Sale 5%

ประชาธิปไตยใส่ชฎา

ปกแข็ง 475.00 บาทปกอ่อน 380.00 บาท

หมายเหตุ

  • หนังสือพร้อมจัดส่งวันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป หากสั่งซื้อหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย ทางสำนักพิมพ์ขอส่งพร้อมกัน
รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

เกษียร เตชะพีระ

จำนวนหน้า

360

ปีที่พิมพ์

2568

ISBN ปกอ่อน

9786169430391

ISBN ปกแข็ง

9786169430384

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

ภาค 1 เทศ/ไทย บนประชาธิปไตยหลากฉากทัศน์

บทที่ 1    การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยประชาธิปไตย : บทนำเปรียบเทียบเชิงทฤษฎี

บทที่ 2    ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน : ย้อนอ่าน 30 ปี 14 ตุลาฯ

บทที่ 3    ปัญหาของประชาธิปไตย    37

บทที่ 4    จากจุดกำเนิดเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทุนนิยมเหลื่อมล้ำของ คสช.

บทที่ 5    สาเหตุที่ “เสรีนิยม” โตยากในเมืองไทย

บทที่ 6    รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย-สันติวิธี

ภาค 2 ทางแพร่งของประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

บทที่ 7    ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : ที่มาและที่ไป

บทที่ 8    จากระบอบทักษิณสู่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 : วิกฤตประชาธิปไตยไทย

บทที่ 9    ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์ : ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย

บทที่ 10 สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ : สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

บทที่ 11 สังคมไทยในความเสื่อมแห่งอาญาสิทธิ์ของราชาชาตินิยม

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

คำนำบรรณาธิการ

…ประชาธิปไตยไม่ได้ต้องตายตัว ไม่ว่าคุณจะชอบหรือชัง คนที่หยิบประชาธิปไตย ไปใช้ มันก็ใช้เพื่อประโยชน์ของมัน ผมว่ามันมันส์กว่าที่จะดูว่าคนจะเอาไปใช้ยังไง ตราบที่ยังมีคนเอาไปใช้มันก็ยังมีพลัง ถ้ามันเป็นของเปลี้ยไม่มีพลัง คนไม่เอามันไปใช้หรอก … ประชาธิปไตยที่กลับไปหาตำราตะวันตกที่ต้องมีคำตอบ 10 ข้อ แล้วก็ต้องทำให้ได้ 10 ข้อนั้น คุณอย่าออกจาก 10 ข้อนี้นะ ถ้าออกจาก 10 ข้อนี้ คุณเหี้ยคุณไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างนี้มันง่าย คุณจะนั่งเรียนทำหอกอะไร คุณก็แจก 10 ข้อนี้ไปทั่วโลก นั่งท่อง ผมไม่เชื่อ ผมรู้สึกว่าพอมันหลุดมือจากไอ้เหี้ยล็อก ไอ้ห่ารูสโซ คนข้างหลังที่มีชีวิตและคิดเป็นเขาก็ยำมันเอาไปรับใช้ผลประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะหน้าของเขา…

เนื้อหาตอนหนึ่งในการบรรยายของเกษียร เตชะพีระ เรื่อง “วิเคราะห์สังคมไทย : ความเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองและวัฒนธรรม” จัดโดยโรงเรียนนักข่าว TCIJ โดยการสนับสนุนของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) เมื่อปลายปี 2558 สะท้อนความคงเส้นคงวาของเขาต่อมุมมองการหยิบใช้ “ประชาธิปไตย” เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ต่อรองของกลุ่มก้อนตัวแสดงต่างๆ หากพิจารณาตั้งแต่บทที่ 1 ของหนังสือเล่มนี้ คือ “การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยประชาธิปไตย : บทนำเปรียบเทียบเชิงทฤษฎี” ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2537 ทั้งยังกล่าวได้ว่าเสมือนเป็นข้อเขียนวิชาการที่เปิดตัวเกษียรในฐานะนักรัฐศาสตร์ไฟแรงผู้ครุ่นคิดจริงจังกับวิธีวิทยา “การเมืองวัฒนธรรม” (cultural politics) ก่อนที่สิ่งนี้จะถูกนำมาคิดต่อขยายความเพิ่มเติมโดยนักวิชาการรุ่นต่อมา[1]

