Sale 10%

การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด

ปกแข็ง 675.00 บาทปกอ่อน 585.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหนังสือ

Catch-up Industrialization: The Trajectory and Prospects of East Asian Economies

ผู้เขียน

อะกิระ ซุเอะฮิโระ

ผู้แปล

เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์

จำนวนหน้า

520

ปีที่พิมพ์

2565

ISBN ปกอ่อน

9786169399414

ISBN ปกแข็ง

9786169399407

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียนฉบับแปลภาษาไทย

คำนำผู้แปล

บทนำ  “การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด” คืออะไร

ภาค 1มุมมอง และแนวทางการศึกษา

บทที่ 1 มุมมอง  รัฐบาล ตลาด ระบบและสถาบัน

บทที่ 2 ประเทศพัฒนาทีหลัง ทฤษฎีฝูงห่านป่าบินและความได้เปรียบในการแข่งขัน

บทที่ 3 ความสามารถทางสังคมในการพัฒนาอุตสาหกรรมและการผสมผสานทางนวัตกรรม

บทที่ 4 เศรษฐกิจเอเชีย จาก “มหัศจรรย์” สู่ “วิกฤต”

ภาค 2 อุดมการณ์ นโยบาย ผู้รับผิดชอบ และสถาบัน

บทที่ 5 ลัทธิการพัฒนากับเผด็จการการพัฒนา

บทที่ 6 การผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า การส่งเสริมการส่งออกนโยบายอุตสาหกรรม

บทที่ 7 โครงสร้างสามขาของกลุ่มทุน รัฐวิสาหกิจและบริษัทของรัฐ

บทที่ 8 บทบาทของบรรษัทข้ามชาติกับการครอบงำทางเศรษฐกิจ

บทที่ 9 ธุรกิจครอบครัวและบรรษัทภิบาล

บทที่ 10 การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี

บทที่ 11 การควบคุมและการแข่งขันในตลาดแรงงาน

บทที่ 12 ระบบการศึกษากับสังคมแข่งขันประวัติการศึกษา

บทที่ 13 อนาคตของทฤษฎีความได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนีบุคคล

ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 สงครามเย็นซึ่งเป็นสงครามตัวแทนระหว่างค่ายเศรษฐกิจเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตเป็นหัวเรือใหญ่ก็เกิดขึ้นทันที ต่อมาเมื่อเหมาเจ๋อตงนำพลพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1949 ขับไล่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็คจนต้องอพยพไปอยู่ไต้หวัน ต่อเนื่องมาถึงสงครามเกาหลีที่เกิดขึ้นระหว่างปี 1950-1953 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกจึงไม่ใช่เป็นเพียงภูมิศาสตร์ทางการเมือง แต่เป็นภูมิศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ผู้นำโลกทั้งสองฝ่ายต่างเข้ามาช่วงชิง

ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย (ซึ่งหนังสือเล่มนี้เรียกรวมว่า “เอเชียตะวันออก”) เดินตามเส้นทางเศรษฐกิจเสรีของสหรัฐอเมริกาพร้อมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ประเทศเหล่านี้ยกเว้นญี่ปุ่นล้วนแล้วแต่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมหลังสงครามโลกครั้งที่สองทั้งสิ้น จนกล่าวได้ว่าทุกประเทศเริ่มต้นจากจุดสตาร์ตเดียวกัน

ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแพ้สงครามแต่ได้วางรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมมาก่อน ก็ล่วงหน้าไปเป็นประเทศอุตสาหกรรมเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วในทศวรรษ 1960 และปล่อยให้ประเทศต่างๆ เริ่มไล่กวด เมื่อถึงทศวรรษ 1970 สิงคโปร์เริ่มทิ้งห่างอาเซียนไปไม่เห็นฝุ่น ครั้นถึงทศวรรษ 1980 เกาหลีใต้กับไต้หวันก็กลายเป็นผู้เล่นสำคัญในเศรษฐกิจโลก

ปัจจุบันเกาหลีใต้กลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมแห่งใหม่ ขณะที่เศรษฐกิจไต้หวันก็เติบโตอย่างมั่นคงและเป็นห่วงโซ่การผลิตที่สำคัญของโลกในด้านแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และมาเลเซียดูเหมือนมีความเป็นไปได้มากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนที่จะหลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง

