ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ

ลดราคา!

฿675.00฿765.00


Back Cover

หมายเหตุ

  • ปกแข็งพร้อมจัดส่งวันที่ 4 กันยายน 2566 เป็นต้นไป หากสั่งซื้อหนังสือเล่มอื่นๆ ด้วย ทางสำนักพิมพ์ขอส่งพร้อมกัน
  • จัดส่งฟรี

 

รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้แปล

อารัมภบท

คำนำ

ภาค 1 พัฒนาการ

บทที่ 1 โลกในทศวรรษ 1780

บทที่ 2 การปฏิวัติอุตสาหกรรม

บทที่ 3 การปฏิวัติฝรั่งเศส

บทที่ 4 สงคราม

บทที่ 5 สันติภาพ

บทที่ 6 คลื่นการปฏิวัติ

บทที่ 7 ลัทธิชาตินิยม

ภาค 2 ผลพวงที่ตามมา

บทที่ 8 ที่ดิน

บทที่ 9 สู่โลกอุตสาหกรรม

บทที่ 10 เส้นทางอาชีพเปิดโอกาสแก่ผู้มีความสามารถ

บทที่ 11 คนจนผู้ใช้แรงงาน

บทที่ 12 อุดมการณ์ : ศาสนา

บทที่ 13 อุดมการณ์ : ฆราวาส

บทที่ 14 ศิลปะวรรณกรรม

บทที่ 15 วิทยาศาสตร์

บทที่ 16 บทสรุป : มุ่งสู่ปี 1848

บรรณานุกรม

ดรรชนี

เอริค ฮ็อบส์บอม (Eric Hobsbawm, 1917–2012) เป็นนักประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ชาวอังกฤษผู้ผลิตผลงานซึ่งกลายเป็นหลักหมายสำคัญในวงวิชาการ ถึงแม้ผลงานของเขาจะถูกกล่าวถึงและอ้างอิงไม่น้อยในวงวิชาการไทย ทว่ายังไม่มีหนังสือเล่มสำคัญของนักประวัติศาสตร์ผู้นี้ปรากฏออกมาเป็นภาษาไทยแม้แต่เล่มเดียว ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ถือเป็นเรื่อง “ล้าสมัย” ไปแล้วสำหรับนักวิชาการไทยกระแสหลัก หรืออาจเพราะงานของเขามุ่งเน้นศึกษาประวัติศาสตร์ของสามัญชนคนธรรมดา มิใช่ชนชั้นสูงที่นักประวัติศาสตร์กระแสหลักมักให้ความสำคัญกว่า หรือเนื้อหาในหนังสือไม่ได้กล่าวถึงสังคมไทย จึงดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย หรือความยากและยาวของเนื้อหาเนื่องจากผู้เขียนเป็นผู้รู้ศาสตร์หลายแขนง ซึ่งทำให้การถ่ายทอดข้ามภาษาจำเป็นต้องอาศัยนักแปลที่มีทั้งความสามารถและความมานะบากบั่น

ความมุ่งหวังของฟ้าเดียวกันที่จะตีพิมพ์หนังสือชุดของฮ็อบส์บอมในพากย์ภาษาไทยคงเป็นจริงได้ยาก หากภัควดี วีระภาสพงษ์—นักแปลงานวิชาการที่มีเจตจำนงชัดเจนว่างานแปลของเธอคือส่วนหนึ่งของการวิพากษ์สังคมการเมืองในตัวมันเอง—มิได้เข้ามารับเป็นผู้แปล ทั้งยังอุตสาหะค้นคว้าเพิ่มเติมทำเชิงอรรถผู้แปลที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจเนื้อหาเรื่องราวที่ผู้เขียนกล่าวถึงได้กระจ่างยิ่งขึ้น โดยทำงานร่วมกับวริศา กิตติคุณเสรี บรรณาธิการแปล ตลอดจนกองบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ จนหนังสือเล่มนี้ปรากฏออกมาได้