ประชาธิปไตยใส่ชฎา: จากเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทางแพร่งแห่งอำนาจนำ เป็นหนังสือรวมบทความวิชาการ งานวิจัย การบรรยาย ตลอดจนบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ ดร. เกษียร เตชะพีระ ในช่วงเวลาเกือบ 4 ทศวรรษ (พ.ศ. 2531–2566) ทั้งนี้ เจ้าตัวระบุเปรียบเปรยไว้ในคำนำผู้เขียน โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “แผนที่การคิดสี่ทศวรรษ” แน่นอนว่าแผนที่การคิดนี้ หาใช่แค่การเห็นวิธีวิทยาหรือการทำงานวิชาการของเกษียรแต่เพียงอย่างเดียว หากยังเป็นบทวิเคราะห์ที่สัมพันธ์โดยตรงกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยนับแต่ทศวรรษ 2530–2560 ยึดโยงกับเหตุการณ์ที่เป็นจุดพลิกจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ทั้งพฤษภาประชาธรรม 2535, รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย คปค./คมช., รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ตลอดจนปรากฏการณ์สำคัญของสังคมการเมืองไทย อาทิ กระแสสูงของ “พระราช­อำนาจนำ” (royal hegemony) หลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ที่ท้ายสุดปะทะขัดแย้งกับ “ระบอบทักษิณ” ก่อนที่พระราชอำนาจนำจะเคลื่อนคลายลงในทศวรรษ 2550 พร้อมๆ กับปรากฏการณ์การเมืองสีเสื้อ “เหลือง” vs “แดง” ต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนผ่านรัชกาล (2559) ที่ชนชั้นนำไทยต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความเปลี่ยนแปลง ทั้งจากสภาวะ “ทางแพร่งแห่งอำนาจนำ” ที่พวกเขายังแก้ไม่ตก ทั้งจากตัวแสดงทางการเมืองหน้าใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย ปฏิกิริยาต่อต้าน ไม่สมยอมของ “ม็อบราษฎร” (2563) ที่ไม่อินังขังขอบกับอารมณ์ความรู้สึกทางการเมืองชุดเดิมและลุกขึ้นมาตั้งคำถามท้าทาย ตลอดจนการขยับท่าทีของชนชั้นนำไทยที่ดูจะยิ่งถอยห่างจากประชาธิปไตยจนยากที่จะหาคำนิยาม ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับการช่วงชิงประชาธิปไตย ที่ ณ ปัจจุบัน (2568) สภาวการณ์นี้ก็ยังฝุ่นตลบไม่แล้วเสร็จ

หากพิจารณาประเด็นการช่วงชิงประชาธิปไตย ประโยคสำคัญ “ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน” คือภาพสะท้อนการปรากฏตัวของ “ภาคประชาชน” หรือประชาสังคมในช่วงทศวรรษ 2530 ที่มีตัวแสดงสำคัญคือ “ชนชั้นกลางกระฎุมพี” ทั้งนี้ สำหรับเกษียร ควรกล่าวด้วยว่าตลอดระยะเวลาการทำงานวิชาการ ข้อเขียนของเขาทั้งหมดล้วนมี “ออเดี้ยน” (audience) ผู้อ่านที่เป็นชนชั้นกลาง ขณะที่กลิ่นอายในงานเขียนยุคนี้ของเกษียรยังสะท้อนพันธกิจชี้ชวนปลุกพลังชนชั้นกลางให้ตระหนักรู้ในการสร้าง “อำนาจนำ” เพื่อช่วงชิงประชาธิปไตยจาก “รัฐราชการ” และ “ทุน” โดยร่วมมือกับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ ณ จังหวะเวลาที่โชติช่วงชัชวาลที่สุดของชนชั้นกลางกระฎุมพีไทย

แม้ความคิดความฝันของเกษียรที่คาดหวังให้ชนชั้นกลางสร้างอำนาจนำต้องกลายเป็นหมัน ด้วยเพราะขอบฟ้าสังคมการเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 มีเพียงโลกาภิวัตน์ที่พังพาบไม่เป็นท่าจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 กับพระราชอำนาจนำที่ขึ้นสู่กระแสสูง อันส่งผลให้ “ประชาธิปไตยใส่ชฎา” ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในสังคมการเมืองไทยภายใต้ “ฉันทมติภูมิพล” กระนั้น เกษียรยังคงมีความปรารถนาดีต่อการต่อสู้เพื่อช่วงชิงประชาธิปไตยของชนชั้นกลางกระฎุมพีไทยไม่เสื่อมคลาย ดังในการต่อสู้ครั้งหลังสุดของ “ม็อบราษฎร” 2563 โดยหากนำเหตุการณ์นี้มาพินิจพิเคราะห์กับสถานการณ์สากลในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมไปสู่ “เสรีประชาธิปไตย” ณ ห้วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (นับจากปี 2548) ข้อแนะนำของเกษียรคือ ความรุนแรงเป็นสิ่งที่พึงหลีกเลี่ยง การต่อสู้สามารถยืนหยัดด้วยหลักการ “สันติวิธี” เขาพยายามชี้ชวนยืนยันเพื่อให้เห็นว่า ประชาธิปไตยของประเทศส่วนใหญ่ได้มาโดยสันติวิธี

ไม่เพียงแต่เรื่องสังคมการเมืองไทย ประชาธิปไตยใส่ชฎา ยังฉายภาพมุมมองประวัติศาสตร์มหภาคเปรียบเทียบ (comparative macro historical approach) อันเป็นวิธีวิทยาในการทำงานของเกษียรโดยแท้ ทั้งนี้ ภายหลังสิ้นสุดสงครามเย็น ดูเหมือนแนวคิด “เสรีนิยมประชาธิปไตย” (liberal democracy) ได้แผ่ขยายไปทั่วโลก งานเขียน The End of History and the Last Man (1992) ของฟรานซิส ฟูกูยามา (Francis Fukuyama) นักรัฐศาสตร์เรืองนาม ถึงกับพยากรณ์ว่าจากนี้ไป “เสรีนิยมประชาธิปไตย” แบบอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตกคือจุดสูงสุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ครั้นหวนกลับมามองสังคมการเมืองไทยในช่วงเดียวกัน นี่เองคือช่วงสมัยอันรุ่งโรจน์ของชนชั้นกลางกระฎุมพีไทยภายหลังเหตุการณ์พฤษภาฯ2535 กระนั้น “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ที่น่าจะเป็นอนาคตอันหอมหวานของบรรดาชนชั้นกลางกระฎุมพีทั้งโลกรวมทั้งไทยกลับไม่เป็นดังหวัง เมื่อสองสิ่งนี้ “เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” ค่อยๆ ถูกฉีกขาดห่างจากกัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้หากแม้นในสังคมการเมืองไทยนับเป็นปัญหาใหญ่ ก็ควรต้องกล่าวด้วยว่าประชาธิปไตยในโลกสากลตะวันตกก็ตกอยู่ในอาการร่อแร่ทั้งอาจหนักหน่วงยิ่งกว่า

มุมมองประวัติศาสตร์มหภาคเปรียบเทียบของเกษียรยังได้พาผู้อ่านหวนกลับไปทำความเข้าใจรากเหง้าที่มาของแนวคิด “เสรีนิยม” กับ “ประชาธิปไตย” ในโลกตะวันตก ซึ่งแท้จริงแล้วสองสิ่งนี้มีความต่างมากกว่าความเหมือน เมื่อ “เสรีนิยม” คือหลักประกันสิทธิเสรีภาพเหนือชีวิต ทรัพย์สินของชนชั้นกลางกระฎุมพี จากการกดขี่บีฑาของอำนาจที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ ผู้นำเผด็จการ กระทั่งรัฐบาล ขณะที่ “ประชาธิปไตย” โอบรับความเสมอภาคเท่าเทียมของมหาชนภายใต้หลักการ “เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข” บนข้อเท็จจริงนี้ เกษียรชวนผู้อ่านกลับมายังเมืองไทยและชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างจากมูลฐานระหว่าง “เสื้อเหลือง—เสรีนิยม” vs. “เสื้อแดง—ประชาธิปไตย” พร้อมกันนี้ ภายใต้เกมการเมืองวัฒนธรรม “เสรีนิยม” ที่เมื่อข้ามผ่านมาสู่สังคมวัฒนธรรมไทย สิ่งนี้ก็ถูกเปลี่ยนร่างแปลงกายเป็น “เสรีนิยมรอยัลลิสต์” ขณะที่ “ประชาธิปไตย” ก็ถูกแต่งองค์ทรงเครื่องเป็น “ประชาธิปไตยใส่ชฎา” เป็น “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ดังที่เราๆ ท่านๆ ต่างคุ้นชิน แต่แน่นอน ณ ปัจจุบัน สิ่งเหล่านี้กำลังถูกตั้งคำถาม