ก่อนสิ้นศตวรรษที่ 20 เศรษฐกิจไทยในฐานะส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกเติบโตก้าวกระโดดพร้อมๆ กับประเทศในเอเชียตะวันออกจนธนาคารโลกขนานนามว่า “มหัศจรรย์แห่งเอเชียตะวันออก” (East Asian Miracle) แต่วิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 1997 ได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินแห่งเอเชีย เศรษฐกิจเอเชียที่เคยสร้างปาฏิหาริย์เดินไปสู่ความล่มสลายอย่างไม่น่าเชื่อ ทฤษฎีฝูงห่านป่าบินที่เคยถูกใช้อธิบายอย่างผิดๆ ถึงภาพฝันของเศรษฐกิจเอเชียที่มีญี่ปุ่นเป็นห่านป่าบินนำและประเทศอื่นๆ บินตามอย่างสวยงามบนท้องฟ้าใช้ไม่ได้อีกต่อไป เกิดคำถามว่าเหตุใดประเทศในเอเชียตะวันออกที่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมมาพร้อมๆ กันทำไมกลุ่มแถวหลังที่พัฒนาตามมาจึงยังไม่ประสบความสำเร็จ

แม้ในโลกสากล หนังสือว่าด้วยเศรษฐกิจเอเชียจะมีมากมาย แต่หนังสือวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ของประเทศไทยกลับมีจำนวนน้อยมาก ทั้งๆ ที่การศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเคยเฟื่องฟูอันเป็นผลมาจากภูมิทัศน์ของอดีตที่เปลี่ยนไปหลัง 14 ตุลา โดยเฉพาะการกำเนิดขึ้นของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองในทศวรรษ 1980 บริบทของการศึกษาเศรษฐกิจของประเทศไทยในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เพราะจะกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการปฏิวัติ ในช่วงเวลานี้เองเราจึงได้เห็นการค้นคว้าเรื่องพัฒนาการเศรษฐกิจไทยในมิติต่างๆ มากมาย อย่างที่ทราบการล่มสลายของกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมืองมาพร้อมกับการเข้าสู่ยุคทุนนิยมเต็มตัวของสังคมไทย

ปัจจุบันเราอาจไม่ต้องตอบคำถามเช่นในทศวรรษ 1980 แล้วว่าทำไมประเทศไทยจึงยังคงด้อยพัฒนา แต่เรายังต้องตอบคำถามว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางเสียที แถมเวียดนามกำลังไล่กวดอย่างกระชั้นชิด

การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก โดยอะกิระ ซุเอะฮิโระ (Akira Suehiro) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เอเชีย ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาญี่ปุ่นในชื่อ Kyachiappu-kata Kgyka Ron Ajia Keizai no Kiseki to Tenb ในปี 2000 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ติดต่อคณะผู้แปลซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอะกิระ ซุเอะฮิโระ เพื่อแปลหนังสือเล่มดังกล่าวเป็นภาษาไทย ในเวลาเดียวกันหนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Tom Gill ในชื่อ Catch-up Industrialization: The Trajectory and Prospects of East Asian Economies ตีพิมพ์เมื่อปี 2008

หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกว่าด้วยแนวคิดทฤษฎี “การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด” ที่ผู้เขียนคิดค้นขึ้นเพื่อวิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเศรษฐกิจเอเชีย โดยวางตำแหน่งให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาก่อน และประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมทีหลัง (late industrializers) ส่วนที่สองว่าด้วยอุดมการณ์การพัฒนา นโยบายรัฐ และสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาเทคโนโลยี/นวัตกรรมต่างๆ รวมถึงลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศไม่ว่าตลาดแรงงาน การบริหารธุรกิจแบบครอบครัว หรือระบบการศึกษาที่เอื้อต่อ (หรือเป็นอุปสรรคขัดขวาง) การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด

ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาเศรษฐกิจไทยในบริบทของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและเศรษฐกิจโลก จึงสามารถเผยให้ผู้อ่านได้เห็นว่าความสำเร็จ (และความล้มเหลว) ของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่เรื่องของตำนานเสื่อผืนหมอนใบของบรรดาเจ้าสัว ความสามารถของเทคโนแครตที่มักประกาศว่าปราศจากผลประโยชน์ส่วนตน หรือความมีเสถียรภาพของรัฐบาลเผด็จการแบบสฤษดิ์ ธนะรัชต์/ประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคเปรม ติณสูลานนท์ อย่างที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่มีปัจจัยภายนอกมากำหนดอีกไม่น้อย อุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกไม่ได้เติบโตจากการเปิดให้กลไกตลาดทำงานเต็มที่หรือการเข้าแทรกแซงตลาดโดยรัฐเท่านั้น หากแต่เกิดจากความสามารถทางสังคมในการสร้างเทคโนโลยีด้วย ยกตัวอย่างกรณีศึกษาเครือซีพีหรืออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย เป็นต้น หนังสือเล่มนี้ชี้ให้เห็นว่าหัวใจสําคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวดอยู่ที่อุตสาหกรรมการผลิต และกุญแจแห่งความสำเร็จก็คือความสามารถทางสังคมของแต่ละประเทศในการนำเข้าเทคโนโลยี ปรับใช้และพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ท้ายที่สุดแล้ว นโยบายเศรษฐกิจใดๆ ของไทยในอนาคตควรจะสามารถตอบคำถามพื้นฐานสำคัญที่ว่าทำไมประเทศไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในอาเซียน (ยกเว้นสิงคโปร์) ยังคงติดกับดักรายได้ปานกลางอยู่จนถึงปัจจุบันทั้งๆ ที่ออกตัวจากจุด
สตาร์ตเดียวกัน ดังที่อะกิระ ซุเอะฮิโระ พยายามชี้ให้เห็น