กล่าวสำหรับหนังสือ The Age of Revolution (1789–1848) หรือในพากย์ไทยชื่อ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ถือเป็นปฐมบทของ “ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน” ตามคำของฮ็อบส์บอม ซึ่งค้นคว้า วิเคราะห์ และบรรยายตีความช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และกระบวนการ modernization ที่ตามมาหลังจากนั้น โดยใช้กรอบแนวคิดเรื่องการปฏิวัติทวิภาค (dual revolution) กล่าวคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในทางการเมือง และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในทางสังคมเศรษฐกิจเป็นหลักในอังกฤษ ซึ่งเป็นตัวจุดชนวนส่งต่อกระแสคลื่นการปฏิวัติที่ระบาดลุกลามไปทั่วโลกตะวันตกระหว่างปี 1815–1848 ทั้งในสเปน อิตาลี กรีซ เบลเยียม เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก ไอร์แลนด์ โรมาเนีย ตุรกี ฮังการี โปแลนด์ ซีกตะวันตกของรัสเซีย อเมริกาเหนือ รวมถึงขบวนการปลดแอกของกลุ่มชาตินิยมต่างๆ ในลาตินอเมริกา

การปฏิวัติทวิภาคอันสะเทือนเลื่อนลั่นนี้ยังก่อร่างสร้างแนวคิดสำคัญๆ ที่จะพัฒนาและส่งอิทธิพลต่อกันและกันจนเกิดเป็นอุดมการณ์ มโนทัศน์ และบรรทัดฐานของสังคมสมัยใหม่ที่เราคุ้นชินกันทุกวันนี้ เช่น ความคิดที่ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับสิทธิตามธรรมชาติ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สิทธิเลือกตั้ง การปกครองด้วยเสียงส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างนายทุน-แรงงาน กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม การแบ่งชนชั้นทางสังคมตามฐานะเศรษฐกิจและรายได้ซึ่งต่างจากในยุโรปยุคกลาง การเลื่อนชั้นทางสังคมตามความสามารถ ไม่ใช่ตามอภิสิทธิ์แบบขุนน้ำขุนนาง อุดมการณ์เสรีนิยมของชนชั้นกลาง อุดมการณ์ราดิคัลของนักคิดสังคมนิยม มิพักต้องกล่าวถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสาขาที่การปฏิวัติทวิภาคช่วยเปิดช่องทางความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้ และความเฟื่องฟูด้านศิลปะวรรณกรรมที่ให้กำเนิดศิลปินนามอุโฆษจำนวนมาก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติทวิภาคและผลกระทบที่ตามมาทั้งดีและร้ายหลังจากนั้น

ฮ็อบส์บอมบรรยายเรื่องราวเหล่านี้อย่างละเอียดพิสดารด้วยการถักทอเชื่อมร้อยองค์ความรู้ขนาดมหึมาและกว้างใหญ่ไพศาลเข้าด้วยกัน บางเรื่องบางตอนอาจแลดูห่างไกลและเข้าใจยากอยู่สักหน่อย แต่อย่างน้อยที่สุดผู้อ่านน่าจะได้ตระหนักว่า แท้แล้วสรรพสิ่ง “สมัยใหม่” ที่รายล้อมเราไม่ว่าทางวัตถุหรืออุดมการณ์ความคิดนั้น มิเคยเกิดขึ้นมาเอง หรือเกิดจากฟ้าประทาน ทว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากจินตนาการ ความใฝ่ฝัน และการลงมือปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความเปลี่ยนแปลงของบรรพชนนักปฏิวัติทั้งหลายแห่งการปฏิวัติทวิภาคอันยิ่งใหญ่

ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ เป็นเล่มแรกในผลงานชุดไตรภาคของเอริค ฮ็อบส์บอม อันประกอบด้วย The Age of Revolution (1789–1848), The Age of Capital (1848–1875), The Age of Empire (1875–1914) และภาคต่อเล่มที่สี่คือ The Age of Extremes (1914–1991) ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการหนังสือชุดที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันตั้งใจผลักดันให้สำเร็จลุล่วง ด้วยภารกิจหนึ่งของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคือการนำองค์ความรู้เชิงวิพากษ์จากภายนอกเข้าสู่สังคมไทยผ่านการแปล เพราะเราเชื่อว่าการแปลไม่เพียงเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งต่อความรู้ข้ามพรมแดนภาษา แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมโลกทัศน์และความเข้าใจต่อวัฒนธรรมของชนชาติอื่นไปพร้อมกันด้วย

