรเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” มารับใช้ตนเองโดยเฉพาะการแทรกแซงองค์กรอิสระ หรือแม้กระทั่งการ “ทำให้สถาบันกษัตริย์เป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ให้มากที่สุด” ดังที่ปรากฏอยู่ใน “ปฏิญญาฟินแลนด์” ฯลฯ
ไม่ว่าข้อกล่าวหาเหล่านั้นจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังข้อกล่าวหาดังกล่าวคือความคิดที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ได้ “เปลี่ยนประเทศไทย” ไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่เท่ากับว่า ภายใต้การดำเนินนโยบายดังกล่าวได้ “ซื้อใจ” คนไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ถึง 18,993,703 คนหรือ 42.16 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
แต่ภายใต้ความเข้มแข็งดังกล่าวกลับเป็นเพียงภาพลวงตา เมื่อรัฐบาลที่ได้รับ “ฉันทามติ” จากประชาชนมากมายขนาดนั้นต้องยุบสภาภายหลังจากบริหารประเทศเพียง 1 ปี แน่นอนว่าเหตุผลหลักที่ทำให้อายุขัยของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะเข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอายุสั้นถึงเพียงนั้นก็เนื่องมาจากกระแสต่อต้านที่มีมากขึ้นเป็นลำดับอันเกิดจาก “ดีลอัปยศ” เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 นั่นเอง
เมื่อมองให้ลึกลงไปในกระแส “ท้ากกกสิน…ออกไป” แล้วจะพบว่าประกอบด้วยคนอย่างน้อยก็ 3 ประเภทคือไม่พอใจวิธีสร้างนโยบาย, ไม่พอใจการดำเนินนโยบาย และไม่พอใจวิธีบริหารนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่มีงานวิจัยชิ้นใดที่ตอบคำถามนี้ได้โดยตรง
และเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง “หลังทักษิณ” เท่าที่มีการนำเสนอออกมาก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะนำพาสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางใด? นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถึงกับสรุปว่า “หากถามฝ่ายไม่เอาทักษิณว่า ไม่เอานโยบายอะไรของทักษิณบ้าง คงต้องเถียงกันเละทีเดียว” (“ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย,” มติชนรายวัน, 28 สิงหาคม 2549)
หรือว่ากลุ่มที่เรียกร้อง “ท้ากกกสิน…ออกไป” พอใจอยู่แค่นี้ เพราะเกรงว่าขบวนการจะ “เละ” ก่อนภารกิจ “ไล่” จะสำเร็จ?
สำหรับเราแล้ว ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ไม่เป็นสิ่งที่น่าพอใจนัก เพราะประวัติศาสตร์ได้สอนให้รู้ว่า ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง เมื่อหน้าต่างทางประวัติศาสตร์เปิดขึ้นเมื่อใด บทบาทของประชาชนก็เป็นได้เพียงเบี้ยหมากสำหรับการเปลี่ยนแปลง และมักจะถูกเขี่ยออกไปและแทนที่ด้วย “ชนชั้นนำ” ที่ฉวยโอกาสรับเหมาทำแทนทุกครั้งไป 1 ได้
และนี่เองจึงเป็นที่มาของการแสวงหาทางเลือกในการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูปสังคมไทย ที่เรา –ฟ้าเดียวกัน– ได้จัดสัมมนาเรื่อง “โครงการเปลี่ยนประเทศไทย” ขึ้น โดยเชิญนักวิชาการสาขาต่างๆ มาร่วมเสนอ/ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันถึงพลวัตของสังคมไทยในปัจจุบันและแนวทางการปฏิรูปสังคมไทยใน อนาคต
แน่นอนว่า สำหรับบางคนที่ต้องการ “เปลี่ยนแปลงโลก” การสัมมนาเพียง 2 วันเป็นได้มากที่สุดก็เพียงการ “อธิบายโลก” แต่เราเชื่อว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายได้ หากขาดการอธิบายได้อย่างสมเหตุสมผลพอและเปิดโอกาส ให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรี