ฟ้าเดียวกัน 3/2 : วิวาทะปฏิรูปการเมืองภาคใต้

100.00 บาท

ของหมด

รหัส: 9789749312506 หมวดหมู่:

สารบัญ

บทบรรณาธิการ

หาเรื่องมาเล่า

ภาพแทนตน ชนที่สาบสูญ

รายงานพิเศษ

“วัฒนธรรมไร้อคติ ชีวิตไร้ความรุนแรง”

กองบรรณาธิการ

สารบรรณ

ความรุนแรงกับการจัดการ “ความจริง” : ปัตตานีในรอบกึ่งศตวรรษ

ชัยวัฒน์สถาอานันท์

150 ปี สนธิสัญญาเบาว์ริง

กองบรรณาธิการ

ชานหนังสือ

กองบรรณาธิการ

ทัศนะวิพากษ์

ทักษิณเปรียบเทียบกับสฤษดิ์ไม่ได้

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ

เมื่ออนุชนรุ่นหลังคนหนึ่งได้อ่าน การเมืองระบบพ่อขุน อนุชนรุ่นหลัง

50 ปี การประหารชีวิต 17 กุมภาพันธ์ 2498

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

คำอธิบายกรณีสวรรคตของท่านชิ้น

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ความเป็นมาของปัญหาภาคใต้และทางออก

วัน กาเดร์เจ๊ะมาน

วิวาทะปฏิรูปการเมืองภาคใต้

กองบรรณาธิการ

ขอบฟ้าความคิด

พรรค รัฐ และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม

ปิยะมิตร ลีลาธรรม

หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์

มิตรไทย สื่อทางเลือกในยุครัฐบาลหอย

กองบรรณาธิการ

สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยฯ

ผู้สื่อข่าวพิเศษ

บทบรรณาธิการ

อย่าหยุดเพียง “สมานฉันท์”

หลายต่อหลายฝ่ายคงประหลาดใจไม่น้อยเมื่อนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญเปิดให้มีการอภิปรายระดมความเห็นในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรัฐสภา และคงประหลาดมากยิ่งขึ้นเมื่อท่านผู้นำเชื้อเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน (อดีตนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหารของรสช.ที่นำไปสู่การนองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535) มาทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ พร้อมกับให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยไม่รังเกียจที่บางคนจะเป็นผู้ที่ท่านผู้นำเคยแสดงอาการเกรี้ยวกราดมาก่อน

บ้างก็วิเคราะห์ว่า นี่เป็นปรากฏการณ์ที่บ่งบอกว่ารัฐบาลยอมเปลี่ยนทิศทางในการแก้ไขปัญหาภาคใต้แล้ว บ้างก็มอง ด้วยสายตาไม่ไว้วางใจว่า นี่เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมืองอันแยบยลของรัฐบาลเท่านั้น บ้างก็มองไปไกลว่า นี่เป็นการเดินหมากทางการเมืองของอำนาจเหนือรัฐบาล