ในแง่ประโยชน์สำหรับผู้อ่าน กล่าวได้ว่า ประชาธิปไตยใส่ชฎา สามารถถูกอ่านเพื่อทำความเข้าใจประเด็นปัญหาการช่วงชิงประชาธิปไตยไทย ทั้งในแง่พัฒนาการของสถานการณ์ บางบทผู้อ่านสามารถเห็นระลอกแห่งความขัดแย้ง การต่อสู้ประนีประนอม จุดพลิกจุดเปลี่ยน ความคลี่คลาย ตลอดจนเห็นบทบาทของกลุ่มก้อนตัวแสดงที่หลายหลากในประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาจนถึงประวัติศาสตร์ยุคใกล้ขณะเดียวกันแทบทุกบทของ ประชาธิปไตยใส่ชฎา ก็อุดมไปด้วยแนวคิดร่วมสมัยที่ใช้วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในห้วง 4 ทศวรรษได้อย่างผาดโผนพลิกแพลงไม่ว่าจะเป็น การเมืองวัฒนธรรม (cultural politics)เสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democracy)การเปลี่ยนย้ายอำนาจ (power shift)พระราชอำนาจนำ (royal hegemony)[2]เครือข่ายในหลวง (network monarchy)[3]รัฐพันลึก (deep state)[4]ฉันทมติภูมิพล (Bhumibol consensus)[5] monarchised military[6] ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกพิจารณาผ่านแว่นมุมมองการสังเคราะห์หยิบใช้แนวคิดต่างๆโดยเกษียรได้อย่างแหลม

 

อาสา คำภา


[1] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ, การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ/วาทกรรม/อำนาจ (นนทบุรี :ฟ้าเดียวกัน, 2558) ; และ ประจักษ์ ก้องกีรติ, ประชาธิปไตย หลากความหมาย หลายรูปแบบ (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2563).

[2] ดู ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำ (พ.ศ. 2494–2546)” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547).

[3] ดู Duncan McCargo, “Network monarchy and legitimacy crises in Thailand,” Pacific Review 18, 4 (December 2005) : 499–519.

[4] ดู Eugénie Mérieau, “Thailand’s Deep State, Royal Power and the Constitutional Court (1997–2015),” Journal of Contemporary Asia 46, 3 (2016) : 445–66. พากย์ไทย ดู เออเจนี เมริโอ, “รัฐเร้นลึกในไทย พระราชอำนาจ และศาลรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2540–2558),” ฟ้าเดียวกัน 14, 1 (มกราคม–เมษายน2559) : 13–46.

[5] ดู เกษียร เตชะพีระ, “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง,” มติชนสุดสัปดาห์, 23–29 มิถุนายน 2560.

[6] ดู Paul Chambers and Napisa Waitoolkiat, “The Resilience of Monarchised Military in Thailand,” Journal of Contemporary Asia 46, 3 (2016) : 425–44.

