สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ปฏิกิริยา
หาเรื่องมาเล่า
เปิดวิทยานิพนธ์ คนไร้บ้าน
กรีดร้องแต่ไร้คนยิน
เกาะกระแสวิชาการสมัยใหม่
ทัศนะวิพากษ์
5 ปี ปฏิรูปการเมืองไทยในมุมมองเศรษฐศาสตร์
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
ทัศนะวิพากษ์เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ
กองบรรณาธิการ
เครือข่ายสลัม 4 ภาค : ประวัติศาสตร์และบทเรียน
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
ส่องสังคม
Space
แก้วเก้า พงษ์ไพบูลย์
สยามพากษ์
ศึกษารัฐไทย : วิพากษ์ไทยศึกษา
เบเนดิกท์ อาร์. โอ จี. แอนเดอร์สัน
มนุษยภาพ
ลูล่า ประธานาธิบดีแห่งชนชั้นกรรมาชีพ ?
วรางคณา รัตนรัตน์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
การวิเคราะห์ 14 ตุลา ในสถานการณ์สู้รบที่ปฏิวัติ
กองบรรณาธิการ
บันทึกรายงานสรุปผลการสัมมนา สรุป วิเคราะห์และประเมินกรณี 14 ตุลาคม 2516
บทบรรณาธิการ
อหังการแห่งอำนาจ
การอ้างความจำเป็นฉุกเฉินของคณะรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร ออกพระราชกำหนด ดูเหมือนจะกลายเป็นความเคยชินของการเมืองไทยไปเสียแล้ว เพราะนับตั้งแต่การก้าวสู่อำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 จนถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2546) รัฐบาลชุดนี้ออกพระราชกำหนดมาแล้ว 8 ฉบับ โดยแบ่งเป็นพระราชกำหนดเพื่อ “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” 6 ฉบับ และเพื่อ “ความปลอดภัยต่อสาธารณะ” อีก 2 ฉบับ
ถึงแม้เสียงทักท้วงต่อพฤติกรรมดังกล่าวจะมีเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นฟากของคณาจารย์นักกฎหมายที่เกรงว่าจะเป็น “การบิดเบือนการใช้อำนาจอันเป็นการทำลายรากฐานการปกครองในระบบนิติรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นหลักการสำคัญที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” หรือจากฟากขององค์เอกชนหลาย ๆ องค์กรที่ตั้งข้อสังเกตถึงการเอื้อประโยชน์ต่อเครือข่ายธุรกิจของนายกรัฐมนตรีและบริวาร
แต่ดูเหมือนว่าเสียงทักท้วงเหล่านี้จะไม่มีผลต่อการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ครั้นจะหวังองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจก็ดูเหมือนจะเป็นความหวังที่เลื่อนลอย เพราะนอกจากองค์กรอิสระเหล่านี้จะประพฤติตนเป็น “นักนิติอักษรศาสตร์” ในการวินิจฉัยแล้ว บรรดา “เนติบริกร” ที่มีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ ยังเป็นกระบอกเสียงในการสร้างความชอบธรรมให้กับทุก ๆ พฤติกรรมที่รัฐบาลได้แสดงออกมาอีกด้วย
แต่การจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นพฤติกรรมส่วนตัวของนักการเมือง “คิดใหม่ ทำใหม่” แต่เพียงฝ่ายเดียวก็ดูเหมือนจะเป็นการโยนความผิดไปที่ตัวบุคคลไปเสียทั้งหมดเพราะสิ่งที่หนุนเสริมให้เกิดปรากฏการณ์ “อหังการแห่งอำนาจ” นั้น เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” อยู่ไม่น้อย
ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเปิดพื้นที่ให้กับการเมืองภาคประชาชนด้วยการรับรองสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย การถอดถอนนักการเมือง สิทธิชุมชน ฯลฯ แต่ในทางปฏิบัติสิทธิเหล่านั้นยังอยู่อีกห่างไกลที่จะสัมฤทธิ์ผลได้อย่างแท้จริง เพราะนอกจากกฎหมายลูกจะไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิแล้ว ต้นทุนปฏิบัติการบางครั้งก็เกินกว่าประชาชนจะแบกรับไหว
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารเป็นอย่างมากในนาม “การสร้างภาวะผู้นำของ นายกรัฐมนตรี” เราจึงพบว่า การตรวจสอบนายกรัฐมนตรีทำได้ยากขึ้น, การเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารในการออกกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ, รัฐธรรมนูญยังมีอคติต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก ฯลฯ ยังไม่รวมทั้งการมีอคติเรื่องการศึกษาว่าคนไม่จบปริญญาตรีไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนประชาชน ทั้ง ส.ส. และ ส.ว.
แต่การจะแก้ปัญหาโดยเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นดูจะเป็นการง่ายเกินไป เพราะถึงที่สุดปรากฏการณ์ “อหังการแห่งอำนาจ” นอกจากจะมีรัฐธรรมนูญเป็นปัจจัยหนุนเสริมแล้ว กระแสความนิยมในตัวรัฐบาลอันเป็นผลมาจากการนำเสนอชุดนโยบายที่ “โดนใจ” ประชาชนก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การตอบสนองเสียงที่แตกต่างของรัฐบาลชุดนี้ยิ่งแข็งกร้าวขึ้นทุกวัน
เส้นทางสู่อหังการแห่งอำนาจ ซึ่งเป็นการนำเอาปาฐกถา “5 ปี ปฏิรูป การเมืองไทยในมุมมองเศรษฐศาสตร์” ของรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ พร้อมด้วย “ทัศนะวิพากษ์” ต่อข้อเสนอดังกล่าวจากมุมมองที่หลากหลาย จึงเป็นความพยายามหนึ่งของกองบรรณาธิการที่นำมาเสนอใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้ พร้อม ๆ กับคอลัมน์อื่น ๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากหลาย ๆ ท่าน จนวารสารราย 3 เดือนฉบับนี้ยังคงออกมาได้เป็นฉบับที่ 3 ซึ่งทางกองบรรณาธิการขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ ด้วย
อนึ่ง จากที่กองบรรณาธิการได้นำแจ้งต่อผู้อ่านว่า ฟ้าเดียวกัน ฉบับที่ 3 จะลงบทความชิ้นที่ต่อจาก“การเมืองเรื่อง ‘ความจริงแท้’ทางวัฒนธรรม” ของประวิตร โรจนพฤกษ์นั้น เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องขนาดของวารสาร จึงขอยกบทความชิ้นดังกล่าวไปไว้ในฉบับต่อไป