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการทำความเข้าใจสังคมไทยผ่านมุมมองการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เราได้ตีพิมพ์มาก่อนหน้า

สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

คำนำผู้เขียน

ประเทศไทยเริ่มเป็นประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาในช่วงการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากทำการรัฐประหารในปี 1958 นายกรัฐมนตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งเป้าหมายใน “การพัฒนาประเทศ” ไว้ไม่ใช่เพียงแค่การพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพัฒนาชนบท การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนาด้านการศึกษา ในทศวรรษ 1960 นอกจากประเทศไทยแล้ว เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียต่างก็ตั้งเป้าหมายแห่งชาติอยู่ที่ “การพัฒนาประเทศ” ตามๆ กันทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ได้ดำเนินนโยบาย “แผนเพิ่มรายได้เป็นสองเท่า” ระหว่างปี 1961-1970 วางแผนเพิ่มรายได้ประชาชาติเป็นสองเท่าภายใน 10 ปี ดังนั้นรัฐบาลและประชาชนในเอเชียตะวันออกจึงเริ่มต้น “ยุคของการพัฒนาประเทศ” ที่หมายมุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพร้อมเพรียงกัน

ประเทศที่เป็นตัวแทนสำคัญของ “ยุคการพัฒนา” ก็คือไทย รัฐบาลไทยได้เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าในทศวรรษ 1960 จากนั้นก็เริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกตั้งแต่กลางทศวรรษ 1970 แต่ทว่าได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมัน 2 ครั้ง ประเทศไทยจึงตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ในตอนนั้นเองเกิดความคิดเห็นขัดแย้งกันเป็นสองขั้วในสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับนักเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต กลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม “NAIC” (Newly Agro-Industrializing Country) ซึ่งต้องการเพิ่มรายได้ประชาชาติด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร หรือ “กลุ่มพัฒนาชนบท” ที่มีคณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) เป็นแกนหลัก อีกกลุ่มหนึ่งคือ “NICs” (Newly Industrializing Countries) ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและปิโตรเคมี โดยการส่งเสริมการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองกลุ่มก็มลายหายไปท่ามกลางความเจริญทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยมีมาก่อนเป็นประวัติการณ์ เริ่มตั้งแต่ปี 1988 เนื่องจากการแห่เข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และการลงทุนภายในประเทศที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตามมา นอกจากจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและปิโตรเคมีของไทยรวดเดียวแล้ว การลงทุนสร้างโรงงานในต่างจังหวัดและการก่อสร้างที่บูมขึ้นทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างจังหวัดคึกคักไปด้วย

คราวนี้เศรษฐกิจเฟื่องฟูจึงเป็นสาเหตุของการเก็งกำไรหุ้นและการเก็งกำไรที่ดิน จนทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 1993 กลายเป็นฟองสบู่ และหลังจากการล่มสลายของเศรษฐกิจฟองสบู่ สกุลเงินบาทไทยก็ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ (hedge fund) ของต่างประเทศ จนกระทั่งในเดือนกรกฎาคม 1997 ต้องตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทลดลงอย่างมากซึ่งกลายเป็นต้นตอของวิกฤตการณ์การเงินเอเชียที่แพร่กระจายเหมือนโรคติดต่อไปยังประเทศอื่นๆ

