สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ระบอบประชาธิปไตยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนกลางอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
หาเรื่องมาเล่า
ทัศนาธิปัตย์ : การก่อรูปและเทคโนโลยีการมองของสถาบันกษัตริย์สยาม
อัญชลี มณีโรจน์
คูหาหรือนิพพาน? สิทธิเลือกตั้งของนักบวชในเอเชีย
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ
ชีวิตทางสังคมของเกษตรอินทรีย์และการเมืองเรื่องอาหารในประเทศไทย
อัจฉรา รักยุติธรรม
หมู่บ้านโลก
รู้ว่าเสี่ยง แต่ก็คุ้มที่จะเสี่ยง: มุมมองของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ในระบบเกษตรพันธสัญญา
เนตรดาว เกาถวิล
ทุนนิยาม
พื้นที่และการผลิตพื้นที่ในการศึกษาภูมิศาสตร์ของทุน
เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร
ขอบฟ้าความคิด
รากฐานและบริบทความคิดทางการเมืองของ Antonio Negriขบวนการ Autonomiaกับทฤษฎีมาร์กซิสต์ของ Mario Tronti
เก่งกิจ กิติเรียงลาภ
สยามพากษ์
ลัทธิอาณานิคมสยามประชันฝรั่ง : สยามกับมลายูมุสลิมภาคใต้
ทามารา ลูส์ เขียน พงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ แปล
ทัศนะวิพากษ์
ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต?
สาวตรี สุขศรี
ความล้มเหลวในการสถาปนาหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง : กรณีนายก รัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน 2
กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์
รายงานพิเศษ
เขาถูกบังคับให้เป็น“นัมเบอร์วัน” มองปัญหาว่าด้วยสถานะของนายกรัฐมนตรีในระบอบการเมืองไทยผ่านเส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร
ธนาพล อิ๋วสกุล, ชัยธวัช ตุลาธน
ทักษิณเล่า (เกือบ) ทั้งหมด
06BANGKOK2082
ทักษิณมองตัวเองว่าเป็นอองซาน ซูจีเมืองไทย
06BANGKOK2990
เปรมกล่าวถึงทักษิณ
06BANGKOK3997
ทักษิณคาดการณ์เรื่องรัฐบาลแห่งชาติ การนิรโทษกรรม และชีวิตในต่างประเทศ
06BANGKOK2243
ประเทศไทย: เหล่ารัฐบุรุษอาวุโสพยายามให้กษัตริย์เห็นชอบเพื่อเขี่ยนายกฯ สมัครออกจากตำแหน่ง
08BANGKOK2619
อุษาคเนย์
โศกนาฎกรรมที่คู่ควรกับการฉลองฉลอง : ว่าด้วยประวัติศาสตร์และความทรงจำของขบวนการนักศึกษาพม่าในเหตุการณ์ 8888
ลลิตา หาญวงษ์
ซ้ายในประวัติศาสตร์
คัมภีร์ที่ไม่ใช่คัมภีร์
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
การปฏิวัติของนักศึกษา
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
บทบรรณาธิการ
ระบอบประชาธิปไตยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นคนกลางอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
การดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ในความหมายของนายกรัฐมนตรีที่กองทัพเลือก พรรคการเมืองถูกบังคับให้สนับสนุน และได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ ยาวนานเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน (2523-2531) ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์นั้น เป็นต้นแบบของรัฐบาลที่ “มีเสถียรภาพ ใจซื่อ มือสะอาด” ในสายตาของคนจำนวนหนึ่ง ตลอดระยะเวลาดังกล่าวเปรมสวมบท “เตมีย์ใบ้” ลอยตัวเหนือปัญหา แต่สุดท้ายก็ได้เกิดกระแส “เมื่อป๋า เซ็งเปรม” ทำให้นายกรัฐมนตรีคนกลางต้องเปิดทางให้แก่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีคนต่อมา แม้พื้นเพจะมาจากคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 แต่ชาติชายในทศวรรษ 2530 เป็นทั้ง ส.ส. นครราชสีมา และหัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งเป็นที่รวมของทุนท้องถิ่นและทุนระดับชาติหลัง 14 ตุลา และชนะการเลือกตั้งในปี 2531 ขณะที่รัฐบาลเปรมมีฐานสำคัญอยู่ที่เทคโนแครต รัฐบาลชาติชายนั้น แม้คณะรัฐมนตรีจะประกอบด้วยกลุ่มทุนต่างๆ แต่ก็มี “คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี” ที่รู้จักกันในนาม “ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ซึ่งได้ระดมนักวิชาการ “หัวก้าวหน้า” ขณะนั้นเข้ามาทำหน้าที่ผลิตนโยบายที่นอกกรอบของทางราชการ