คำนำผู้เขียน

แผนที่การคิดสี่ทศวรรษ

หนังสือเล่มนี้รวมข้อเขียนทั้งที่เป็นคอลัมน์นิตยสาร บทความวิชาการ งานวิจัยและคำอภิปราย คำบรรยาย คำสัมภาษณ์ของผม 11 ชิ้นในประเด็นปัญหาประชาธิปไตยของเมืองไทยในช่วงเวลาเกือบสี่ทศวรรษ (2531–2566) โดยบรรณาธิการเล่มเป็นผู้รวบรวมคัดสรรผ่านการหารือกับผมซึ่งทำงานทั้งในทางวิชาการและสื่อสาธารณะตลอดมา งานส่วนใหญ่ในเล่ม (8 ชิ้น) รวมศูนย์แวดล้อมสถานการณ์ความพลิกผันปั่นป่วนขัดแย้งใหญ่ทางการเมืองซึ่งเกิดสืบเนื่องกันในช่วงราวสองทศวรรษหลัง เมื่อทางสำนักพิมพ์ส่งต้นฉบับพิมพ์ก่อนเข้าเล่ม (galley proof) มาให้ผมดู นอกจากถือโอกาสอาสาช่วยตรวจปรู๊ฟแรกให้แล้ว ผมก็ได้อ่านคิดทบทวนหลักหมายใหญ่ๆ ของเส้นทางการคิดเรื่องประชาธิปไตยไทยของตัวเองในรอบสี่ทศวรรษไปด้วย และก็เลยอยากบันทึกข้อสังเกตเกี่ยวกับเค้าโครงเส้นทางการคิดนี้ไว้ในคำนำเพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านผู้สนใจในการขบคิดค้นคว้าเรื่องประชาธิปไตยไทยต่อไปข้างหน้า

หนแรกที่ผมประสบสนใจการเมืองจริงจังคือเมื่อได้รับชมรับฟังประกาศคณะปฏิวัติทางทีวีของจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะที่ทำการ “ปฏิวัติตัวเอง” เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 เท่าที่จำได้ ความเข้าใจประสาวัยเด็กแรกรุ่นก็คล้อยตามข้อวิจารณ์ในคอลัมน์หน้า 5 หนังสือพิมพ์ สยามรัฐของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนสาธารณะเสรี-อนุรักษนิยมผู้ทรงอิทธิพลสูงสมัยนั้น คือไม่ค่อยเห็นด้วยกับการยึดอำนาจของทหาร แต่ก็ไม่ได้เข้าใจอะไรลึกไปกว่านั้น[1]

ความผิวเผินไร้เดียงสาดังกล่าวมาเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนต่อต้านเผด็จการทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 และได้เข้าเรียนธรรมศาสตร์ปี 1 ในปี 2518 ผมได้รับกระแสอิทธิพลความคิดลัทธิมาร์กซ-เหมาเจ๋อตง และเข้าร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรมนักศึกษาอย่างเต็มที่อยู่ร่วมสองปีก่อนจะถูกปราบปรามกดดันเข้าป่าไปหลังการฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ความเข้าใจประชา­­­ธิปไตยก็อยู่ในกรอบลัทธิมาร์กซ-สังคมนิยม คือมองจากมุมชนชั้น เน้นเนื้อหาสาระด้านอำนาจของชนชั้นกรรมกร-ชาวนาผู้ใช้แรงงานเป็นหลัก เน้นความเสมอภาคทางเศรษฐกิจบนฐานสิทธิผู้ใช้แรงงาน ไม่เห็นค่าความสำคัญของสิทธิเสรีภาพปัจเจกบุคคลแบบ “กระฎุมพี” ในตัวมันเอง รวมทั้งมองข้ามแง่มุมรูปแบบ/กระบวนการและกลไกกฎหมาย/สถาบันของระบอบเสรีประชาธิปไตย[2]

ประสบการณ์ป่าแตกและความล่มสลายพ่ายแพ้ของการปฏิวัติด้วยกำลังอาวุธในชนบทใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในราวกลางพุทธทศวรรษที่ 2520 เป็นต้นมา เป็นจังหวะและโอกาสให้ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” รุ่นผมได้รื้อคิดทบทวนความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยที่มีมาแต่เดิม การได้ไปเรียนต่อปริญญาโท-เอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐฯ ช่วยให้ผมได้เรียนรู้เข้าใจรากเหง้าที่มาและการคลี่คลายขยายตัวของความคิดเสรีนิยมกับประชาธิปไตยของอารยธรรมตะวันตกอย่างเป็นระบบกว่าที่เคย

