สารบัญ
บทบรรณาธิการ
จดหมายถึงกองบรรณาธิการ
คำขบวน
Neoliberalism ลัทธิเสรีนิยมใหม่
ภัควดี วีระภาสพงษ์
ปีกซ้ายไร้ปีก
ความจำเริญทางเศรษฐกิจประชาธิปไตย และภยาคติของชนชั้นสูง
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
เงินเดินดิน
ปัจจัยพื้นฐาน ตลาดหุ้นฟันปลาและต้นทุนของผู้ถือหุ้น
สฤณี อาชวานันทกุล
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
หาเรื่องมาเล่า
Blood Diamond :สงครามกลางเมืองในแอฟริกากับคำสาปว่าด้วยทรัพยากรธรรมชาติ
รางวัล “วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” ครั้งที่ 1 เพื่อความรู้ใหม่ว่าด้วย “คนจน”
ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนหลังรัฐประหาร 19 กันยาฯ : ว่าด้วยจิตสำนึกทางชนชั้นเสื้อแดงและกรอบโครงความคิดเสื้อเหลือง
ทัศนะวิพากษ์
ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตย และการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย
โยชิฟูมิ ทามาดะ
นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท : มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย
ประจักษ์ ก้องกีรติ
สถาบันพระมหากษัตริย์กับนโยบายต่างประเทศในไทยในยุดสงครามเย็น
สิทธิพล เครือรัฐติกาล
ตามรอยพระยุคลบาท : การเสด็จพระราชดำเนินชนบทกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์
ปราการ กลิ่นฟุ้ง
บทบรรณาธิการ
ทางแพร่งประชาธิปไตยไทย
การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติประจำปี 2551 เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้ เริ่มต้นการบรรยายวิชาการหัวข้อแรกโดย ศ.ดร. โยชิฟูมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านไทยศึกษาที่ค้นคว้าเรื่องการเมืองไทยมายาวนานนับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2520 ผลงานมีชื่อของเขาเรื่อง “อิทธิพลและอำนาจ: การเมืองไทยด้านที่ไม่เป็นทางการ” (1991 และแปลเป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2543 โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์) นับเป็นงานที่ผู้สนใจเรื่องระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยต้องอ่าน ขณะที่หนังสือเรื่อง Democratization in Thailand: Grappling with Realities –ระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย: เกาะติดกับความเป็นจริง (2003) ยังได้รับรางวัล Masayoshi Ohira Memorial เมื่อปี 2547
ในแง่หนึ่ง ช่างเป็นเรื่องน่ายินดีแกมเศร้าใจ ที่การบรรยายเปิดการประชุม “รัฐศาสตร์แห่งชาติไทย” โดยทามาดะครั้งนั้น ว่าด้วยหัวข้อเรื่อง “กระบวนการสร้างและทำลายประชาธิปไตยของการเมืองไทย” ซึ่งได้ ปรับปรุงมาเป็นบทความ “ประชาธิปไตย การทำให้เป็นประชาธิปไตย และการออกจากประชาธิปไตยของประเทศไทย” ตีพิมพ์ใน ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้ –เหลือเชื่อว่า ล่วงเลยมาถึง ณ ปัจจุบัน สังคมไทยยังต้องกลับมา ถกเถียงทำความเข้าใจกันอีกว่าประชาธิปไตยคืออะไร? การเลือกตั้งและหลักการที่ว่าประชาชนเป็นเจ้าของ อำนาจอธิปไตยเสมอกันสำคัญและจำเป็นอย่างไร? แล้วเราจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร?
