สารบัญ
บทบรรณาธิการ
จดหมายถึงกอง บ.ก.
ปฏิกิริยา
บทตอบปฏิกิริยา อ่านผิดหรือมายาคติบังตา ?
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
คำขบวน
Horizontalidadวิถีระนาบ
ภัควดี วีระภาสพงษ์
ปีกซ้ายไร้ปีก
ลาว : สำรองพลังทางเศรษฐกิจเพื่อความเจริญของไทย
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
เงินเดินดิน
หนี้-วงจรอุบาทว์หรือปีศาจจำเป็น?
สฤณี อาชวานันทกุล
รายงานพิเศษ
ความรุนแรง : “ซ่อน-หา”สังคมไทย
“การคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ต่อสาธารณชนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้”
ถาม – ตอบกับ ธงชัย วินิจจะกูล
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
สากล
วิพากษ์หลักหมายไทยศึกษา
การอ่านและการวิจารณ์ ตั้งคำถามกับปากไก่และใบเรือ
วีรศักดิ์ กีรติวรนันท์
ในกระแส
พรรคต่อต้านทุนและการรวมกำลังแนวร่วมในฝรั่งเศส
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
ทัศนะวิพากษ์
“คว่ำปฏิวัติ – โค่นคณะราษฎร” :การก่อตัวของ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
ณัฐพล ใจจริง
หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการเซ็นเซอร์ตัวเองฯ
ประวิตร โรจนพฤกษ์
บทบาทของรัฐในการศึกษา : โจทย์หลักและบทวิเคราะห์เชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง
วิโรจน์ ณ ระนอง
ทำไมเราต้องสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ในสังคมไทย?
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
ปฏิวัติ 2475 ในสายตา “คณะคอมมูนิสต์สยาม”
ธนาพล อิ๋วสกุล, ชัยธวัช ตุลาฑล
ชาวนา กรรมกร ทหาร และคนทุกข์ยากของประเทศสยาม!
แถลงเรื่องประกาศรัฐธรรมนูญของรัฐบาลใหม่!
บทบรรณาธิการ
บทสนทนาอันไม่รู้จับ
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชหัตถเลขาช่วยจำเกี่ยวกับปัญหาบางประการของสยามแก่ ฟรานซิส บี. แซยร์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือในปัญหาที่ราชอาณาจักรสยามกำลังเผชิญอยู่หลังพระองค์ทรงครองราชย์มาได้ ไม่กี่เดือน
ในพระราชหัตถเลขาดังกล่าว พระปกเกล้าฯ ทรงตั้งคำถามไว้ทั้งหมด 9 ข้อ
สองข้อแรกเกี่ยวพันกับปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์
ส่วนสองข้อต่อมานั้น เป็นปัญหาสืบเนื่องจากพระราชฐานะอันตกต่ำของกษัตริย์ในรัชสมัยที่เพิ่งสิ้นสุดไป ดังนั้นเพื่อหาทางป้องกันพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ทรงพระปรีชาและให้ราชวงศ์จักรีดำรงอยู่ต่อไปได้ พระองค์จึงทรงหารือแซยร์ว่า
“ประเทศนี้ควรจะมีการปกครองระบบรัฐสภาในวันหนึ่งหรือไม่ และการปกครองระบบรัฐสภาของพวกแองโกลแซกซอนเหมาะสมกับคนตะวันออกหรือไม่” และ “ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน”
แต่สำหรับประเด็นนี้ พระองค์ทรงมีคำตอบชัดเจนในพระราชหฤทัยอยู่แล้ว ดังที่ทรงเขียนต่อท้ายคำถามไว้ด้วยว่า “ตามความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าขอย้ำว่าไม่”
ความเห็นประการนี้ของพระองค์สอดคล้องกับโลกทัศน์ของชนชั้นนำสยามโดยทั่วไปที่เห็นว่า ระดับ ความคิดอ่านของราษฎรนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการปกครองระบอบใหม่ และถึงที่สุดแล้ว ระบอบประชาธิปไตยโดยตัวมันเองก็ไม่เหมาะกับสังคมตะวันออกอย่างเช่นสยาม
อย่างไรก็ดี อีกเพียง 6 ปีต่อมา ชนชั้นนำสยามก็มิอาจต้านทานกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเพื่อนำพาสยามไปสู่ระบอบใหม่ที่ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทว่า การสถาปนาระบอบใหม่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค แรงต้านสำคัญมาจากกษัตริย์และกลุ่มกษัตริย์นิยมนั่นเอง ขบวนการ “คว่ำปฏิวัติ-โค่นคณะราษฎร” จะเข้มข้นและซ่อนเร้นเช่นไรนั้น ขอเชิญพลิกไปอ่านผลงานของณัฐพล ใจจริง
ผลจากการต่อสู้ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายปฏิวัติ 2475 กับขบวนการต่อต้านการปฏิวัติย่อมส่งมอบมรดกมายังปัจจุบันอย่างมิต้องสงสัย
ฉะนั้น พึงตระหนักไว้ด้วยเถิดว่า ปัญหาความเน่าเฟะพิกลพิการของการเมืองไทยนั้น มิได้เป็นผลมาจาก “นักการเมืองเลว ๆ” เพียงลำพัง หากแต่มีรากปัญหาทางประวัติศาสตร์แฝงฝังอยู่ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ
ปัญหาคือว่า ท่ามกลางความขัดแย้งทางสังคม ณ ขั้นตอนปัจจุบันซึ่งดูเหมือนจะผลักให้เพื่อนมิตรผู้รักเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพหลายฝ่ายดำรงอยู่ในสภาวะระหว่างเขาควาย เขาหนึ่งคือระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เขาหนึ่งคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” – เราจะฝ่าข้ามไปเช่นไร
จะฝ่าข้ามไปเช่นไรนั้น ขอให้ช่วยกันสังเคราะห์บทเรียนของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” และแนวร่วมต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยา เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญมิใช่การทำให้การเมืองเป็นเรื่องสกปรกด้วยการผลิตซ้ำอุดมการณ์แบบชนชั้นนำ – ที่ยกตนเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยศีลธรรมจรรยา อยู่เหนือการเมืองกเฬวรากของนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งจากไพร่ฟ้าผู้มีปัญญาไม่พอเพียงหากแต่เป็นการสร้างให้การเมืองเป็นเรื่องของสามัญชน ผู้ถูกผิดดีเลวไปตามสภาพเงื่อนไขแวดล้อมของตน เป็นการเมืองที่อนุญาตให้เราทุกคนมีพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นชนชั้น เพศ เชื้อชาติ หรือมีอุดมการณ์ใด
“ประเทศนี้พร้อมแล้วหรือยังที่จะมีการปกครองแบบมีผู้แทน”…คำตอบของคุณคืออะไร?