สารบัญ
บทบรรณาธิการ
รายงานพิเศษ
หากเรารวมใจกันไหลบ่า เราจะแข็งกว่ามหาหิน
อาทิตย์ ธาราคำ
ในกระแส
การตัดทอนระบบบำนาญและสถานการณ์ขบวนแรงงานโลก
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
มนุษยภาพ
ชิบโก้ : ขบวนการนิเวศประชาชนยุคบุกเบิกกับบทเรียนการเคลื่อนไหวต่อสังคมไท
กฤษฎา บุญชัย
ส่องสังคม
Night – Light
แก้วเก้า พงษ์ไพบูลย์
ทัศนะวิพากษ์
รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์
ระบอบทักษิณ
เกษียร เตชะพีระ
วัฒนธรรมการเมืองไทยในยุคทักษิณนิยม
ยศ สันตสมบัติ
ระบอบทักษิณ ความเป็นมาและความเป็นไปในอนาคต
เส้นทางประชาธิปไตยและการปรับตัวของรัฐไทยในระบอบทักษิณ
ทุนนิยมไทยบนแนวทางทักษิโณมิคส์และผลต่อนโยบายการพัฒนา
การเมืองทางเลือกในยุคทักษิณและข้อจำกัดของขบวนการประชาชน
การดำรงอยู่และอนาคตของระบอบทักษิณ : โจทย์ท้าทายสังคมไทย
ภาคผนวก
สถานการณ์ขบวนการประชาชนใน “ระบอบทักษิณ”
บทบรรณาธิการ
ระบอบทักษิณ
ทำไม ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้ต้องพูดเรื่อง “ระบอบทักษิณ” ? …เหตุเบื้องต้นก็คือ เราเห็นว่า สังคมการเมืองไทยภายใต้การบริหารของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อมองไปที่ตัวรัฐบาล เราก็เห็นความซับซ้อนและความขัดแย้งไม่ลงร่องลงรอยภายในตัวรัฐบาลเองด้วย
จากที่รัฐบาลก่อนหน้ามักจะถูกโจมตีว่าเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ไม่สมดุล ลำเอียงเข้าหาเมือง มากกว่าชนบท แต่รัฐบาลชุดนี้กลับถูกโจมตีจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งด้วยข้อหาการเอาใจชนบทมากเกินไป จนละเลยวินัยทางการเงิน
แม้กระทั่งนักพัฒนาเอกชนและนักคิดกระแสรองบางส่วนที่ประกาศต่อต้านเสรีนิยมใหม่ ก็ยังหันไปสมาทานเอาแนวคิดข้างต้นซึ่งมีอุดมการณ์เบื้องหลังคนละขั้ว ไปใช้โจมตีรัฐบาลในหลายโอกาส
จากที่รัฐบาลก่อนหน้ามักจะถูกโจมตีว่าเป็นรัฐราชการ การวางนโยบายบริหารประเทศถูกครอบโดยระบอบอำมาตยาธิปไตย แต่รัฐบาลชุดนี้กลับสามารถบูรณาการอำนาจในการกำหนดนโยบายได้ อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้าน จนบางครั้งก็น่าตกใจที่ได้แลเห็นความรู้สึกถวิลหาถึงขุนนางนักวิชาการจากนักคิดบางท่าน
จากที่รัฐบาลก่อนหน้ามักจะถูกโจมตีว่าไม่สนใจคนจน แต่รัฐบาลชุดนี้กลับถูกโจมตีว่ามุ่งโฆษณานโยบายเพื่อหาเสียงทางการเมืองจากคนจน และถึงแม้ผู้ที่มีจุดยืนเคียงข้างคนจน จะมองเห็นปัญหาของนโยบายรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างจับใจมวลชน อีกทั้งไม่สามารถเสนอเค้าโครงการทางเลือกที่เป็นรูปธรรมขึ้นมาประชันได้ชัดเจน
ฯลฯ
ความลักลั่นที่เกิดขึ้นทำให้เราเห็นถึงปัญหาความโน้มเอียงที่จะยึดติดอยู่กับกรอบการอธิบายตามประเพณีนิยม ที่พยายามจัดแบ่งประเภทซ้ำเดิม ซึ่งไม่สามารถใช้ทำความเข้าใจและวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่กำลังดำรงอยู่ได้อย่างมีพลังเพียงพออีกต่อไป ผู้ที่ไม่ได้นิยมในแนวทางของรัฐบาล ก็มักจะทำได้แค่เพียงการตั้งรับกับวาระใหม่ ๆ จากนโยบายเชิงรุกต่าง ๆ ที่รัฐบาลผลิตขึ้นแทบตลอดเวลา ไม่สามารถ “คิดใหม่ ทำใหม่” เพื่อกำหนดเกมของตัวเองได้
ฤาเราจะพึงพอใจเพียงแค่การป้ายหัวรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการ, มุ่งแต่จะแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจด้วยการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย, หลอกคนจนเพื่อมุ่งหวังคะแนนเสียงทางการเมือง, เน้นแต่การพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมเสรี, ฯลฯ โดยทั้งหมดทั้งปวงรวมศูนย์สรุปได้ว่า รัฐบาลนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดอื่นสักเพียงใด จะมีความต่างก็เพียงแต่กลยุทธ์ที่ล้ำสมัยกว่า