วิกฤตการณ์ค่าเงินเอเชียได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทย แต่สามปีหลังจากนั้นก็ได้เห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่ง รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศในปี 2001 ได้ใช้นโยบายที่เรียกว่า “นโยบายแบบคู่ขนาน” (dual-track policy) เป็นกลยุทธ์ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนในพื้นที่ชนบทและเศรษฐกิจรากหญ้า (เช่น สินค้าโอท็อป) และสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ในเขตเมืองควบคู่ไปพร้อมกัน ศักยภาพทางเศรษฐกิจในช่วงแรกของรัฐบาลทักษิณนั้น ปี 2002-2004 มีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 6 หรือมากกว่า ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 9 ถึงร้อยละ 2 อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการทางการเมืองอันก้าวร้าวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างหนักจากทั้งกลุ่มพลังประชาธิปไตย พระราชวงศ์ และทหาร ในที่สุดเขาก็ถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่ง โดยการทำรัฐประหารในเดือนกันยายน 2006 การเมืองไทยหลังจากนั้นได้ถลำเข้าสู่ “ยุคของความสับสนวุ่นวาย” บนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเสื้อเหลืองกับกลุ่มเสื้อแดง

ในยุคของรัฐบาลทหารก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ปี 1973 สถานการณ์ที่ “รัฐบาลมั่นคง และระบอบการปกครองมั่นคง” ดำเนินต่อเนื่องมาได้ แต่เมื่อเข้าสู่ยุครัฐบาลมาจากพรรคการเมือง ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาลพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 1988 นั้น ก็เข้าสู่ยุค “รัฐบาลไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองมั่นคง” กล่าวคือไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีพลังอำนาจพอที่จะครองเก้าอี้ในรัฐสภาเกินกว่าครึ่งหนึ่งได้ จึงเป็นยุคของการตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค และมีการต่อรองแย่งชิงการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้พรรคและกลุ่มการเมืองที่ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ทำให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีและจัดการเลือกตั้งทั่วไปซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้นแม้รัฐบาลจะไม่มั่นคง แต่ระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังมั่นคงไม่สั่นคลอน ในทางตรงกันข้าม ในยุครัฐบาลทักษิณซึ่งพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น (2001-2006) สถานการณ์กลับตาลปัตรไปแทบพลิกฝ่ามือ คือ “รัฐบาลมั่นคง แต่ระบอบการปกครองไม่มั่นคง” กล่าวคือรัฐบาลกุมอำนาจเข้มแข็งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่อำนาจทั้งหมดไปรวมอยู่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หรือที่เรียกกันว่า “ระบอบทักษิณ (Thaksinization) เกิดการต่อต้านจากทหาร ฝ่ายสนับสนุนพระมหากษัตริย์ และกลุ่มพลังประชาธิปไตย ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในสถานการณ์ที่ระบอบการปกครองไม่มั่นคง

หลังจากการทำรัฐประหารในปี 2006 ก็เข้าสู่ยุคเลวร้ายที่สุดที่ “รัฐบาลไม่มั่นคง และระบอบการปกครองไม่มั่นคง” กล่าวคือเกิดคณะรัฐมนตรีหลายชุดแล้วก็ถูกล้มไป การเมืองแบ่งเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายสนับสนุนทักษิณกับฝ่ายต่อต้านทักษิณ เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย แม้การทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเดือนพฤษภาคม 2014 ได้ยุติความวุ่นวายทางการเมืองได้ชั่วคราว แต่การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประชาธิปไตยนั้นยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม 2019 ทำให้รัฐบาลชั่วคราวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. เปลี่ยนเป็นรัฐบาลผสมของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ทว่าลักษณะของ “รัฐบาลไม่มั่นคง ระบอบการปกครองไม่มั่นคง” ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงจนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 2022)

แม้จะอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองอย่างต่อเนื่องดังกล่าวก็ตาม เศรษฐกิจของไทยก็สามารถเติบโตได้ค่อนข้างคงที่ โดยสามารถหลุดพ้นจากฐานะ “ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ” (a lower middle-income country) ไปเป็น “ประเทศรายได้ปานกลางระดับบน” (an upper middle-income country)” พร้อมกันกับจีนในปี 2010 ขั้นตอนต่อไปก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะได้เข้าไปอยู่ในกลุ่ม “ประเทศที่มีรายได้สูง” หรือก้าวกระโดดไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งกลายเป็นเป้าหมายใหญ่ของทั้งรัฐบาลและประชาชน

จากการสำรวจข้างต้นทำให้เราทราบว่า ประสบการณ์ของประเทศไทยแสดงให้เห็นแผนภาพย่นย่อของการพัฒนาเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก รัฐบาลมีส่วนร่วมในทางเศรษฐกิจอย่างกระตือรือร้น พัฒนานโยบายเศรษฐกิจเรื่อยมาเพื่อที่จะเขยิบเข้าใกล้ระดับรายได้ของประเทศพัฒนาแล้ว ประเด็นท้าทายของหนังสือเล่มนี้ก็คือ เราจะใช้มุมมองและทฤษฎีใดในการวิเคราะห์การพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรม

ในหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้ใช้แนวคิดการ “ไล่กวด” เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่เหมือนกันของเอเชียตะวันออกตลอดทั้งเล่ม โดยได้วางตำแหน่งให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมทีหลัง (late industrializers) และอาศัยประสบการณ์ของประเทศญี่ปุ่นเป็นเส้นด้ายนำทางสู่การวิเคราะห์ดังกล่าว

ผู้เขียนเริ่มงานวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทยย้อนกลับไปเมื่อปี 1972 ซึ่งเกิดการรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น โดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) จากนั้นในปี 1976 ได้เข้าทำงานที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย Ajia Keizai Kenkyūsho หรือ Institute of Developing Economies (IDE) ประเทศญี่ปุ่น และเน้นการทำวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมและบริษัทของไทย ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล ยางธรรมชาติ ปาล์มน้ำมัน เนื้อไก่แปรรูป กุ้งเลี้ยง รถยนต์ แม่พิมพ์ เป็นต้น ผู้เขียนได้ไปเยี่ยมชมบริษัทและโรงงานที่ผลิตสินค้าเหล่านี้ และเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนบุคคลของเจ้าของธุรกิจเหล่านั้น เพื่อที่จะเข้าใจประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมและกลุ่มทุนของไทย (ผลงานสำคัญได้แก่ Capital Accumulation in Thailand 1855-1985, UNESCO The Center for East Asian Cultural Studies, Silkworm Books 1989)

จำนวนบริษัทและโรงงานที่ได้ไปเยี่ยมชมในประเทศไทยมีมากกว่า 250 แห่ง แฟ้มประวัติของบริษัทที่ตรวจดูที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีมากกว่า 700 บริษัท นอกจากนี้ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจของไทยเท่านั้น ผู้เขียนยังสนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม และตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้ว่า “จะต้องเข้าใจในภาพรวมทั้งหมด” ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ 2 เล่ม (ภาษาญี่ปุ่น) คือ “ประเทศไทย  การพัฒนาและประชาธิปไตย” (1993) และ “ประเทศไทย  การแสวงหาของประเทศรายได้ปานกลาง” (2009)

ผลจากการลงพื้นที่สำรวจโดยเน้นหนักที่ประเทศไทยมาเป็นเวลานานหลายปี จึงได้ตีพิมพ์หนังสือซึ่งเป็นผลงานที่ได้จากข้อมูลสถิติที่เก็บสั่งสมมา ชื่อว่า “ทฤษฎีอุตสาหกรรมแบบไล่กวด  เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก” (Nagoya University Press, 2000, 375 p.) มีหนังสือแปลฉบับภาษาอังกฤษที่ได้ปรับปรุงข้อมูลและตีพิมพ์จากประเทศสิงคโปร์ในปี 2008 (Catch-up Industrialization The Trajectory and Prospect of East Asian Economies, National University of Singapore Press, 2008, 395 p.)

หนังสือทั้งสามเล่มนี้ ผู้เขียนได้อธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออก จากมุมมอง 3 ด้านคือ (1) อุดมการณ์เฉพาะในการเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรม (ลัทธิการพัฒนา) (2) ผู้นำของการพัฒนาอุตสาหกรรม (รัฐวิสาหกิจ/บริษัทของรัฐ บรรษัทข้ามชาติ และธุรกิจครอบครัว) (3) ระบบและสถาบันที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม (การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสร้างเทคโนโลยี ตลาดแรงงาน ระบบการศึกษา) แนวคิดหลายอย่างที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ รูปแบบการไล่กวด ความสามารถทางสังคมของการพัฒนาอุตสาหกรรม ลัทธิการพัฒนา โครงสร้างสามขาของกลุ่มทุนหลัก การปฏิรูปการบริหารของธุรกิจครอบครัว ได้อ้างอิงงานศึกษาที่มีมาก่อนหน้า แล้วนำมาวิเคราะห์ในการทำวิจัยสำรวจภาคสนามในประเทศไทย ดังนั้นหนังสือเหล่านี้จะปรากฏตัวอย่างของไทยในบทตอนต่างๆ

