สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ส่งเสด็จ
ทัศนะวิพากษ์
แถลงการณ์สองฉบับถึง “ศาลในพระปรมาภิไธย” ของทนายประเวศ ประภานุกูล ผู้ต้องหาคดี ม.112
กองบรรณาธิการ
ความละอายจงเจริญ! ด้านดีของชาติและ ชาตินิยม
เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เขียน อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู ถอดเทปและแปล
เรื่องวุ่นวายของรัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 20
เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง
ปฏิบัติการความทรงจำของภาพ: พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้ารัฐสภา
ธนาวิ โชติประดิษฐ
การจัดการงบประมาณและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลังการปฏิวัติ : ศึกษากรณี อังกฤษและสยาม
ปราการ กลิ่นฟุ้ง
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ : พระราชทรัพย์ยามผลัดแผ่นดินและรัฐประหารสองครั้ง
ชัยธวัช ตุลาธน
เมื่อใต้เท้าต้องมาอยู่ใต้ทุน : สถาบันกษัตริย์กับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทุนนิยมในมุมมองของสมิธ เฮเกล และมาร์กซ์
ปวงชน อุนจะนำ
วันสุดท้ายของโรมานอฟ : การล่มสลายของสถาบันกษัตริย์รัสเซีย
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
20 ปีวิกฤตต้มยํากุ้ง : มุมมองจากภาคเศรษฐกิจจริง
นภนต์ ภุมมา, ธนเดช เวชสุรักษ์
บทบรรณาธิการ
ส่งเสด็จ
ในระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือพระบรมราชโองการเกี่ยวกับราชการแผ่นดินล้วนต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น เช่นนี้จึงถือว่า พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีพระราชดำริทางการเมืองแต่ประการใด ผู้ลงนามรับสนองฯ ต่างหากที่มีเจตจำนงและความรับผิดทางการเมือง ดังกล่าวได้ว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด” (The King can do no wrong) แม้กระนั้น พระมหากษัตริย์ก็ยังทรง ไว้ซึ่งพระราชสิทธิที่จะทรงแนะนำหรือตักเตือน เมื่อนายกรัฐมนตรีเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลข้อราชการ สิ่งที่รับสั่งแก่นายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นความลับ หากนายกรัฐมนตรีรับพระราชกระแสแล้วนำมาปฏิบัติ ต้องถือว่าเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีเอง จะนำพระราชกระแสไปอ้างอิงมิได้
อย่างไรก็ดี ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้จะก่อ กำเนิดมาจากหลักการดังกล่าว ทว่าก็มีพัฒนาการในลักษณะเฉพาะตัวนับตั้งแต่ต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จากนั้นก็แข็งแกร่งมากขึ้นตามลำดับ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและผันผวนทางเศรษฐกิจ-การเมืองหลายยุคหลายสมัย
เป็นที่ยอมรับกันว่า ด้วยพระบารมีอันสั่งสมมาจากประสบการณ์ที่ทรงครองราชย์มาอย่างยาวนาน ประกอบกับปัจจัยหนุนเสริมทั้งจากภายในและภายนอก
[expander_maker id=”1″ more=”อ่านต่อ >>” less=”<< ย่อหน้า “]
ประเทศ พระราชฐานะ และพระราชอำนาจขององค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้สถาปนาให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยขึ้นไปอยู่ เหนือการเมือง ในลักษณะที่พิเศษยิ่งในที่สุด เมื่อเกิดภาวการณ์ที่จำเป็น พระองค์ก็สามารถแสดงพระบารมีออกมาเพื่อคลี่คลายปัญหาของบ้านเมืองได้อย่างที่ใครอาจจะคาดไม่ถึง ดังเช่นกรณีการพระราชทานพระราชดำรัสอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะแก่
ฝ่ายตุลาการ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ณ โอกาสนั้นเอง พระองค์ได้แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนในการจัดวางพระราชฐานะและพระราชอำนาจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสที่ว่า
มาตรา 7 (แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540) นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้น พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำ เขาจะต้องว่าพระมหากษัตริย์ทำเป็นหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเกิน ไม่เคยทำเป็นหน้าที่ ถ้าทำเป็นหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย
และ
ขอยืนยันว่าไม่เคยสั่งการอะไรที่ไม่มีกฎเกณฑ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือ กฎหมาย… มีคนเขาก็อาจจะมา มาบอกว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เนี่ยทำตามใจชอบ [ข้าพเจ้า] ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ตั้งแต่เป็น [พระมหากษัตริย์] มา มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แล้วก็ทำมาหลายสิบปี ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำไปตามใจชอบ ก็เข้าใจว่าบ้านเมืองล่มจมมานานแล้ว
ด้วยแนวความคิดที่พระราชทานลงมาเช่นนี้ ประกอบกับพระราชกรณียกิจต่างๆ ตลอดรัชสมัย รวมทั้งบทบาทของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จึงอย่าได้แปลกใจที่พระองค์จะจบรัชสมัยของพระองค์ด้วยพระราชฐานะที่ครองอำนาจนำ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
เหล่านี้คือ พระราชมรดก อันประเมินค่ามิได้ ที่พระองค์ทรงทิ้งไว้ให้แก่ปวงชนชาวไทย และถูกส่งมอบมายังรัชสมัยใหม่
การส่งเสด็จรัชสมัยที่จะต้องจารึกไปอีกยาวนานบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย ด้วยการทบทวนและพิจารณาถึงพระราชมรดกของพระองค์ คงเป็นการเหมาะควรแล้วแก่วาระโอกาสนี้