สารบัญ
บทบรรณาธิการ
หาเรื่องมาเล่า
การปฏิวัติสยามในสายตาทูตญี่ปุ่น
โลกทรรศน์การค้าเสรี
มองมารยาทกับความเป็นไทยผ่าน สมบัติผู้ดี
กรมอุตุนิยมวิทยาเลือกที่จะ (ไม่) เตือนสึนามิ
จับตาการค้าเสรี
ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ (1)
เจริญ คัมภีรภาพ
สารบรรณ
พลวัตและความยืดหยุ่นของสังคมชาวนาฯ
ดารินทร์ อินเหมือน
REX SIAMEN SIUM หรือ พระเจ้ากรุงสยาม
กองบรรณาธิการ
ทัศนะวิพากษ์
การปฏิรูปข่าวโทรทัศน์ เพื่อเหยื่อสึนามิ
บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา
นโยบายประชานิยม รัฐบาลไทยรักไทย
อนุสรณ์ อุณโณ
ลูกเสือชาวบ้าน : จากอดีตถึงปัจจุบัน
พัชรลดา จุลเพชร
รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ‘มั่วนิ่ม’
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
รายงานพิเศษ
เปิดพื้นที่ เติมชีวิต
กองบรรณาธิการ
ในกระแส
พรรคการเมืองทางเลือกในบราซิล
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
มนุษยภาพ
ขบวนการชาวนาโลก เวียคัมปาซิน
พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
สะพานเสาวนีย์แห่งความหลัง
วิชัย นภารัศมี
Le coin que jepréfevedans ma ville.
JitePoumisak
บทบรรณาธิการ
18,993,073
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชนจำนวนมหาศาลถึง 18,993,073 คน จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากนี้ต่อไปการเมืองไทยจะคลี่คลายไปในลักษณะใด และโดยเฉพาะในส่วนของ “การเมืองภาคประชาชน” นั้น องค์กรประชาชน นักพัฒนาเอกชน นักเคลื่อนไหวทางสังคม รวมทั้งนักคิดกระแสรองทั้งหลายจะคิด/ทำอะไรกันในห้วงเวลาที่มีนัยสำคัญยิ่ง
ก่อนการเลือกตั้ง นักคิดกระแสรองและองค์กรพัฒนาเอกชนบางส่วน ได้เสนอยุทธศาสตร์ต่อสาธารณะให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบ “หมากัดกัน” ด้วยหวังที่จะสกัดกั้นมิให้พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงท้วมท้นจนเหลิงในอำนาจ แล้วเข้าควบคุม /ปิดกั้นพื้นที่ของการเมืองภาคประชาชน
แต่พลันที่ผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ต่างไม่มีเยื่อใยให้แก่ยุทธศาสตร์ “หมากัดกัน” แต่อย่างใดเลย
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า กลุ่มที่ผลักดันยุทธศาสตร์ “หมากัดกัน” ก็มิได้เชื่อมั่นอย่างเต็มที่อยู่แล้วว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวจะได้รับการตอบรับจากประชาชน
และที่สำคัญคือ “หมากัดกัน” ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ดังเห็นได้จากข้อสรุปของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่ว่า “ไม่ว่าเราจะทำสำเร็จหรือไม่ก็แล้วแต่ภารกิจของเราที่เลิกไม่ได้คือว่า ต้องเปิดพื้นที่ของภาคประชาชนให้กว้างเท่าที่เราจะทำได้…”
อันที่จริง การสรุปว่าพรรคไทยรักไทยได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้นจากคนทั้งประเทศ ก็ไม่ถูกต้องไปเสียทั้งหมดเพราะหากเราดูในรายละเอียด โดยเฉพาะที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็พบว่า ประชาชนที่นั่นได้สำแดงเจตจำนงทางการเมืองที่จะปฏิเสธไทยรักไทยอย่างชัดเจน ไม่ว่าพวกเธอพวกเขานั้นจะสมาทานยุทธศาสตร์ “หมากัดกัน” หรือไม่ก็ตาม ปรากฏการณ์นี้นับเป็นบทเรียนเตือนสติให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้อย่างดี ทว่าท่านผู้นำกลับตีความไปอีกแบบว่า เหตุที่ประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่เลือกพรรคไทยรักไทยเลยนั้น เป็นเพราะฝ่ายตรงข้ามกรอกหูและยุยงส่งเสริมประชาชนด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เสียดายยิ่งหากท่านผู้นำคิดตรงกับที่พูดจริง ๆ ดังที่นิธิพยายามจะเตือนสติว่า “เหตุใดท่านจึงคิดว่าประชาชนในสามจังหวัด ไม่มีสมองคิดด้วยตนเอง ไม่สามารถเรียนรู้และสรุปบทเรียนให้แก่ตนเองจากประสบการณ์จริงที่ตัวได้ประสบมา เขาอาจคิดผิดและเขาอาจสรุปบทเรียนผิด แต่ท่านทราบหรือยังว่าเขาคิดอะไรและสรุปบทเรียนว่าอะไร”