ในแง่หนึ่ง นโยบายของชาติชายจึงมุ่งเน้นให้เกิด “ประชานิยม” มีตั้งแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มวันหยุดสงกรานต์จาก 1 วันเป็น 3 วัน การออกกฎหมายประกันสังคมและสิทธิการลาคลอด 90 วัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า และเมกะโปรเจกต์ต่างๆ
ทว่าท่ามกลางการขยายตัวของเศรษฐกิจที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การแสวงหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจของนักการเมืองและกลุ่มทุนในรัฐบาลกลับขยายตัวมากตามไปด้วย รัฐบาลชาติชายโดนโจมตีเรื่องคอร์รัปชั่นจนเป็นที่มาของฉายา “บุฟเฟต์คาบิเนต” และเปิดช่องให้ทหารฉวยโอกาสก่อการรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่ง ชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534
สิ่งที่ต้องบันทึกไว้ด้วยก็คือ ในประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารในนาม “หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” ของในหลวงนั้น ไม่มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับกรณีการรัฐประหาร พ.ศ. 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับหัวหน้าคณะรัฐประหารนับตั้งแต่ทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา
แต่การจะเอาคนอย่างเปรมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกในทศวรรษ 2530 นั้น เป็นเรื่อง “ล้าสมัย” เสียแล้ว ดังนั้นชื่อของ “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศที่ผันตัวเองมาเป็นนักธุรกิจจนกลายเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับคณะ รสช. รัฐบาลอานันท์ 1 ซึ่งบริหารประเทศโดยปราศจากฝ่ายค้าน ได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาด เมื่ออานันท์ได้สร้างผลงานอันเป็นที่ถูกใจชนชั้นกลางในเมือง กระทั่งเขากลายเป็นแม่แบบของ “นายกรัฐมนตรี ในฝัน” ของใครหลายคน
ทว่าถึงที่สุด รัฐบาลชั่วคราวก็ต้องหลีกทางให้แก่การเลือกตั้งที่เริ่มลงหลักปักฐาน แล้วในการเมืองไทย ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2535 รสช. ได้วางหมากให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามตัวแบบที่เคยทำสำเร็จกับเปรมในทศวรรษ 2520 แต่ รสช. ประเมินพลังชนชั้นกลางและการเมืองในระบบรัฐสภา ไว้ต่ำเกินไป เพียงอายุ 40 กว่าวัน รัฐบาลสุจินดาก็ล้มคว่ำลงภายหลังเกิดความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535
ผลจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 นอกจากจะทำให้ทหารต้องกลับเข้ากรมกองไปชั่วระยะหนึ่ง และทําให้รัฐสภากลายเป็นฐานที่มั่นในการเข้าสู่อำนาจรัฐแล้ว ยังทำให้สถาบันกษัตริย์สูงเด่นขึ้นในฐานะ “คนกลาง” ผู้มีบารมีที่ออกมาระงับความขัดแย้งในสังคม หนุนเสริมให้เกิดอุดมการณ์กษัตริย์นิยมในคุณภาพใหม่ และพระมหากษัตริย์กลายเป็นผู้กำหนดวาระทางสังคมในเวลาต่อมาอย่างน้อยก็ตลอดทศวรรษหลังพฤษภา 2535
การที่พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยสนับสนุน พล.อ.สุจินดามิได้แสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสีย แต่กลับยืนยันที่จะเสนอคนของตนเองขึ้นมาเป็นนายกฯ คนใหม่ต่อจากพล.อ.สุจินดานั้น ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดรอบใหม่ กระทั่งย้อนกลับไปล้มล้างหลักการที่เคยเรียกร้องให้ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง” ระหว่างการเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.