แต่ทว่าเนื้อหาของหนังสือ 2 เล่มและหนังสือที่มีฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1970 และจบลงประมาณปี 2000 เมื่อสิ้นสุดวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย นอกจากนี้ก็ได้จงใจตัดประเทศจีนออกจากการวิเคราะห์ เนื่องจากเห็นว่าจีนในเวลานั้นเป็นประเทศที่มีประชากรมาก ทั้งยังเป็นประเทศที่ใช้ระบบสังคมนิยม มีปัญหาในแบบเฉพาะของจีนเอง อย่างไรก็ดี ในปี 2022 ที่หนังสือแปลฉบับภาษาไทยนี้ได้รับการเผยแพร่ การจะกล่าวถึงเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโดยตัดประเทศจีนออกไปนั้นคงเป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่โอบล้อมภูมิภาคเอเชียก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990 เช่น การขยายตัวของโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางการค้า การเกิดวิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2008 (เลห์แมนช็อก) และการปรากฏตัวของประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย (Emerging Asian Countries) ที่สำคัญคือจีนและอินเดีย ทั้งนี้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีของประเทศอุตสาหกรรมทีหลังก็เปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่ด้วยระบบโมดูลาร์ของผลิตภัณฑ์ และการเปิดเผยองค์ความรู้ของผลิตภัณฑ์ที่เกิดในอุตสาหกรรมไอที ดังนั้นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นก็คือ “การไล่กวดก่อนกำหนด” ซึ่งหมายถึงการที่บริษัทเกิดใหม่ของเกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน สามารถไล่แซงบริษัทของญี่ปุ่นและบริษัทอเมริกันได้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน

อนึ่ง หนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 2000 ก็เน้นการวิเคราะห์การพัฒนาอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ได้วิเคราะห์ด้านสังคมอย่างเพียงพอ แต่หลังจากเข้าสู่ทศวรรษ 2000 ทั้งไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียต่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว รวมทั้งกำเนิดสังคมผู้บริโภค ก่อให้เกิดการขยายความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันการกระจายการศึกษาขั้นสูงได้ก่อให้เกิดปัญหาสังคมใหม่ๆ กับคนหนุ่มสาว เช่น คนมีการศึกษาสูงแต่รายได้น้อย เป็นต้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนได้รับความร่วมมือและคำแนะนำจากคนจำนวนมากในการทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศไทย รองศาสตราจารย์ ดร. วารินทร์ วงศ์หาญเชาว์ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงเวลาที่ผู้เขียนได้ทำงานที่นั่นระหว่างเดือนเมษายน 1981 ถึงเดือนกันยายน 1983 ไม่เพียงแต่ให้การสนับสนุนการวิจัยเท่านั้น ยังเป็น “เถ้าแก่” ให้กับผู้เขียนในงานแต่งงานที่จัดขึ้นที่เมืองไทยด้วย

ผู้เขียนขอขอบคุณด้วยความจริงใจกับศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ทำกิจกรรมร่วมกันในสมัยที่เรียนมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยโตเกียว และอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายท่านที่ร่วมงานวิจัยด้วยกัน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ รองศาสตราจารย์ ดร. กิตติ ลิ่มสกุล รองศาสตราจารย์สามารถ เจียสกุล รองศาสตราจารย์ ดร. สังศิต พิริยะรังสรรค์ รองศาสตรจารย์บุษบา คุณาศิรินทร์ และผู้ที่คอยเสริมสร้างการกระตุ้นทางปัญญาอย่างต่อเนื่องคือ ศาสตราจารย์ ดร. ผาสุก พงษ์ไพจิตร และอาจารย์คริส เบเคอร์

นอกจากนี้ ขอขอบคุณอาจารย์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. เกริกเกียรติ พิพัฒนเสรีธรรม (อดีตอธิการบดี) ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ รองศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ แต้มบุญเลิศชัย รองศาสตราจารย์สุปราณี ศรีฉัตราภิมุข รองศาสตราจารย์ไว จามรมาน ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ลือชัย จุลาสัย ศาสตราจารย์ ดร. อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ศรัณยา บุนนาค ที่คอยให้ความช่วยเหลือตลอดกระบวนการทำวิจัย รวมทั้งนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 2014-15  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2020 ถึงปัจจุบัน) ก็เป็นเพื่อนสนิทคบกันมานานกว่า 30 ปีตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจเอเชีย (IDE) ประเทศญี่ปุ่น

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ที่ปากคลองตลาด และเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติเชิงสะพานขาวทุกท่าน ในความช่วยเหลือที่ไม่อาจเอ่ยเป็นคำพูดได้ ในช่วงระหว่างพำนักอยู่ในประเทศไทย รวมถึงคนไทยที่ร่วมมือในการให้สัมภาษณ์มากมายนับไม่ถ้วน สมุดโน้ตงานวิจัยภาคสนามในเมืองไทยของผู้เขียนนั้นมีมากกว่า 100 เล่ม อยากจะขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือ

ผู้ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างยิ่งในการแปลหนังสือเล่มนี้ก็คือ บรรณาธิการแปล รองศาสตราจารย์ ดร. เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ) ในขณะที่ ดร. เนตรนภาศึกษาระดับปริญญาเอกที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวอยู่นั้น (1998-2002) ผู้เขียนทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอเรื่อง Managerial Careers in Thailand and Japan (Silkworm Books, 2005) นั้นตีพิมพ์ในประเทศไทย ดร. เนตรนภาเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว และเป็นนักศึกษาต่างชาติที่ได้รับปริญญาเอกเร็วที่สุด หลังจากนั้น ดร. เนตรนภาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์อยู่ที่ Tōyō Bunka Kenkyūsho (Institute for Advanced Studies on Asia ของมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นเวลา 3 ปี ก่อนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนที่สาขาการบริหารองค์การ การประกอบการ และทรัพยากรมนุษย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2011

แม้ ดร. เนตรนภาจะจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวไปแล้ว ก็ยังมีผลงานวิจัยร่วมกันทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบันมีบทความที่เขียนร่วมกันทั้งหมด 9 เรื่อง เธอไม่ใช่นักเรียนของผู้เขียนอีกต่อไปแต่เป็นผู้ร่วมวิจัยในเมืองไทยที่ไว้วางใจที่สุด จึงรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ ดร. เนตรนภาเป็นบรรณาธิการแปลของหนังสือเล่มนี้ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คุณธนาพล อิ๋วสกุล คุณชัยธวัช ตุลาธน คุณสรณ ขจรเดชกุล คุณวิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ คุณอัญชลี มณีโรจน์ คุณสังคม จิรชูสกุล และทีมงานทุกท่านที่ช่วยเหลือในการแปลและการจัดพิมพ์ให้เสร็จลุล่วงได้ด้วยดี ผู้เขียนขอแสดงความนับถือและขอบคุณจากใจจริง

อะกิระ ซุเอะฮิโระ

เดือนมีนาคม 2022 ณ บ้านจังหวัดชิบะ

คำนำผู้แปล

หนังสือแปลเรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด  เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ที่อยู่ในมือของท่านผู้อ่านเล่มนี้ ได้ผ่านสายธารแห่งกาลเวลามากว่า 20 ปี เริ่มตั้งแต่ ศาสตราจารย์ ดร. อะกิระ ซุเอะฮิโระ (Akira Suehiro) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เอเชีย ซึ่งนักวิชาการไทยส่วนใหญ่รู้จักท่านจากหนังสือเรื่อง Capital Accumulation in Thailand 1855-1985 ได้ออกหนังสือเล่มนี้ ฉบับภาษาญี่ปุ่น ในชื่อ Kyachiappu-kata Kōgyōka Ron: Ajia Keizai no Kiseki to Tenbō ในปี 2000 ต่อมาถูกแปลเป็นหนังสือภาษาอังกฤษในปี 2008 ในชื่อ Catch-up Industrialization The Trajectory and Prospects of East Asian Economies โดย Tom Gill เพื่อเป็นตำราเรียนในระดับบัณฑิตศึกษา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว และมหาวิทยาลัยทั่วโลกที่สนใจด้านเอเชียศึกษา (Asian Studies)

ด้วยการสนับสนุนจากศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน คุณชัยธวัช ตุลาธน และคุณธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ ได้ทราบข่าว จึงมีความสนใจที่จะจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ถ้าแปลเป็นภาษาไทย ต่อมาได้ชักชวนให้รองศาสตราจารย์ ดร. นิภาพร รัชตพัฒนากุล จากสาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นแปลและร้อยเรียงพร้อมกับคณาจารย์อีก 3 ท่าน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. สุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยวรรณ อัศวราชันย์ จากสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์สุภา ปัทมานันท์ ผู้เชี่ยวชาญประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีผลงานเขียนประจำใน มติชนสุดสัปดาห์ ต้นฉบับที่แปลเสร็จเรียบร้อยส่งถึงมือบรรณาธิการแปล รองศาสตราจารย์ ดร. เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครั้งแรกเมื่อปี 2006 ซึ่งได้เรียนหนังสือเล่มนี้กับอาจารย์ซุเอะฮิโระ สมัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก หลังจากตรวจทานงานแปลเสร็จ ต้นฉบับก็ถูกเก็บไว้เป็นเวลาหลายปี

