สารบัญ
บทบรรณาธิการ
จดหมายถึงกองบก.
หาเรื่องมาเล่า
การศึกษาเรื่องรัฐในสังคมไทย
Subject Siam
คำขบวน
Empire อภิจักรภพ
ภัควดี วีระภาสพงษ์
ปีกซ้ายไร้ปีก
ปัญหาประชาธิปไตย และการต่อสู้ทางชนชั้น
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
สากล
รายงานพิเศษ
200 รัฐ :จากมุมมองของชีวิตประจำวัน
ปฏิกิริยา
ทำไมควรอ่าน รัฐประหาร 19 กันยา
ใจ อึ้งภากรณ์
ส่องศิลป์
เมรุคราวกบฏบวรเดช
ชาตรี ประกิตนนทการ
มนุษยภาพ
การเคลื่อนไหวทางสังคมในอินเดีย
โดม ไกรปกรณ์
ในกระแส
การต่อสู้เพื่อความเป็นตัวของตัวเองฯ
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
ทัศนะวิพากษ์
ก้าวต่อไปของสังคมไทย พิจารณาในด้านนิติธรรม นิติรัฐ และรัฐธรรมนูญ
วรเจตน์ ภาครัตน์
พุทธศาสนาในสยาม : จากหายนะสู่วัฒนะ
สุลักษณ์ ศิวรักษ์
โภคทรัพย์แห่งราชวงศ์ไทย
ผู้สื่อข่าว เอเชียเซนติเนล
จุดเปลี่ยนแห่งทศวรรษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
สมถวิล ลีลาสุวัฒน์
คำให้การเรื่องสถาบันกษัตริย์กับวัฒนธรรมเซ็นเซอร์
ประวิตร โรจนพฤกษ์
10 ปี สมัชชาคนจน :บทเรียนบางประการ
อุเชนทร์ เชียงเสน
ก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับรอยโหว่ แหว่ง บนแผ่นดินและแผ่นน้ำ
สิทธา เลิศไพบูลย์ศิริ
บทบรรณาธิการ
คณะตลก. รัฐธรรมนูญ กับก้าวต่อไปของสังคมไทย
กลางเดือนกันยายน 2548 ชายผู้หนึ่งลุกขึ้นมาชี้หน้ากล่าวหานายกรัฐมนตรีผู้ซึ่งเคยทำมาหากินร่วม กันมาด้วยสารพันข้อกล่าวหา ตั้งแต่คอร์รัปชั่นไปจนถึงล่วงละเมิดพระราชอำนาจ พร้อมทั้งปลุกระดมผู้คน ให้ “สู้เพื่อในหลวง” เมื่อมวลชนเข้าร่วมมากขึ้น เขาได้เคลื่อนขบวนไปเคาะประตูบ้านชายคนที่ 2 กลางดึก เพื่อยื่นบัตรเชิญให้ออกมารัฐประหาร ชายคนที่ 2 เห็นด้วยและซุ่มเตรียมการกับพลพรรคของเขานับแต่นั้น
ขณะที่มวลชนของชายคนแรกเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ชายอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งสวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย ผู้มักแอบอ้างเจตนารมณ์ของคณะราษฎร ตลอดจนวีรชนเดือนตุลาและพฤษภา และมักจะพูดแทนประชาชนอยู่เนืองๆ ได้ยอมถวายตัวเข้าไปเป็นหางเครื่องของชายคนแรกอย่างไม่เคอะเขิน จนนำไปสู่ข้อเสนอการถวายคืนพระราชอำนาจโดยการขอ “นายกฯ พระราชทาน” ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ 2540 โดยไม่เห็นว่าขัดกับเจตนารมณ์ของคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
เพื่อให้บัตรเชิญรัฐประหารชอบธรรมยิ่งขึ้น ชายชราอีกคนหนึ่งซึ่งสวมเสื้อคลุม “ประธาน องคมนตรี รัฐบุรุษ” ได้ออกมารณรงค์ให้ทหาร “กระด้างกระเดื่อง” ในต่างกรรมต่างวาระ โดยมีสื่อมวลชน ทำหน้าที่เป็นกองเชียร์อย่างเมามัน
