สารบัญ
บทบรรณาธิการ
จดหมายถึงกอง บก.
ปฏิกิริยา
หาเรื่องมาเล่า
ทุนนิยมโลกกับความเสื่อมของสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม
แบบจำลองโลกอนาคตในสายตาบรรษัทข้ามชาติ
ใต้ฟ้าเดียวกัน
เมืองไทย
สากล
รายงานพิเศษ
โวหารของภาพและงานเขียน : การเมืองที่มองไม่เห็น
วิพากษ์หลักหมายไทยศึกษา
Constitutionalism : Road Map สู่อุตมรัฐที่ไร้ประชาชน ?
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล
ชานหนังสือ
ทัศนะวิพากษ์
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คืออะไร ?
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ธุรกรรมอำพาง
ธนาพล อิ๋วสุกล,จิรภัทร์ พรพรหมประทาน
เสาหลักทางจริยธรรมชื่อเปรม
ธนาพล อิ๋วสกุล
การเมืองของวาทกรรมสงครามเวียดนาม
พวงทอง ภวัครพันธุ์
ในประแส
สถานการณ์สร้างพรรคหรือสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
ปิยะมิตร ลีลาธรรม
มนุษยภาพ
ขบวนการชาวนาในฟิลิปปินส์ (2)
เพ็ญนภา พงษ์ทอง
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
บทบาทของแนวร่วมต่อการปฏิวัติ
ธิกานต์ ศรีนารา
แนวโน้มใหม่ของขบวนการประชนชาชนไทย
บทบรรณาธิการ
หลัง (ไล่) ทักษิณ
สังคมไทยเดินทางมาถึงจังหวะก้าวทางการเมืองครั้งสำคัญอีกหน เมื่อกลุ่มคนอันหลากหลายได้ร้อยเข้าหากัน กระทั่งก่อรูปเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยถือธงผืนใหญ่ร่วมกันคือ “ทักษิณออกไป”
เป็นธงผืนใหญ่ที่ปิดคลุมความต่างหลากหลายของแนวร่วมเฉพาะกิจอันประกอบไปด้วยผู้คนที่อกหักจากรัฐบาล ทักษิณ นักวิชาการที่รังเกียจนโยบายประชานิยมหรือความลุแก่อำนาจของรัฐบาล คนชั้นกลางที่เหลืออดกับพฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทุจริต จริยธรรมทางการเมือง หรือการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงเบื้องสูง กลุ่มเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่ยอมรับระบบการเมืองและการพัฒนาแบบทักษิณ นักเคลื่อนไหวการเมืองอาชีพ กลุ่มทหารที่ถูกนักการเมืองรุกไล่ นักธุรกิจที่ตกขบวนจากการดำเนินนโยบายของไทยรักไทย นักวิชาการขุนนางและข้าราชการผู้อาลัยอาวรณ์ระบบอำมาตยาธิปไตย ไล่เรียงไปถึงกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์จากการกระทำของรัฐบาล เป็นต้น
นี้นับเป็นการสนธิกำลังระหว่างพลังก้าวหน้าและพลังอนุรักษ์นิยมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นับเป็นปรากฏการณ์ที่ชวนตรึกตรองติดตามอย่างยิ่งว่า การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ จะคลี่คลายไปในทิศทางใดต่อจากนี้
นับเป็นบทพิสูจน์และบทเรียนบทใหม่สำหรับขบวนการประชาชน…
และไม่ว่าทักษิณจะออกไปหรือไม่ก็ตาม โจทย์ที่สำคัญกว่าน่าจะเป็นว่า โครงการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยหลัง (ไล่) ทักษิณจะเป็นเช่นไร?
ขณะที่นักวิชาการหัวอนุรักษ์และชนชั้นนำจำนวนหนึ่งได้เตรียมพร้อมเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยหลัง รัฐบาลทักษิณไว้ค่อนข้างพร้อมแล้ว ทั้งในแง่เนื้อหา ทั้งในแง่กระบวนการ มีการเคลื่อนไหวที่ทยอยนำเสนอแนวคิดของตนเพื่อสร้างความยอมรับและช่วงชิงการนำทางความคิดเป็นระยะ เพื่อรอคอยสถานการณ์ที่สุกงอม
ทว่า หากหันมามองฟากฝั่งที่เรียกกันทั่วไปว่า “ภาคประชาชน” แล้ว คงต้องยอมรับว่า ข้อเสนอหรือแนวทางการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ของภาคประชาชนนั้นยังคงอยู่ในระดับที่เรียกว่าเป็น “คำโฆษณาชวนเชื่อ” เช่น “Strong People ไม่ใช่ Strong Prime Minister” ซึ่งยังไม่มีการค้นคว้าและการจัดตั้งอย่างจริงจังเพียงพอ
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เรา-ฟ้าเดียวกัน-หวนระลึกถึงคำอภิปรายของคุณวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ซึ่งกล่าวไว้เมื่อราว 2 ปีก่อนว่า
“การจะต่อสู้ผลักดันเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกจากหล่มโคลนนั้น ต้องใช้พละกำลังที่เข้มแข็งของขบวนการประชาชน
“ประชาชนที่อ่อนแอปวกเปียกไม่สามารถผลักดันกงล้อรัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยไทยให้ออกจากปลักโคลนได้ การสร้างฐานประชาชนที่เข้มแข็งในแต่ละท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นในการปูฐานไปสู่ขบวนการประชาชนที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต
“บทเรียนในประวัติศาสตร์สอนเราว่า ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมอย่างจริงจัง เมื่อโอกาสมาถึงคราใด เรามักจะพลาดโอกาสตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือถูกฉวยโอกาส ถูกปล้นชิงชัยชนะของประชาชนไปสู่ผลประโยชน์ของคนหยิบมือเดียวอยู่เสมอ ๆ”
“การไม่สามารถเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้อย่างชัดเจน ก็เพราะเรามัวแต่ทำงานอย่างฉาบฉวย เอ็นจีโอจำนวนมากไม่ลงพื้นที่ทำงานค้นคว้าร่วมกับมวลชนอย่างจริงจัง หากแต่เพียงโฆษณาป่าวร้องถึงสังคมใหม่ ถึงสังคมทางเลือก โดยไม่เคยฉุกคิดว่า ทางเลือกที่เราเพียรนำเสนอมานับสิบปี ขยายผลได้เพียงไร”
ปัญหานี้คงเป็นปัจจัยชี้ขาดสำคัญในสถานการณ์แหลมคมหลังมีรัฐบาลชุดใหม่
การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ไม่มีทางลัด มีแต่ต้องเคี่ยวกรำ จัดตั้งอย่างอดทน ทั้งด้านความคิด ทั้งด้านปฏิบัติการที่เป็นจริง