ขณะเดียวกันมันก็สะกิดให้ผมเห็นปมปัญหาการแผ่ขยายความคิดการเมืองหนึ่งๆ ข้ามชาติข้ามภาษา ข้ามวัฒนธรรมข้ามสังคมด้วยว่ามันไม่ได้เป็นไปอย่างง่ายๆ ทื่อๆ ตรงๆ หากยอกย้อนสลับซับซ้อน จนในที่สุดความคิดที่ถูกถอนรากมาหว่านปลูกใหม่ในเนื้อดินสังคมตลาดภาษาวัฒนธรรมที่ต่างออกไปโดยปัญญาชนผู้มีภูมิหลังและประสบการณ์แตกต่างไป ย่อมต้องถูกแปลและแปรเปลี่ยนพลิกผันไปได้อย่างเหนือความคาดหมาย ขึ้นอยู่กับเกมการเมืองวัฒนธรรมของการต่อสู้แย่งชิงแปรเปลี่ยนกำหนดความหมายของ [คำ-ความ-สิ่งของ-การปฏิบัติ] เหล่านั้น ในกรอบอุปสงค์อุปทานของตลาด รวมทั้งไวยากรณ์ทางภาษา-วัฒนธรรมหรือแม้แต่ฉันทลักษณ์ของสังคมผู้รับที่กำกับกำหนดอยู่ จนบ่อยครั้งมันกลายเป็นเรื่องของ [คำล่องลอย-ความหลากหลาย-ของทดแทน-การปฏิบัติลักลั่น] (floating signifiers-multiple signifieds-substituted referents-incongruous practices] ไปเป็นนิจศีล

ผมเลือกทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องการเมืองวัฒนธรรมของกระบวนการรับลัทธิมาร์กซิสต์-คอมมิวนิสต์มาแปล/แปรโดยปัญญาชนฝ่ายซ้ายรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สองในสังคมภาษาวัฒนธรรมไทยบนพื้นฐานความเข้าใจดังกล่าว[3] และเมื่อกลับมาสอนหนังสือที่ธรรมศาสตร์และเขียนคอลัมน์ในสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับต่างๆ ในจังหวะประจวบกับการลุกฮือต่อต้านเผด็จการทหารของคนชั้นกลาง-คนชั้นล่างเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ผมก็ได้ใช้ฐานคิดความเข้าใจเรื่องการเมืองวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้กับการคิดและเคลื่อนไหวผลักดันประชาธิปไตยไทยด้วยเช่นกัน[4]

สถานการณ์การเมืองในประเทศของการปฏิรูปการเมืองและรัฐบาลทักษิณ ณ พรรคไทยรักไทยหลังจากนั้น จนกลายมาเป็นช่วงอภิมหาโกลาหลของสงครามเสื้อสี รัฐประหาร เผด็จการและการปราบปรามมวลชนครั้งใหญ่หลายรอบโสดหนึ่ง

ประจวบกับสถานการณ์เศรษฐกิจสากลของกระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่ วิกฤตต้มยำกุ้ง จีเมริกา (Chimerica) วิกฤตซับไพรม์-เศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก การผงาดขึ้นของจีน สงครามการค้าและสงครามเย็นรอบใหม่ในปัจจุบันอีกโสดหนึ่ง

เหล่านี้ผลักดันให้ผมขยับขยายมุมมองไปสู่การค้นคว้าศึกษาเศรษฐกิจการเมืองเปรียบเทียบระหว่างความผกผันเปลี่ยนแปรของประชาธิปไตยไทยกับปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไม่เสรี (illiberal democracy)[5] และประชาธิปไตยไส้กลวงหรือประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน (hollowed-out democracy or democracy without a demos)[6] ของตะวันตก ผลกระทบและนัยสืบเนื่องที่พลิกผันแตกต่างกันไปของแนวนโยบายเสรีนิยมใหม่กับการเมืองประชานิยมต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศทุนนิยมก้าวหน้ากับทุนนิยมตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย[7] ที่นำเรามาสู่สถานการณ์ประชาธิปไตยสองใบอนุญาตในปัจจุบัน[8]

