สารบัญ
บทบรรณาธิการ
หาเรื่องมาเล่า
องค์รวม/องค์ขาด/องค์อนันต์
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
สภาประชาชน
การแพทย์เชิงชาติพันธุ์
ทัศนะวิพากษ์
เศรษฐทรรศน์วิพากษ์พุทธเศรษฐศาสตร์
กองบรรณาธิการ
การเมืองเรื่อง “ความจริงแท้” ทางวัฒนธรรม บทสำรวจเชิงทฤษฎี
ประวิตร โรจนพฤกษ์
ประวัติศาสตร์ตัดตอน : บทสำรวจทัศนะ/ องค์ความรู้ของไทยต่อเพื่อนบ้าน
กองบรรณาธิการ
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
สากล
ขอบฟ้าความคิด
เหลียวหลัง แลหน้า เวทีสังคมโลก
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
มนุษยภาพ
MST ขบวนการแรงงานไร้ที่ดินในชนบทของบราซิล
ประภาส ปิ่นตบแต่ง
Art&Earth
ร่องรอยของ ‘ความจริง’ ในภาพถ่าย
วีรพา อังกูรทัศนียรัตน์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
ประวัติ พคท. ฉบับ พคท (2)
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
คำสนทนาสุดท้ายของวิรัช อังคถาวร ในวารสารวิชาการเล่มแรกของ พคท.
ชัยธวัช ตุลาฑล
คำสนทนาเกี่ยวกับลักษณะสังคมไทย
ธ. เพียรวิทยา
บทบรรณาธิการ
ญัตติสาธารณะ
การดำรงอยู่อย่าง “เข้มแข็ง” ของรัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในรอบ2 ปีเศษที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ปรากฏการณ์ที่รัฐบาลสมัยปัจจุบันสามารถขยายตัวเข้ายึดกุมในเกือบทุกองคาพยพของสังคมไทยเด่นชัดขึ้นเรื่อย ๆ เด่นชัดจนนิธิ เอียวศรีวงศ์ถึงกับบอกว่า “ประเด็นสาธารณะที่ครอบคลุมสังคมไทยอยู่ในเวลาสองปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นประเด็นที่ท่านนายกฯ ผลิตขึ้นทั้งนั้น”
สภาพการณ์ดังกล่าว น่าจะชวนให้เราย้อนกลับตั้งคำถามกันมากขึ้นว่า ทำไมความหลากหลายในการกำหนด “ญัตติสาธารณะ” จึงหายไปสวนทางกับสิทธิเสรีภาพที่ (ดูเหมือนจะ) มีมากขึ้น
ขณะที่นักวิชาการซึ่งเคยเป็นผู้ผลิตญัตติสาธารณะกลุ่มหนึ่ง ต้องตกเวทีไปเช่นเดียวกับนักการเมืองฝ่ายค้าน เพราะไม่สามารถให้ข้อมูลและข้อสรุปที่มาจากการศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งเพียงพอ จะมีก็แต่การให้สัมภาษณ์ในเชิงหลักการซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ขณะเดียวกัน สื่อก็ถูกทุนครอบงำอย่างแนบเนียน อีกทั้งยังไม่มี “กึ๋น” พอที่จะติดตามการเปลี่ยนแปลงของการเมืองและสังคม และเมื่อหันมามองระดับรากหญ้า ความเคลื่อนไหวของประชาชนนั้นก็ประสบความสำเร็จแค่เรื่อง “เป็นข่าว”…
หากมองถึงความเข้มแข็งของรัฐบาลไทยรักไทย โดยผ่านความสามารถในการกำหนด “ญัตติสาธารณะ” ได้อย่างเบ็ดเสร็จ เหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความสามารถของรัฐบาลในการผลิตชุดนโยบายต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายนโยบายจะแสดง “ธาตุแท้” ของรัฐบาลออกมาเช่นนโยบายการแปรสัญญาโทรคมนาคม แต่ขณะเดียวกันนโยบายที่พยายามเข้าถึงคนเล็กคนน้อยในสังคม ไม่ว่า 30 บาท รักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, พักหนี้เกษตรกร, บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่ได้รับการตอบรับจากประชาชนในระดับที่น่าพอใจ จนทำให้นายกรัฐมนตรีถึงกับประกาศเสียงดังฟังชัดว่า “รัฐบาลผมมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทำทุกอย่างให้ประชาชน ไม่สนใจไอ้พวกตั้งชมรมบ้า ๆ บอ ๆ ขึ้นมา” เมื่อ “สภาประชาชน” ที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรภาคประชาชนต่าง ๆ ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ทำไม “การเมืองภาคประชาชน” จึงไม่สามารถเสนอ “ญัตติสาธารณะ” ที่มีพลังเพียงพอให้สังคมหันมาสนใจได้? คำตอบในทำนองว่า เพราะรัฐบาลปัจจุบันมีลักษณะอำนาจนิยมเหมือนยุคเผด็จการก่อน 14 ตุลา คงไม่เป็นประโยชน์ที่จะช่วยให้รัฐบาลหันมาฟังการเมืองภาคประชาชนมากขึ้น หรือการโยนบาปไปให้สื่อ ก็คงไม่ได้ทำให้ภาคประชาชนมีพลังเพียงพอ
ปัญหาปัจจัยภายในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน น่าจะเป็นวาระสำคัญหนึ่งให้เรามาสนทนากัน…
การมีเพียงจุดยืนทางการเมือง ที่ประกาศเสมอว่ายืนอยู่ข้างประชาชนผู้ยากไร้ โดยไม่สามารถที่จะเสนอทางออก/ทางเลือกที่ลึกซึ้งเพียงพอ และขาดปฏิบัติการทางการเมืองที่ทรงพลัง ก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “การเมืองภาคประชาชน” ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะเสนอ “ญัตติสาธารณะ” ขึ้นเทียบกับรัฐบาลไทยรักไทยได้
ความคาดหวังของเราต่อการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน อยู่ที่การยกระดับข้อเสนอ ข้อวิจารณ์ ที่ทะลุทะลวงมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหนทางที่จะไปให้ถึงจุดนั้น คงมิใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งกำหนดได้ แต่ต้องอยู่ที่บรรยากาศการดำรงอยู่ของการเมืองภาคประชาชนว่าจะเปิดโอกาสให้ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด
ฟ้าเดียวกัน เป็นผลผลิตของคนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งมุ่งมั่นที่จะนำเสนอเรื่องราวการเคลื่อนไหวทางสังคมในมิติต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็ปรารถนาจะเป็นพื้นที่สำหรับการถกเถียงแลกเปลี่ยนในประเด็นแวดล้อมทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เพราะเราตระหนักดีว่า ปัญหาที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น เป็นภาระร่วมกันของสังคม ขณะเดียวกันก็ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขปัญหา
สิ่งที่พวกเราพยามทำก็คือ การเป็นเวทีกลางในการนำเสนอ ไม่เพียงแต่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเผชิญกับรัฐบาลเท่านั้น แต่เราตระหนักว่าในสังคมไทยยังมีมายาคติอีกเป็นจำนวนมากที่เกาะแน่นกับสังคมมาช้านาน ไม่ว่าจะเปลี่ยนมากี่รัฐบาลแล้วก็ตาม ซึ่งหนทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การก้าวพ้นมายาคติได้ก็คือ การมีทัศนะที่วิพากษ์วิจารณ์
ฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2546) สำเร็จออกมาได้ก็ด้วยความร่วมมือจากจากนักเขียน วิทยากรผู้เข้าร่วมสัมมนา ผู้ให้สัมภาษณ์ ในประเด็นต่าง ๆ ตลอดจนข้อเสนอแนะที่มีคุณค่าจากหลาย ๆ ท่านภาย หลังจากได้รับวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ 1
การเปลี่ยนแปลงในฉบับนี้ จากคำแนะนำจากเพื่อนมิตร เราจึงได้เพิ่มคอลัมน์เกี่ยวกับศิลปะ/วัฒนธรรม ขึ้นมา ขณะที่คอลัมน์ “สยามพากษ์” ซึ่งเราเตรียมนำ“Studies of the Thai State: the State of Thai Studies” ของ Benedict Anderson มาแปลลงในฉบับนี้ ทางกองบรรณาธิการต้องขอยกไปไว้ในฉบับที่ 3 เนื่องจากปัญหาขนาดของบทความและขั้นตอนการบรรณาธิกร
สุดท้ายทางกองบรรณาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะได้รับคำติชมจากท่านผู้อ่านเพื่อที่จะนำมาปรับปรุงแก้ไข ฟ้าเดียวกัน ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นต่อไป