ฟ้าเดียวกัน 17/2 : กำเนิดสยามจากประวัติศาสตร์ศิลป์และโบราณคดี

ลดราคา!

฿225.00


Back Cover
รหัสสินค้า: 9786167667829 หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

บทบรรณาธิการ

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข

ทัศนะวิพากษ์

กำเนิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่าน “จินตกรรมรัฐสยามทางศิลปะ”

ชาตรี ประกิตนนทการ

รัฐวิศวกรรม : มองการสร้างรัฐราชการ ผ่านปฏิบัติการเชิงเทคโน

จักรกริช สังขมณี

ปริเทวนาการ : นาฏกรรมของภาพในภาวะเปลี่ยนผ่านรัชสมัย

ธนาวิ โชติประดิษฐ

มึงเป็นใครใน “กูไม่กลัวมึง” ของคึกฤทธิ์ ปราโมช : ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในฐานะปัญญาชน “ราดิคัลคอนเซอร์เวทีฟ”

ธนาพล อิ๋วสกุล

ซอยสวนพลู

คึกฤทธิ์ ปราโมช

สามก๊ก ฉบับ “ปติวัติภาสาไทย” : วาระแห่ง“หนังสือจอมพล (พ.ส. 2485-2487)”

นริศ จรัสจรรยาวงศ์

บทความปริทัศน์

THAI MILITARY POWER ทำไมทหารไทยจึงอ่อนแอ

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

มายาคติของสองฝั่งสี และบาดแผลจากความรุนแรงโดยรัฐ

ภัควดี วีระภาสพงษ์

อ่านต่อ >>

ผู้อยู่เหนือเงื่อนไข

การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คือฉันทามติของชนชั้นนำฝ่ายอำมาตย์ว่าการปล่อยให้ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งสะท้อนความต้องการของประชาชน มีอำนาจเหนือฝ่ายตนนั้นไม่อาจทนได้อีกต่อไป แม้ว่าในกระแสโลกการรัฐประหารโดยกองทัพจะเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ไปแล้ว เมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 การรัฐประหารโดยกองทัพทั่วโลกสำเร็จเพียง 9 ครั้ง และมีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่สำเร็จ 2 ครั้ง คือ กินีบิสเซา (2003, 2012) ซึ่งเป็นประเทศยากจนในแอฟริกา และไทย (2006, 2014)

แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ฝ่ายอำมาตย์ร่วมกันร่างขึ้นมาหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่าเป็น “รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ก็ไม่เพียงพอที่จะทัดทานอำนาจประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

การรัฐประหาร 2557 จึงมาพร้อมกับแพ็กเกจทางการเมือง นั่นคือ หนึ่ง มีผู้นำทางการเมืองแบบประยุทธ์ จันทร์โอชาและพวกพ้อง ผู้ที่ไม่แยแสต่อความรู้สึกของประชาชน แต่ตอบสนองทุกความต้องการของฝ่ายอำมาตย์ สอง ระบบการเมืองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จ 5 ปี ที่มีมาตรา 44 รองรับทุกการกระทำ และสาม รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ฝ่ายอำมาตย์ “ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ที่ฝืนเจตนารมณ์ของการออกเสียงเลือกตั้ง จนส่งให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยวุฒิสภา 250 คนที่ตั้งมากับมือ ยกมือโหวตให้อย่างพร้อมเพรียงกัน

ขณะที่นักการเมืองที่ต่อต้านรัฐประหารถูกอำนาจรัฐเล่นงานในทุกรูปแบบ ทั้งการข่มขู่คุกคามและการดำเนินคดีทางกฎหมายจากทั้งศาลทหาร ศาลยุติธรรม และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับรอดทุกคดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ว่า ในฐานะหัวหน้า คสช. ประยุทธ์ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ด้วยเหตุว่า

  1. หัวหน้าคณะรักษาความความสงบแห่งชาติเป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ
  2. ป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จากการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ
  3. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา หรือการกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานรัฐใด
  4. เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง
  5. มีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน

นี่เท่ากับบอกว่า ประยุทธ์เป็นผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ เพราะมีอำนาจเด็ดขาด ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่ให้กำเนิดสถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล ตลอดจนองค์กรรัฐทุกองค์กร ด้วยเหตุที่เป็นทั้งรัฏฐาธิปัตย์ ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา/กำกับดูแลของรัฐ และไม่ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย

คำถามคือระบอบการเมืองใดที่อนุญาตให้ประยุทธ์มีสถานะเช่นนี้ได้

คงไม่ใช่ “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อย่างแน่นอน

อีกคำถามที่สำคัญคือ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ประยุทธ์ นายทหารนอกราชการ กลายเป็นผู้อยู่เหนือเงื่อนไขทั้งหมดได้

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล เมื่อปี 2554 ที่ว่า ถึงแม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะอวสานไปแล้ว แต่ “มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่กับเราทุกอณู” นั้น จะพบว่าข้อเสนอนี้ดูจะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองว่าประยุทธ์คือภาพสะท้อนของมรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อเสนอนี้ยังชัดเจนมากขึ้นไปอีก เมื่อพิจารณาควบคู่ไปกับการทำลายมรดกของการปฏิวัติสยาม 2475 (ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ซึ่งมีทั้งการทำลายวัตถุทางความทรงจำ เช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หลักสี่ และการทำลายคุณค่าของ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นมรดกของการปฏิวัติสยาม 2475 อย่างตรงไปตรงมา จากกรณีที่ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ก่อนปฏิบัติหน้าที่โดยงดเว้นการกล่าวประโยคที่ว่า “จะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ปัจจุบันถึงแม้การเมืองไทยจะถอยหลังไปเพียงใด แต่นี่ก็ไม่ใช่ระบอบสมบูรณาญา­สิทธิราชย์แบบที่อวสานไปแล้วเมื่อ 24 มิถุนา 2475 กระนั้นก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าเหล่านี้คือมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สังคมต้องตกลงร่วมกันว่าจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันต่างๆ ไว้ตรงไหนอย่างไร ประชาชนจะยังเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดหรือไม่ หรือจะยอมให้มีผู้อยู่เหนือเงื่อนไขต่อไป

อ่านต่อ >>