ในระหว่างดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยไทยไปพลาง ค้นคิดกับมันไปพลาง ผมได้ประโยชน์จากการเปรียบเทียบ/วิวาทะ/แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนักคิดนักวิชาการผู้สนใจวิเคราะห์วิจารณ์ปัญหาทำนองเดียวกันหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหายร่วมรุ่นสองคนได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล และอาจารย์ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตามที ผมคิดว่าเอาเข้าจริงผมได้เรียนรู้จากสหายเหล่านี้มากกว่าที่ผมตั้งใจและบางคนเข้าใจด้วยซ้ำไป[9]

สุดท้ายนี้ผมขอขอบคุณคุณอาสา คำภา แห่งสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กรุณาลงเรี่ยวแรงกำลังความคิด อ่านรวบรวมคัดสรรจัดเรียงต้นฉบับหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอย่างเป็นระบบจากงานเขียนจำนวนมากของผม ขอขอบคุณคุณธนาพล อิ๋วสกุล แห่งสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ยืนหยัดทำโครงการนานปีนี้ไม่เลิกราจนสัมฤทธิผล และขอขอบคุณครูบาอาจารย์ มิตรสหายและนักศึกษามากมายทั้งผู้ยังอยู่และผู้จากไปแล้วที่มีส่วนตะล่อมกล่อมเกลาความคิดอ่านของผมเกี่ยวกับประชาธิปไตยไทยในหลายสิบปีที่ผ่านมา คุณประโยชน์ใดที่หนังสือเล่มนี้อาจมี ผมขออุทิศแด่ท่านผู้จากไปแล้วเหล่านั้นในฐานะผู้กรุยทางและผู้ร่วมเดินแสวงหาประชาธิปไตยไทย

 

เกษียร เตชะพีระ


[1] ดู ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, เนื้อในระบอบถนอม : ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร พ.ศ. 2506–2516 (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2566), บทที่ 9 ระบอบเผด็จการทหารสมบูรณา­-­ญาสิทธิ์ : การรักษาอำนาจทางการเมืองในช่วงสุดท้ายของจอมพลถนอม โดยเฉพาะหน้า 283–84, 360, 476–77.

[2] เกษียร เตชะพีระ, “แนวคิดเรื่องเสรีนิยมกับประชาธิปไตย,” ใน การเมือง อำนาจ ความรู้ : หลักรัฐศาสตร์เบื้องต้นสำนักธรรมศาสตร์, บ.ก. ประจักษ์ ก้องกีรติ (กรุงเทพฯ : คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ & ศยาม, 2564), 95–96.

[3] แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1992 และต่อมาปรับปรุงพิมพ์เป็นหนังสือ Kasian Tejapira, Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927–1958 (Kyoto : Kyoto University Press and Trans Pacific Press, 2001).

[4] ดูบทที่ 1 “การเมืองวัฒนธรรมว่าด้วยประชาธิปไตย : บทนำเปรียบเทียบเชิงทฤษฎี” และบทที่ 2 “ประชาธิปไตยของประชาชนต้องเป็นอิสระจากรัฐและทุน : ย้อนอ่าน 30 ปี 14 ตุลาฯ” ในหนังสือเล่มนี้

[5] Fareed Zakaria, The Future of Freedom : Illiberal Democracy at Home and Abroad (New York and London : W. W. Norton & Company, 2003).

[6] Peter Mair, Ruling the Void : The Hollowing of Western Democracy (London and New York : Verso, 2013).

[7] ดูบทที่ 4 “จากจุดกำเนิดเสรีนิยมประชาธิปไตยถึงทุนนิยมเหลื่อมล้ำของ คสช.” และบทที่ 5 “สาเหตุที่ ‘เสรีนิยม’ โตยากในเมืองไทย” ในหนังสือเล่มนี้

[8] ดูบทความชุด “ฐานคติสองใบอนุญาต” 3 ตอนจบใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 6, 13, 20 ของเดือนธันวาคม 2567

[9] ประจักษ์พยานคือบทที่ 7–10 ของหนังสือเล่มนี้ กล่าวได้ว่าหากไม่ได้สานเสวนาโดยตรงและโดยอ้อมกับพวกเขาแล้ว งานทั้ง 4 บทคงไม่ได้ออกมาในลักษณะนี้

ทดลองอ่าน