ในปี 2019 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ติดต่อมาทางบรรณาธิการแปลอีกครั้ง ว่าผู้อ่านคนไทยให้ความสนใจในหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงต้องการจัดพิมพ์หนังสือแปลเล่มนี้ ซึ่งวิพากษ์จากมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ชาวต่างชาติที่ศึกษาค้นคว้ามานานกว่า 25 ปี บรรณาธิการแปลจึงได้ปรับปรุงเนื้อหาอีกครั้งก่อนจัดพิมพ์ ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร. แบ๊งค์ งามอรุณโชติ นักเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้ช่วยอ่านทานต้นฉบับภาษาไทย และศาสตราจารย์ ดร. อะกิระ ซุเอะฮิโระ ที่ได้ช่วยตรวจสอบต้นฉบับสุดท้าย กองบรรณาธิการที่ช่วยจัดพิมพ์อย่างประณีตและอุตสาหะ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านซึ่งไม่อาจเอ่ยนามได้ทั้งหมด

เป็นที่ทราบกันดีว่าหนังสือแปลจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยมีไม่มากนัก โดยเฉพาะหนังสือด้านเศรษฐศาสตร์เชิงลึกอย่างเล่มนี้ ซึ่งมีทฤษฎี แนวคิด และคำศัพท์ด้านเศรษฐศาสตร์ขั้นสูงซุกซ่อนอยู่ตลอดทั้งเล่ม ถักทอเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงภายใต้บริบทของประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศพัฒนาทีหลัง (latecomer) ที่แตกต่างไปจากประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ผู้อ่านอาจอ่านเทียบเล่มแปลภาษาไทยกับภาษาอังกฤษโดยตรงไม่ได้เสียทีเดียวนัก เนื่องจากคุณ Tom Gill ผู้แปลเล่มภาษาอังกฤษได้ขยายความเนื้อหาบางตอนเพื่อผู้อ่านชาวตะวันตก รวมทั้งเชิงอรรถและบรรณานุกรม ซึ่งมีส่วนที่แตกต่างไปจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเล่มแปลภาษาไทยนี้ก็ได้มีการสอดแทรกคำอธิบาย ที่มาของคำศัพท์ต่างๆ ไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านคนไทยที่ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านเศรษฐศาสตร์มาก่อนด้วยเช่นกัน โดยจะใส่ในวงเล็บปีกกาว่า [ผู้แปล] ซึ่งหมายถึงเพิ่มเติมโดยผู้แปลเอง

ถ้าผู้อ่านได้อ่านบทที่ 10 เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ต่อการพัฒนา ผู้อ่านจะตระหนักซึ้งดีว่า หนังสือแปลนั้นมีคุณค่ายิ่งยวดเพียงไร ความรู้ที่ถ่ายทอดจากหนังสือแปล ก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญวิธีหนึ่ง ใครก็ตามที่คุ้นเคยกับญี่ปุ่นจะรู้ดีว่า ญี่ปุ่นแปลงานเขียนคุณภาพดีทุกเล่มที่วางขายอยู่ในร้านหนังสือของประเทศตะวันตก แม้คนญี่ปุ่นจะไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษมากนัก แต่ความเป็นนักอ่านตัวยง ทำให้คนญี่ปุ่นมีองค์ความรู้ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศตะวันตกแต่อย่างใด

คณะผู้แปลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านที่สนใจด้านเอเชียศึกษา โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทย ด้วยเนื้อหาที่อัดแน่นเปี่ยมล้น ผู้อ่านจะรู้สึกเต็มอิ่ม เบิกบานใจและเจริญปัญญา พร้อมทั้งจุดประกายต่อยอดการเรียนรู้ การวิจัย ในสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองของการพัฒนาเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์ทางการเงินเอเชีย 1997 ลัทธิการพัฒนากับเผด็จการการพัฒนา นโยบายอุตสาหกรรม ประวัติศาสตร์ธุรกิจของกลุ่มทุน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาระบบการศึกษาและแรงงานสัมพันธ์ รวมถึงเส้นทางหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางในอนาคต

แม้จะซับซ้อนและอ่านยากสักเล็กน้อย แต่ก็ไม่เกินความสามารถของคนไทยรุ่นใหม่ ที่ต้องการค้นหาคำตอบว่า เป็นเพราะเหตุใดเราถึงมายืนอยู่ในจุดนี้ และกระตุ้นความคิดที่ว่าประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ในเอเชีย ควรมองไปข้างหน้าและเดินต่อไปอย่างไร อย่าเอาแต่ก้มหน้าก้มตาวิ่ง “ไล่กวด” และ “ไล่แซง” ให้ทันประเทศพัฒนาเท่านั้น ต้องไม่ลืมกอดความปรารถนาที่จะกินดีอยู่ดีในสังคมที่แบ่งปันอย่างยั่งยืน ให้ได้ตามเจตนารมณ์ของผู้เขียนและผู้บุกเบิก “ทฤษฎีการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด…”

คณะผู้แปล

มีนาคม 2022

ทดลองอ่าน