สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ปฏิกิริยา
วิวาทะว่าด้วยบทบาทของวาณิชธนกิจและทุนนิยมการเงิน
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หาเรื่องมาเล่า
หากเม้นไทยชนะ ก็จะไม่มีที่ทางสำหรับพวกคาทอลิก
คำขบวน
Fair Trade การค้าที่เป็นธรรม
ภัควดี วีระภาสพงษ์
ปีกซ้ายไร้ปีก
รัฐประหารนี้เพื่อใคร?
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
สากล
ทัศนะวิพากษ์
จตุคามรามเทพกับรัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร : ย้อนรอยขุนพันธ์และเสือฝ้ายผู้ร่าง
เวียงรัฐ เนติโพธิ์
ชุมชน : เครื่องมือใหม่เพื่อการปกครอง ?
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
สมัชชาคนจนในสายตา “คนนอก”
เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว
ส่องศิลป์
พลังของกราฟิกดีไซน์กับการให้ความหมายประชาธิปไตย
ผู้สื่อข่าวพิเศษ
งานฉลองรัฐธรรมนูญ
ชาตรี ประกิตนนทการ
ชานหนังสือ
ประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต้องจารึก
ในกระแส
กระบวนการประท้อง G8 กับขบวนการทางสังคมเยอรมนี
อำนาจกับการเคลื่อนไหวทางสังคม : บทสัมภาษณ์ จอห์น ฮอลโลเวย์
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
รายงานพิเศษ
The Corporation :บรรษัทวิปลาส
ภัควดี วีระภาสพงษ์, สฤณี อาชวานันทกุล, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
บทบรรณาธิการ
จาก “รัฐธรรมนูญจงถาวร” สู่ “รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร”
ธันวาคม พ.ศ. 2482 ณ บริเวณสวนอัมพร ผู้คนขวักไขว่ในบรรยากาศรื่นเริง อากาศเย็นสบาย ท่ามกลางซุ้มงานแสดง ออกร้าน และกิจกรรมหลากตาของทั้งหน่วยงานราชการ ทั้งเอกชน
ที่เอ่ยถึงมิใช่งานกาชาด หรืองานชุมนุมมวลชนเนื่องในวโรกาสมหามงคลของผู้ยิ่งใหญ่คนใดดังที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน เพราะเมื่อมองไปที่ซุ้มประตูทางเข้างานด้านหนึ่ง สายตาก็ปะทะเข้าอย่างจังกับตัวอักษรขนาดใหญ่ รูปลักษณ์เข้มแข็ง หนักแน่น เฉียบขาด อ่านว่า “รัฐธรรมนูญจงถาวร” ถัดไปข้างหลังมีสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่จัดวางอยู่โดดเด่น ทระนง ยอดปลายแหลมของมันที่พุ่งขึ้นสูงสู่ฟ้าชวนให้คิดถึงการอภิวัฒน์ก้าวหน้าไป ซึ่งมีนัยขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับสัญลักษณ์ของสยามเก่าที่อยู่เบื้องหลัง อันได้แก่พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระบรมรูปทรงม้า-อนุสาวรีย์กษัตริย์ผู้ทรงสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม
ที่เอ่ยถึง คืองานฉลองรัฐธรรมนูญ เป็นงานเฉลิมฉลองหลังคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ซึ่งจัดขึ้นเกือบทุกปี ยิ่งใหญ่ ทั่วประเทศ กระทั่งเลือนหายไปจากสังคมไทยเมื่อถึงกึ่งพุทธกาล เลือนหายไปพร้อมกับหมุดหมายอื่นๆ ในยุคคณะราษฎร
งานฉลองรัฐธรรมนูญนับเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองสำคัญแห่งยุคสยามใหม่ อันสะท้อนการต่อสู้ทางอุดมการณ์ระหว่างคณะราษฎรกับกลุ่มนิยมเจ้า ด้านหนึ่งเป็นความพยายามที่จะแสดงความก้าวหน้าและลงรากปักฐานระบอบรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการของผู้อภิวัฒน์ 2475 ยิ่งไปกว่านั้นในปี พ.ศ. 2482 ยังถือเป็นวาระการ “ฉลองเอกราชสมบูรณ์” ที่คณะราษฎรต่อสู้ให้ได้มาหลังการลงนามสนธิสัญญาเบาวิ่งในปี พ.ศ. 2398 อีกด้วย ซึ่งก็ยิ่งเป็นการประกาศชัยชนะของคณะราษฎรต่ออีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นปฏิกิริยาจะต่อสู้ขับเคี่ยวกันเช่นไรนั้น เชิญอ่านบทความ “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” ของชาตรี ประกิตนนทการ