ในทำนองเดียวกัน หากผลการเลือกตั้งของ 3 จังหวัดภาคใต้ ถือเป็นบทเรียนอันมีค่ายิ่งสำหรับไทยรักไทยแล้วนั้น ผลการเลือกตั้งโดยรวมทั้งประเทศ ก็ถือเป็นบทเรียนอันมีค่ายิ่งสำหรับฝ่ายที่แสดงตนว่าเป็น “ภาคประชาชน” เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคไทยรักไทยอย่างท่วมท้นคงมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเพราะแนวทางการตลาดนำการเมืองของไทยรักไทย การควบรวมพรรคการเมือง การซื้อตัว ส.ส. กับหัวคะแนน การใช้ประโยชน์จากอำนาจรัฐ อิทธิพล และ เงินตรา ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งผลจากรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ที่ออกแบบไว้อย่างมีอคติต่อพรรคการเมืองขนาดเล็ก
แต่ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ พรรคไทยรักไทยสามารถเสนอ “เมนูนโยบาย” ที่สอดรับกับความรู้สึกนึกคิดของคนจำนวน ทั้งสามารถส่งมอบนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ในระดับที่น่าพอใจ ไม่ว่า “เรา” จะชอบนโยบายนั้น ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ ท่านผู้นำและพรรคไทยรักไทยยังสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมการเมืองไทยในลักษณะ ที่ “ดู” ก้าวหน้าขึ้นในสายตาคนทั่วไป… แล้วมันจะเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเลยหรือที่ไทยรักไทยจะได้รับเสียงสวรรค์ ให้บริหารประเทศต่อไป? หรือว่า ประชาชนไม่มีสมองคิดด้วยตนเอง ไม่สามารถเรียนรู้และสรุปบทเรียนให้แก่ตนเองจากประสบการณ์จริงที่ตัวได้ประสบมา เขาอาจคิดผิดและเขาอาจสรุปบทเรียนผิด แต่ “เรา” -“ภาคประชาชน” – ทราบหรือยังว่า “ประชาชน” คิดอะไร และสรุปบทเรียนว่าอะไร?
อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ คือเรื่อง “พื้นที่ทางการเมืองของภาคประชาชน” เนื่องจากมีการพูดกันมากว่าความเข้มแข็งของรัฐบาลไทยรักไทยทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มต่าง ๆ อ่อนแอลงหรือเคลื่อนไหวได้ลำบากขึ้น ราวกับว่า ความเข้มแข็ง-อ่อนแอของประชาชนนั้น เป็น “ตัวแปรที่ผกผันตาม” ความเข้มแข็ง/อ่อนแอของรัฐ (บาล) อย่างสมบูรณ์ซึ่งฐานคิดทำนองนี้พบได้จากการวิเคราะห์ขององค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการกระแสรองส่วนใหญ่โดยเฉพาะปรากฏชัดเจนอยู่เบื้องหลังข้อเสนอยุทธศาสตร์ “หมากัดกัน”
คำถามคือว่า เรานิยาม “ความเข้มแข็ง” หรือ “ความสำเร็จ” ของขบวนการประชาชนอย่างไร? และความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชนเป็นผลมาจากความเข้มแข็งของรัฐบาล (ไทยรักไทย) จริงหรือ? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะอธิบายการขยายตัวของเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยซึ่งพวกเขาอาศัยเงื่อนไขของ พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาชีวิตเกษตรกรกับนโยบายของรัฐบาลให้เป็นประโยชน์ว่าอย่างไร เราจะอธิบายการที่พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถรวมตัวกันเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี (ก่อนที่จะแพ้ภัยตัวเองลงไปพอสมควร) ว่าอย่างไร เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่พรรคการเมืองแย่งกันโฆษณานโยบายแก้ปัญหาความยากจนว่าอย่างไร เราจะอธิบายกระแสต่ำของการชุมนุมเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนช่วงปลายสมัยรัฐบาลชวน 2 ว่าอย่างไร ฯลฯ …นี่เป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน
สุดท้าย ไม่ว่าใครจะสรุปบทเรียนจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ อย่างไร การเมืองในยุคที่ฝ่ายค้านในสภาแบบพรรคประชาธิปัตย์ดูจะไร้น้ำยาไปเสียแล้วได้ส่งผลให้การเมืองนอกรัฐสภาและการเมืองในรัฐสภา (ในอนาคต) ที่เป็นทางเลือกใหม่ กลายเป็นสิ่งที่มีความหมายและเป็นวาระทางสังคมมากยิ่งขึ้นเสียแล้ว ฉะนั้น ภาวะวิสัยต่อจากนี้ไปคงจะเป็นเงื่อนไขเรียกร้องให้ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต่าง ๆ ต้องทบทวนและเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ดังที่ ประภาส ปิ่นตบแต่ง หวังไว้ว่า 4 ปี ภายใต้รัฐบาลทักษิณ 2 นั้น จะเป็น “ยุคแสวงหา” ของการเมืองภาคประชาชน