เมื่อเวลาสุกงอม ชายคนที่ 2 ก็ตระบัดสัตย์ต่อประชาชนโดยเคลื่อนกำลังทหารซึ่งติดริบบิ้นสีเหลือง ไว้ที่ปลายกระบอกปืนและผูกผ้าพันคอสีฟ้า ออกมารัฐประหาร ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายโดยพลการ แต่แทนที่จะถูกประณามกลับมีกองเชียร์ที่เป็นทั้งนักวิชาการ นักประชาธิปไตย สื่อมวลชนออกมาชื่นชมการกระทำดังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “เพราะรัฐธรรมนูญตายแล้ว” เท่านั้นยังไม่พอ มีการแต่งตั้งพวกพ้องให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทั้งที่โดยส่วนใหญ่ไม่มีความสามารถแม้แต่น้อย แถมยังเพิ่มงบประมาณการทหารขึ้นอีก 29,805,014,800 บาท
แต่อย่างที่ทราบ ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา คณะรัฐประหารของชายคนที่ 2 ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากไปกว่ากวาดล้างพลพรรคไทยรักไทยที่พวกเขาเห็นว่าเป็นตัวการทำลายประชาธิปไตย (โดยที่ไม่ ย้อนกลับมาดูตัวเอง)
และเพื่อไม่ให้เคอะเขิน คณะของชายคนนี้จึงออกประกาศเพื่อเอาผิดย้อนหลังพลพรรคไทยรักไทย โดยอุปโลกน์แต่งตั้งชายสวมเสื้อครุยอีก 9 คนขึ้นมาทำหน้าที่ ตลก. รัฐธรรมนูญ เพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน
หลังจากเล่นละครหลอกคนดูมากว่า 8 เดือน ในที่สุดคณะตลก. รัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยยาวเหยียดซึ่งอาจสรุปได้ดังคำบอกเล่าของแท็กซี่คนหนึ่งว่า
“ถ้าสารวัตร สน. พระราชวัง ออกคำสั่งให้ลูกน้องไปตั้งด่านที่ปากคลองตลาด ปรากฏว่ามีจ่าคนหนึ่งไปรีดไถเงินแท็กซี่ขณะตั้งด่าน แท็กซี่จึงนำเรื่องไปฟ้องศาล ศาลเห็นว่าการตั้งด่านทำในนาม สน. ดังที่ป้ายตั้งด่านระบุไว้ และการกระทำของตำรวจคนนั้นก็พิสูจน์ชัดแล้วว่าทุจริต ดังนั้นมีคำสั่งยุบ สน. และพักงานตำรวจทั้งกรมกองเป็นเวลา 5 ปี”
เมื่อคำวินิจฉัยทำนองนี้ออกมา ทั้งคณะรัฐประหารและกองเชียร์กลับบอกว่าให้ประชาชนเคารพในคำตัดสินเพราะคำวินิจฉัยของคณะตลก. รัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุด
การเดินเกมของชายไม่กี่คนและกองเชียร์ทำให้เรา ในฐานะประชาชนต้องหันมาตั้งคำถามว่า ควรทำอย่างไรกับ “คณะตลกรัฐธรรมนูญ” ที่ประกอบด้วยคณะรัฐประหาร กองเชียร์ และคณะตลก. รัฐธรรมนูญ ?
ปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นรูปธรรมของการปกครองโดยคณะรัฐประหาร ซึ่งคงจะไม่มีวันอยู่คู่สังคมการเมืองไทยตลอดไป อย่างไรเสียนักรัฐประหารรุ่นนี้คงจะต้องจากสังคมการเมืองไทยไปในไม่ช้า (เหตุผลไม่ใช่เพราะพวกเขาตระหนักในประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะสังคมไทยอนุญาตให้พวกเขาเข้ามาแค่ชั่วคราว) แต่มรดกที่ทิ้งไว้ซึ่งจะอยู่คู่กับสังคมการเมืองไทยไปอีกนาน คือวัฒนธรรมการเมืองแบบพึ่งพิง (ผู้มีบารมี) จนอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเมืองไทย (หรืออาจจะเป็นอยู่แล้ว?) ที่เรียกกันว่า “อาการเสพติดรัฐประหาร”
ทั้งการรัฐประหารโดยพระราชอำนาจนำ ดังการเรียกร้องขอนายกฯ พระราชทาน ไปจนถึงการ “ออกบัตรเชิญ” ให้คณะรัฐประหารดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ก้าวต่อไปของสังคมไทย จึงไม่ใช่เพียงแค่การต้านรัฐประหารเท่านั้น แต่จักต้องทำลายทั้งเมล็ดพันธุ์และเนื้อดินที่ปูทางไปสู่การรัฐประหาร เพื่อให้อาการเสพติดรัฐประหารสูญสิ้นไปจากสังคมไทย