นอกจากบทวิเคราะห์ว่าด้วยงานฉลองรัฐธรรมนูญแล้ว เราฟ้าเดียวกัน ยังได้รับรูปภาพประวัติศาสตร์จากชาตรีจำนวนหนึ่ง เมื่อแรกเห็นภาพซุ้มประตู “รัฐธรรมนูญจงถาวร” เราเห็นพ้องกันแทบทันใดว่า ภาพนี้ต้องขึ้นปก
“รัฐธรรมนูญ” ในคำขวัญ “รัฐธรรมนูญจงถาวร” บนซุ้มประตูทางเข้างานฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2482 นั้น ย่อมแปลกแยก-แตกต่างอย่างแน่นอนกับ “รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร” ในบทความของเวียงรัฐ เนติโพธิ์
รัฐธรรมนูญที่ผู้อภิวัฒน์ 2475 ต้องการให้ถาวรนั้น คือรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นตัวบทกฎหมายสูงสุดของประเทศ ในฐานะที่เป็นหลักสูงสุดของประเทศแทนที่กษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในฐานะอุดมการณ์และระบอบการปกครองของสยามใหม่ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรอย่างสมบูรณ์ มิใช่ของกษัตริย์อีกต่อไป
เวลาล่วงเลยมาจากการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน ถึง 75 ปี รัฐธรรมนูญในความหมายดังกล่าวไม่สามารถลงรากปักฐานได้ถาวร ซ้ำร้ายยังถูกแทนที่เบียดขับโดย “รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร” ซึ่งสำแดงเดชให้เป็นที่ประจักษ์ชัดจนฟ้าเหลืองในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์ก่อกระแสถวายคืนพระราชอำนาจ, ตุลาการภิวัตน์, รัฐประหาร 19 กันยา เพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, การเมืองภาคประชาชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้พระบรมโพธิสมภาร, ฉันทานุมัติบ้านสี่เสา ฯลฯ
การที่สังคมต้องมาหมกมุ่นอยู่กับการจัดวางอำนาจทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกันให้อยู่กันอย่าง “สมานฉันท์” เพื่อให้สอดคล้องกับ “รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร” นั้นทำให้จินตนาการในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยตนเองสูญหายไป เพราะมันทำให้เราไม่กล้าที่จะคิดถึงสังคมการเมืองที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ “รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร” ได้กำหนดไว้
ดังนั้น ปัญหาใจกลางของสังคมการเมืองไทยจึงควรจะอยู่ที่ว่า เราจะ “ฉีก” รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวรอย่างไร ไม่ใช่จะ “เขียน” รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรใหม่อย่างไร
อาจเริ่มต้นด้วยการศึกษาค้นคว้า ทำความเข้าใจ และวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมิได้มีลักษณะสถิตนิ่ง หากมีพลวัตเคลื่อนไหว
เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเองและสรุปบทเรียนว่าเราแต่ละคนมีส่วนร่วมในการผลิตซ้ำรัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวรด้วยหรือไม่ อย่างไร
เริ่มต้นวิเคราะห์ให้เห็นทั้งแนวโน้มในการรักษาสภาวะเดิมของรัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร ทั้งความเป็นไปได้ในการรื้อถอนทำลายที่เกิดจากแรงตึงเครียดและพลวัตของสังคม
เริ่มต้นฉีก “รัฐธรรมนูญฉบับโคตรมหาถาวร” เพื่อ “รัฐธรรมนูญจงถาวร”