หมายเหตุ : เชิงอรรถเลขอารบิกเป็นของผู้เขียน เชิงอรรถเลขโรมันเป็นของผู้แปล

หนังสือ ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติ หรือ The Age of Revolution (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1962) เป็นหนังสือเล่มแรกในชุดไตรภาคว่าด้วย “ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน” ประกอบด้วย The Age of Revolution (1789-1848), The Age of Capital (1848-1875) และ The Age of Empire (1875-1914) โดยมี The Age of Extremes (1914-1991) เป็นภาคต่อเนื่องปิดท้ายเพื่ออภิปรายถึงผลพวงต่างๆ ที่ดำเนินต่อมาในศตวรรษที่ 20

ถึงแม้เอริค ฮ็อบส์บอม จะกล่าวไว้ใน “อารัมภบท” ว่าเขาตั้งใจเขียนหนังสือชุดนี้ให้คนทั่วไปอ่าน แต่การอ่านหนังสือเล่มนี้ (หรือชุดนี้) ก็ต้องอาศัยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุโรปและประวัติศาสตร์โลกพอประมาณ ฮ็อบส์บอมเป็นนักประวัติศาสตร์ก็จริง แต่หนังสือชุดนี้ไม่ใช่งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ไม่มีการเล่าเรื่องเชิงลำดับเหตุการณ์ หากจะเปรียบไปแล้ว หนังสือชุดนี้คือการมองโลกในช่วงสมัยเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยสายตาของนกที่มองลงไปสลับกับมองไปข้างหน้าโดยใส่แว่นตาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของแนวคิดมาร์กซิสต์

“ศตวรรษที่ 19 อันยาวนาน” คือช่วงเวลาที่โลกพลิกผันทางสังคม-การเมืองและเศรษฐกิจ มันคือช่วงเวลาที่ก่อเกิดเสรีนิยม ชาตินิยม สังคมนิยม ชนชั้นกลาง ชนชั้นแรงงาน ประชาธิปไตย และบ่อนเซาะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงแม้ว่าจะไม่สิ้นซาก ความเปลี่ยนแปลงที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินอันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ยุโรป ส่งแรงสะเทือนไปทั่วทั้งโลก ไม่เพียงเปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง แต่ยังเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิดและพฤติกรรมของมนุษย์อย่างถึงรากเหง้า

ด้วยความที่หนังสือชุดนี้ไม่ใช่ตำราประวัติศาสตร์เสียทีเดียว ดังนั้น ผู้อ่านจึงไม่จำเป็นต้องอ่านเรียงไปทีละบท ช่วงครึ่งหลังของหนังสือที่เป็นการวิเคราะห์น่าจะอ่านง่ายกว่าครึ่งแรกที่ต้องมีพื้นฐานประวัติศาสตร์มาบ้าง (อย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผู้แปล) หนังสือชุดนี้มุ่งทำความเข้าใจอดีตเพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน มันทำให้เรารู้ว่าสังคมมนุษย์ไม่ได้เป็นแบบนี้มาตลอด มันเคยเป็นอย่างอื่นในอดีต และมันสามารถเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นได้ในอนาคต เพียงแต่การเปลี่ยนไปก็ยังต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขทางวัตถุในอดีตและปัจจุบัน พลังทางวัตถุอาจกำหนดทิศทางของประวัติศาสตร์ แต่เจตจำนงของมนุษย์ ทั้งมนุษย์ปัจเจกบุคคลและหมู่คณะ ก็มีส่วนกำหนดบทลงเอยของประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน

ในการแปลหนังสือเล่มนี้ ผู้แปลขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่ให้โอกาสผู้แปลแปลงานแบบนี้โดยไม่คำนึงถึงยอดขาย และจะมีการแปลต่อเนื่องไปจนครบทั้ง 4 เล่มของหนังสือชุดนี้ ขอบคุณคุณวริศา กิตติคุณเสรี ผู้เป็นบรรณาธิการ ขอบคุณกองบรรณาธิการและคณะทำงานของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันทุกคนที่ช่วยตรวจต้นฉบับ พิสูจน์อักษร ทำดรรชนี ออกแบบรูปเล่มและออกแบบปก ขอบคุณอาจารย์ตฤณ ไอยะรา ที่ให้คำแนะนำและกำลังใจ และขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านล่วงหน้า ผู้อ่านทุกท่านคือรางวัลในชีวิตของผู้แปลเสมอ