ด้วยความไม่พอใจต่อความไม่รู้ของตัวเราเอง ฟ้าเดียวกัน จึงคิดอยากจะจัดเวทีการแลกเปลี่ยน และวิเคราะห์ถกเถียงกันในประเด็นที่แวดล้อมเรื่อง “ระบอบทักษิณ” ขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงแต่เราเท่านั้น ที่ตระหนักในข้อจำกัดของกรอบวิเคราะห์และต้องการจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากมีนักวิชาการบางส่วนด้วยเช่นกันที่อยากจะเห็นการสัมมนาแลกเปลี่ยนในประเด็นเหล่านี้ ดังนั้น ฟ้าเดียวกัน จึงได้เร่งประสานงานไปยังผู้ที่ตกอยู่ในห้วงอารมณ์ความรู้สึกเดียวกัน…เดือนกันยายน 2546 การเตรียมการจัดสัมมนาระดมสมองครั้งใหญ่จึงเริ่มต้นขึ้น
หลังจากเตรียมการกว่า 4 เดือน การสัมมนาก็จัดขึ้นในวันที่ 10-11 มกราคม 2547 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ฟ้าเดียวกัน ได้รับเกียรติให้เป็นสื่อกลางในการจัดสัมมนาภายใต้หัวข้อเรื่อง “ระบอบทักษิณ ความเป็นมาและความเป็นไปในอนาคต” โดยมีนักวิชาการรวมทั้งนักหนังสือพิมพ์บางท่านเข้าร่วมทั้งหมดราว 30 ชีวิต เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ทำความเข้าใจสถานการณ์ของสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเนื้อหาการสัมมนาตลอดเวลา 2 วัน ก็หลากหลายไปด้วยข้อมูลและกรอบวิเคราะห์
นี่คือที่มาที่ไปของวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับ “ระบอบทักษิณ” ที่ท่านกำลังถืออยู่นี้ โดยทางกองบรรณาธิการได้บันทึกเนื้อหาในการสัมมนาดังกล่าว แล้วพยายามถ่ายทอดลงในวารสารอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อมทั้งนำเอาบทความของ รศ. ดร. เกษียร เตชะพีระ และ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องระบอบทักษิณ ผนวกกับข้อมูลสถานการณ์ของภาคประชาชนบางด้านในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบันมาลงประกอบด้วยทั้งนี้ทำให้กองบรรณาธิการจำต้องถอด คอลัมน์ประจำบางชิ้นออกชั่วคราวเนื่องด้วยเนื้อที่ของวารสารอันจำกัด
กว่าที่ ฟ้าเดียวกันฉบับนี้จะปรากฏสู่สายตาท่านผู้อ่าน เวลาก็ได้ล่วงเลยมาถึงเดือนมีนาคมแล้วล่วงเลยกว่าปกติมากจนกระทั่งเราเองก็เกรงว่าสมาชิกวารสารและผู้ที่ห่วงใยจะคิดเป็นอื่น ซึ่งสำหรับความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้น กองบรรณาธิการ ฟ้าเดียวกัน จำต้องขอน้อมรับความผิดพลาด และขออภัยทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย
มาถึงวันนี้ ฟ้าเดียวกัน ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว เราคงต้องขอขอบคุณสมาชิกวารสาร ผู้ที่คอยอุดหนุนหนังสือของสำนักพิมพ์ และผู้ที่คอยไถ่ถามห่วงใยมายัง ฟ้าเดียวกัน อยู่เสมอ ๆ ผ่านมาทางเพื่อนมิตรบ้างหรือในยามที่ได้พบเจอกันบ้าง ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มเล็ก ๆ อย่างเราร่ำรวย (แต่) กำลังใจยืนหยัดอยู่ได้อีกนาน…และสำหรับผู้ที่ยังลังเลไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกวารสาร หรือผู้ที่ยังไม่ได้ต่ออายุสมาชิกก็โปรดอย่าได้รีรอ เรายังเฝ้ารอการสนับสนุนเล็ก ๆ น้อย ๆ จากท่านอยู่ เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงความใฝ่ฝันของ ฟ้าเดียวกัน ต่อไป
ท้ายที่สุด เรา-ฟ้าเดียวกัน ขออนุญาตจบคำทักทายด้วยข้อความตอนหนึ่งในบทความเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปวกเปียก” (หน้า 10-15) ของคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ซึ่งมิอาจแยกขาดจากกันได้กับปัญหา “ระบอบทักษิณ” เพื่อคอยให้สติกับตัวเราเอง
“ประชาชนที่อ่อนแอปวกเปียก ไม่สามารถผลักดันกงล้อรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยไทยให้ออกจากปลักโคลนได้….บทเรียนในประวัติศาสตร์สอนเราว่า ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง เมื่อโอกาสมาถึงคราใด เรามักจะพลาดโอกาส ตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือถูกฉวยโอกาส ถูกปล้นชิงชัยชนะของประชาชนไปสู่ผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียวอยู่เสมอ ๆ”
สวัสดี