สุจินดาลงเสีย เพราะในที่สุด อานันท์ได้กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” อีกครั้งท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดีอย่างกว้างขวาง ซึ่งกิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ ได้ชี้ว่า นี่เป็นความล้มเหลวในการสถาปนาหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง” (ดู กิตติศักดิ์ สุจิตตารมย์ “ความล้มเหลวในการสถาปนาหลักการ “นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง : กรณีนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน 2,” 162-190)
การเมืองในรอบ 4 ปีหลังรัฐบาลอานันท์ 2 มีการยุบสภาและการเลือกตั้งถึง 3 ครั้ง และมีนายกรัฐมนตรีอีก 3 คน เป็นเหตุให้มีเสียงเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปการเมือง” เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ (แบบเปรม?) และมีประสิทธิภาพ (แบบอานันท์) ซึ่งหาไม่ได้จากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในระบบเดิม นี่เป็นฐานที่มาสำคัญของการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540
ทักษิณ ชินวัตร หนึ่งในนักธุรกิจหมื่นล้านที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองนี้
แต่ด้วยปัจจัยทางภววิสัยและอัตวิสัยที่มาบรรจบกันหลายประการ ทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้มีเสียง ส.ส. ในมือและฐานความนิยมจากประชาชนเข้มแข็งอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้กลายมาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง “นัมเบอร์วัน” หรือ “หมายเลขหนึ่ง” ของประเทศไปในที่สุด ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม (ดู ธนาพล อิ๋วสกุล ชัยธวัช ตุลาธน “เขาถูกบังคับให้เป็น “นัมเบอร์วัน” มองปัญหาว่าด้วยสถานะของนายกรัฐมนตรีในระบอบการเมืองไทย ผ่านเส้นทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร, 192-221)
และเมื่อ “เครือข่ายกษัตริย์” ยืนยันว่า ประเทศนี้มี “นัมเบอร์วัน” อยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีอย่างทักษิณ แม้จะได้รับคะแนนเสียงมากมายแค่ไหน ก็เป็นได้แค่ “ผู้จัดการ” ประเทศ มิใช่ “เจ้าของ” แต่ประการใด ทักษิณจึงต้องถูกทำให้เป็น “ปีศาจหมายเลขหนึ่ง” แทน ซึ่งจะต้องกำจัดให้สิ้นซากเสียจากระบบการเมืองของไทย ไม่ว่าจะต้องใช้สรรพกำลังแค่ไหน ใช้วิธีการใด ๆ ก็ตาม โดยมีปัญหาเรื่องการผลัดแผ่นดินเป็นเงื่อนไขประกอบที่สำคัญ
นั่นเป็นการเมืองที่อยู่หลังฉากปรากฏการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การรัฐประหาร และตุลาการภิวัตน์ มาจนถึงกระแสการเพรียกหา “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ในปัจจุบัน
กล่าวอีกอย่างหนึ่ง ประเด็นปัญหาใจกลางประการหนึ่งของการเมืองไทยตอนนี้ ก็คือ ปัญหาสถานะของ “นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง” ใน “ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ทั้งในแง่ที่เป็นความตึงเครียดระหว่างอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งกับอำนาจของกษัตริย์ที่ก็มีลักษณะอิงมวลชน ทั้งในแง่ความตึงเครียดระหว่างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งกับการตรวจสอบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยปกติ
การจะคลี่คลายปมปัญหานี้จะต้องใช้ต้นทุนอะไรบ้าง จะต้องสูญเสียอีกแค่ไหน อย่างไร หรือถึงที่สุด สังคมการเมืองไทยยังไม่พร้อมที่จะอนุญาตให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ หากต้องการ “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” ซึ่งในที่สุดแม้จะกลับไปสู่ระบบการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ เป็นกลาง ขอเป็นเพียง คนดี และ จงรักภักดี ปราศจาก การเมือง อันมีศักยภาพจะไปท้าทาย “นัมเบอร์วัน” อีก