ภัควดี วีระภาสพงษ์
17 พฤษภาคม 2023

หนังสือเล่มนี้สืบสาวความเปลี่ยนแปลงของโลกระหว่างปี ค.ศ. 1789 จนถึง 1848 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “การปฏิวัติทวิภาค” (dual revolution) กล่าวคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 และการปฏิวัติอุตสาหกรรม (อังกฤษ) ในยุคสมัยเดียวกัน ดังนั้น หากกล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว หนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ประวัติศาสตร์ยุโรปหรือประวัติศาสตร์โลก หากมีประเทศหนึ่งใดรู้สึกถึงผลสะท้อนของการปฏิวัติทวิภาคในช่วงเวลานั้น ผู้เขียนจะพยายามหยิบยกมาเอ่ยถึง แต่ส่วนใหญ่แค่พอสังเขป หากผลกระทบของการปฏิวัติต่อประเทศใดในยุคสมัยนี้ไม่มีนัยสำคัญ ผู้เขียนก็ขอข้ามไป ด้วยเหตุนี้ ผู้อ่านจะพบเรื่องราวบางประการเกี่ยวกับอียิปต์ในหนังสือ แต่ไม่มีการเอ่ยถึงญี่ปุ่น กล่าวถึงไอร์แลนด์มากกว่าบัลแกเรีย กล่าวถึงลาตินอเมริกามากกว่าแอฟริกา แน่นอน ทั้งนี้มิได้หมายความว่าประวัติศาสตร์ของประชาชนและประเทศต่างๆ ที่ถูกละเลยในหนังสือเล่มนี้น่าสนใจน้อยกว่าหรือสำคัญน้อยกว่าประชาชนและประเทศที่ถูกหยิบยกขึ้นมา หากมุมมองของหนังสือมาจากมุมมองของยุโรปเป็นหลัก หรือกล่าวให้ถูกต้องยิ่งกว่านั้นก็คือเป็นมุมมองของฝรั่งเศส-บริเตน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะในช่วงเวลานั้น โลก (หรืออย่างน้อยก็ส่วนใหญ่ของโลก) ถูกเปลี่ยนรูปแปรโฉมโดยมีรากฐานจากยุโรป หรือยิ่งกว่านั้นก็คือรากฐานจากฝรั่งเศส-บริเตนนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หัวข้อบางอย่างซึ่งควรวิเคราะห์วิจารณ์อย่างละเอียด ก็ถูกตัดออกไปด้วย ไม่เพียงเพราะเหตุผลด้านความยาวของหนังสือ แต่เพราะมันได้รับการวิเคราะห์วิจารณ์อย่างยืดยาวในเล่มอื่นของหนังสือชุดนี้อยู่แล้ว (เช่น ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น)

วัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การพรรณนาเหตุการณ์ แต่เป็นการตีความและการบรรยายแบบที่ชาวฝรั่งเศสเรียกว่า haute vulgarization [1] กล่าวในเชิงทฤษฎีแล้ว ผู้อ่านในอุดมคติของหนังสือเล่มนี้ก็คือ พลเมืองที่มีสติปัญญาและมีการศึกษา ผู้ไม่เพียงสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับอดีต แต่ปรารถนาทำความเข้าใจว่าโลกกลายเป็นอย่างทุกวันนี้ได้อย่างไรและเพราะอะไร รวมทั้งโลกจะดำเนินไปทางไหน ดังนั้น หากเนื้อหาหนักแปล้ไปด้วยเทคนิควิธีทางวิชาการสำหรับผู้อ่านที่มีความรู้มากขึ้นไปอีกระดับ มันก็จะกลายเป็นการอวดภูมิหยุมหยิมอย่างไม่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ เชิงอรรถของผู้เขียนเกือบทั้งหมดจึงเป็นแค่การอ้างอิงแหล่งข้อมูลดั้งเดิมที่คัดอ้างข้อความหรือตัวเลขมา หรืออ้างถึงแหล่งข้อมูลต้นทางในกรณีที่ข้ออ้างนั้นมีข้อโต้แย้งหรือน่าแปลกใจเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนควรกล่าวอะไรสักหน่อยเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่เป็นพื้นฐานของหนังสือซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว้างขวางมากเช่นนี้ นักประวัติศาสตร์ทุกคนมีความเชี่ยวชาญในบางสาขามากกว่าบางสาขา (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มีความไม่รู้ในบางสาขามากกว่าบางสาขา) หากยกเว้นแค่ไม่กี่เรื่องที่ตัวเองรู้ นอกนั้นนักประวัติศาสตร์ก็ต้องอาศัยผลงานของนักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ เป็นส่วนใหญ่ สำหรับช่วงเวลาระหว่างปี 1789 จนถึง 1848 นั้น เฉพาะงานเขียนทุติยภูมิที่ตีพิมพ์ออกมาก็มีมากมายมหาศาลเกินความรู้ของปัจเจกบุคคลคนใด ต่อให้มีใครสักคนสามารถอ่านได้ทุกภาษาที่เขียนออกมาก็ตามที (แน่นอน นักประวัติศาสตร์ทุกคนย่อมมีข้อจำกัดที่อ่านได้แค่ไม่กี่ภาษาเป็นอย่างมาก) เนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มนี้อาศัยข้อมูลทุติย­ภูมิหรือกระทั่งตติยภูมิและย่อมมีข้อผิดพลาดแน่ๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะรวบรัดตัดความบางเรื่อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคงเสียดายเช่นเดียวกับผู้เขียน ท้ายเล่มจึงมีบรรณา­นุกรมเพื่อเป็นแนวทางในการศึกษาค้นคว้าต่อไป

ถึงแม้เราไม่สามารถสางข่ายใยของประวัติศาสตร์ออกเป็นเส้นด้ายแต่ละเส้นแยกจากกันโดยไม่ทำลายข่ายใยทั้งผืน แต่เพื่อวัตถุประสงค์ในเชิงปฏิบัติ การแยกย่อยเนื้อหาบางส่วนก็ยังจำเป็น ผู้เขียนพยายามแบ่งหนังสือเล่มนี้ออกเป็นสองภาคใหญ่ๆ ภาคแรกบรรยายกว้างๆ ถึงพัฒนาการหลักๆ ของยุคสมัย ส่วนภาคที่สองแสดงให้เห็นเค้าโครงของลักษณะสังคมที่เป็นผลพวงจากการปฏิวัติทวิภาค อย่างไรก็ตาม มีเนื้อหาบางส่วนที่ตั้งใจให้เหลื่อมซ้อนกัน และการแบ่งหนังสือเป็นสองภาคก็เพื่อความสะดวกล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับทฤษฎีใดๆ

ผู้เขียนขอขอบคุณบุคคลหลายคน บางคนผู้เขียนได้ถกเถียงอภิปรายแง่มุมต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ส่วนบางคนก็ช่วยอ่านบางบท ทั้งเมื่อยังเป็นฉบับร่างหรือต้นฉบับสุดท้าย แต่ทุกท่านไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของผู้เขียน ผู้เขียนขอขอบคุณเป็นพิเศษต่อ เจ. ดี. เบอร์นัล, ดักลาส ดาคิน, แอร์นส์ ฟิชเชอร์, ฟรานซิส แฮสเคลล์, เอช. จี. เคอนิจส์แบร์เกอร์ และ อาร์. เอฟ. เลสลี บทที่ 14 ได้แนวคิดมาจากแอร์นส์ ฟิชเชอร์ อย่างมาก มิส พี. เรล์ฟ ช่วยเหลือผู้เขียนอย่างยิ่งในฐานะเลขานุการและผู้ช่วยวิจัย มิส อี. เมสัน ช่วยรวบรวมและจัดทำดรรชนีท้ายเล่ม

อี. เจ. เอช.
ลอนดอน, ธันวาคม 1961

[1] การอธิบายให้เข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านทั่วไป—กองบรรณาธิการ