อย่างไรก็ดี พลันที่เราได้รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีผู้นำกองทัพ สถาบันตุลาการ พันธมิตรเสื้อเหลือง องค์การนำภาคธุรกิจ ผู้ร่วมก่อการรัฐประหาร 19 กันยาฯ องคมนตรี และอาจจะรวมถึงสถาบันประเพณีที่ “อยู่เหนือการเมือง” คอยเป็นเสาค้ำจุนอำนาจอย่างเปิดเผย ก็เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาว่า ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงของสังคมการเมืองไทย สิ่งที่นักวิชาการจากญี่ปุ่นนำเสนอต่อที่ประชุมของนักรัฐศาสตร์ไทยด้วยความห่วงใยนั้น เป็นวาระสำคัญที่เราควรรับฟัง ไตร่ตรอง และนำไปสนทนาถกเถียงกันต่อให้กว้างขวาง
ทามาดะชวนให้เราทบทวน “พลังประชาธิปไตย” ในการเมืองไทย และตระหนักถึงการแก้ปัญหา “พลังต่อต้านประชาธิปไตย” ให้มากแทนที่จะมุ่งแก้จุดอ่อนของพลังประชาธิปไตยเพียงด้านเดียว แน่นอนเขามิได้ปกป้องประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งว่าเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ แต่เราไม่ควรโจมตีการเลือกตั้งเพื่อปฏิเสธประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่า ฝ่ายที่ปฏิเสธประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ประชาชนธรรมดา หากคือชนชั้นนำและปัญญาชน ผู้มักจะโยนบาปให้แก่ประชาชนธรรมดาว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
สอดรับกับข้อเสนอของประจักษ์ ก้องกีรติ นักรัฐศาสตร์รุ่นใหม่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่วิเคราะห์ถึงปัญหาของมายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้จากสิ่งที่เขาเรียกว่า “นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท” อันมีประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในชนบทกับ นักการเมืองเป็นผู้ร้ายที่สมคบคิดกันทำให้การเมืองไทยเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นและไร้ซึ่งศีลธรรม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โจทย์ที่ทามาดะและประจักษ์ตั้งไว้ย่อมถือเป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญประการหนึ่งบนทางแพร่งประชาธิปไตยไทย ณ ขั้นตอนปัจจุบัน
บนทางแพร่งที่ฟากหนึ่ง “การเมืองสีเหลือง” ซึ่งขับเคลื่อนโดยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นกองหน้าภายใต้พระบรมโพธิสมภาร กำลังจะรุดหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง และนำพาสังคมไทยหนีห่างจากระบอบประชาธิปไตยที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ออกไปสู่ “การเมืองใหม่” ที่มีรูปธรรมเฉพาะหน้าเป็นรัฐบาลนาย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ทว่า ท่ามกลางภาวะวิสัยทางการเมืองที่ดูประหนึ่งว่า “ชัยชนะ” ของพันธมิตรฯ จะทำให้พลังต่อต้านประชาธิปไตยรุกไล่พลังประชาธิปไตยให้อ่อนกำลังลง ชัยชนะของพันธมิตรฯ นั้นเองกลับกัดกินตัวเองและได้สร้าง “ผลสะเทือนมุมกลับ” บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยให้เริ่มหยั่งรากลงสู่เนื้อดินของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวคือ โดยไม่ตั้งใจ การเมืองสีเหลืองได้ปลูกให้มวลชนในระดับที่กว้างขวางตระหนักถึงพลังในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนผ่านกลไกทางการเมืองทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็น ทางการ พร้อมกับตื่นขึ้นมาตั้งคำถามต่อชนชั้นนำ ปัญญาชน อนุรักษนิยม ระบบและสถาบันทางการเมืองเดิม แม้กระทั่งสถาบัน “เหนือการเมือง” ที่ควบคุมครอบงำสังคมไทยอยู่อย่างถึงรากมากขึ้นตามลำดับ
ฉะนั้น สำหรับอีกแพร่งหนึ่งของประชาธิปไตยไทย การต่อสู้/ต่อรองเพื่อหันเหระบอบประชาธิปไตยไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป ก็แลเห็นประกายไฟแห่งความหวัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า พลังประชาธิปไตยจะสามารถจินตนาการถึง “ความเป็นไปได้” ภายใต้ “ข้อจำกัด” ทั้งทางอัตวิสัยและภาวะวิสัย และสร้างเค้าโครงการทางการเมืองที่สอดคล้องเหมาะสม พร้อมกับปฏิบัติการจริงที่มีพลังและมีชีวิตชีวา ได้หรือไม่ เช่นไร
ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ พลวัตการเมืองไทยในระยะอันใกล้ จึงมิใช่ห้วงเวลาแห่งความหดหูสิ้นหวัง หากแต่เป็นห้วงยามอันน่า ระทึกโดยแท้