สำหรับเรา-ฟ้าเดียวกัน เหตุผลที่แท้จริงของการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติจะเป็นอันใดนั้น คงไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่ากับว่า ผลของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ นั้นจะส่งผลให้เกิดอะไรบ้าง และเราจะมีส่วนผลักดันให้คณะกรรมการสมานฉันท์ฯ เป็นไปตามทิศทางที่ควรจะเป็นได้อย่างไร เราควรมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการสมานฉันท์ที่กำลังดำเนินการ เช่น กรณีการเปิดเผยผลสอบกรณีเหตุการณ์กรือเซะและ ตากใบ สังคมไม่ควรที่จะพอใจแค่ “ความโปร่งใส” ในการเปิดเผยผลสอบเท่านั้น แต่เราควรร่วมกันตรวจสอบและวิพากษ์ผลสอบต่อไปด้วย เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อแปรกระบวนการสมานฉันท์ครั้งนี้ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของสังคมไทย อย่างน้อย สังคมไทยก็ควรจะได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งว่า ความรุนแรงที่ปรากฏตัวออกมาทำร้ายพี่น้องร่วมสังคมนั้น แท้จริงแล้วเกิดจากปัญหารากเหง้าอันใด เกิดจากกลุ่มหัวรุนแรง? เกิดจากกลุ่มอิทธิพลมืด? เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐ? เกิดจากปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐ? เกิดจากการกดขี่หรือความอยุติธรรมที่สั่งสมมาแต่อดีตกาล ฯลฯ… หรือ เป็นปัญหาของระบบรัฐหรือระบอบการปกครองของไทยที่เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้วิเคราะห์ไว้ ซึ่งระบอบที่ว่านี้เรียกร้องต่อพลเมือง 2 ประเด็นคือ การมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และการเป็นรัฐศาสนาพุทธ หากบทวิเคราะห์นี้ถูกแม้แต่เพียงครึ่งเดียว เราอาจจะต้องกลับมาถามตัวเองกันไม่เพียงแต่ว่าสังคมไทยควรจะเริ่มต้นกระบวนการสมานฉันท์อย่างไร แต่อาจจะหมายถึงเราจะสมานฉันท์กันได้จริงหรือ

โจทย์ใหญ่ประการหนึ่งสำหรับคณะกรรมการสมานฉันท์คือ ถึงที่สุดแล้วเราจะสมานฉันท์ไปเพื่อเป้าหมายอะไร จะสมานฉันท์ไปเพื่อไม่ให้เกิดการ ฆ่ารายวันเสมือนย้อนเวลาไปก่อนหน้าวันที่ 4 มกราคม 2547 เท่านั้นหรือ โดยปล่อยให้รากเหง้าของปัญหาถูกซุกไว้ใต้พรมเพื่อรอเงื่อนไขให้ปัญหาปะทุขึ้นมาอีก หรือจะมุ่งหวังถึงขนาดที่จะทำให้กระบวนการสมานฉันท์ส่งผลสะเทือนไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมทางการเมืองบางอย่าง

ที่สำคัญคือ ถึงแม้จะเกิดกระบวนการสมานฉันท์ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลขึ้นมาแล้ว แต่ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภายนอกก็ไม่ควรยุติลง เพราะปัจจัยการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนประการหนึ่งคือพลังของมหาชนในพื้นที่ ดังนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการเห็นสันติสุขที่แท้จริงและยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราควรช่วยกันสนับสนุนให้ประชาชนในพื้นที่สร้างขบวนการทางสังคมของตนขึ้นมา เพื่อสร้างสังคมในแบบที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของตนอย่างแท้จริง ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ นี่อาจจะเป็นปัจจัยชี้ขาดต่ออนาคตของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้

……………..

สำหรับคนทำหนังสือกลุ่มเล็ก ๆ เช่นเรา การที่สามารถเข็นวารสาร ฟ้าเดียวกัน ออกมาได้จนขึ้นเลข 2 หลัก ดูจะเป็นสิ่งที่เกินความคาดหมาย แต่สิ่งที่ทำให้วารสารฉบับนี้ยังมีชีวิตรอดมาได้มิใช่เป็นเพียงคนทำงานในกองบรรณาธิการเท่านั้น ทว่าเรายังมีเพื่อนมิตรผู้คอยให้ความช่วยเหลือทุกครั้งที่ร้องขอ และที่สำคัญเรายังมีผู้อ่านที่ยังต้องการให้หนังสือประเภทนี้อยู่รอดได้ในสังคมไทย ฉะนั้น ตั้งแต่ ฟ้าเดียวกัน ฉบับหน้าเป็นต้นไป ทางกองบรรณาธิการขอเปิดพื้นที่เพื่อให้ผู้อ่าน ฟ้าเดียวกัน กับเราได้สื่อสารกันมากขึ้น (ดูรายละเอียดปกหลังด้านใน) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เสียงสะท้อนจากผู้อ่านจะเป็นส่วนหนุนช่วยให้มีการปรับปรุงวารสารฉบับนี้ให้มีการพัฒนาต่อไป