Sale 10%

ชาวนาการเมือง

ปกแข็ง 450.00 บาทปกอ่อน 360.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อหนังสือ

Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy

ผู้เขียน

แอนดรู วอล์คเกอร์

ผู้แปล

จักรกริช สังขมณี

จำนวนหน้า

384

ปีที่พิมพ์

2559

ISBN ปกอ่อน

9786167667515

ISBN ปกแข็ง

9786167667522

สารบัญ

ภาพประกอบ

คำนำสำนักพิมพ์

กิตติกรรมประกาศ

บทนำ ชาวนา อำนาจ และสังคมการเมือง

บทที่ 1 ชาวนาที่ยังดำรงคงอยู่ของประเทศไทย

บทที่ 2 เศรษฐกิจชนบทรายได้ปานกลางของบ้านเทียม

บทที่ 3 การดึงอำนาจเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัว

บทที่ 4 พันธสัญญา ทุนเอกชน และรัฐ

บทที่ 5 เศรษฐกิจการเมืองของโครงการ

บทที่ 6 ชุมชน การทำให้อ่านออกง่าย และมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์

บทที่ 7 ธรรมนูญแห่งชนบท

บทสรุป สังคมการเมือง สังคมประชา และประชาธิปไตย

บรรณานุกรม

ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

ในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2551 แอนดรู วอล์คเกอร์ (Andrew Walker) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) ในขณะนั้น ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “Royal Sufficiency and Elite Misrepresentation of Rural Livelihoods” ซึ่งท้าทายวิธีคิดและการนำเสนอภาพชนบทของชนชั้นนำไทยผ่านการวิพากษ์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งยังชวนให้เรามองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะที่เป็นเครื่องมือเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน ทางกองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน ก็ได้นัดสัมภาษณ์แอนดรู วอล์คเกอร์ และได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ในชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง ประชาธิปไตยพอเพียง และรัฐธรรมนูญชาวบ้าน” (ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2551) ซึ่งนับเป็นการร่วมงานกันครั้งแรกระหว่างสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันกับวอล์คเกอร์

ในปีเดียวกันนั้นเองเขาได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง “The Rural Constitution and the Everyday Politics of Elections in Northern Thailand” ในวารสาร Journal of Contemporary Asiaซึ่งถือเป็นหนึ่งในงานบุกเบิกที่ร่วมกันฝ่าวาทกรรม “โง่ จน เจ็บ” ของผู้เลือกตั้งในชาวชนบทไทยที่ครอบงำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการ เลือกตั้งมาอย่างยาวนาน บทความชิ้นดังกล่าวเป็นหนึ่งในบทความสำคัญ 4 ชิ้นที่ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้จัดแปลและรวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือ การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง : วาทกรรม อำนาจ และพลวัตชนบทไทย โดยมีประจักษ์ ก้องกีรติ เป็นบรรณาธิการ (และเป็นบทที่ 7 ของหนังสือเล่มนี้) งานเหล่านี้ศึกษาวัฒนธรรมการเมืองท้องถิ่นและแสดงให้เห็นว่า ชาวชนบทไม่ใช่ผู้ถูกกระทำทางการเมืองที่เฉื่อยชาตามภาพเหมารวมที่ถูกสร้างขึ้น แต่เป็นผู้ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง มีการต่อสู้ต่อรองกับผู้มีอำนาจด้วยวิธีการต่างๆ และมีกระบวนการเรียนรู้ที่จะประเมินและตัดสินการทำงานของนักการเมือง พรรคการเมือง และรัฐบาล ตามระบบคุณค่า/ค่านิยมของท้องถิ่นที่วอล์คเกอร์เรียกว่า “ธรรมนูญแห่งชนบท” ซึ่งได้รวมเอาเกณฑ์ตัดสินคุณค่าแบบสมัยใหม่บางอย่าง เช่น การให้ความสำคัญกับการบริหารที่โปร่งใสไว้ด้วย

สำหรับหนังสือ Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economyเล่มนี้ วอล์คเกอร์ได้ศึกษาพลวัตของอำนาจในชนบท ซึ่งมีตัวแสดงหลักหน้าใหม่ที่เขาเรียกว่า “ชาวนารายได้ปานกลาง” (หรือที่นักวิชาการบางคนเรียกว่า ชนชั้นกลางใหม่ ชนชั้นกลางระดับล่าง) เกิดขึ้นและกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดในชนบทไทยปัจจุบัน วอล์คเกอร์เสนอว่า การเมืองของชาวนารายได้ปานกลางนั้น แตกต่างจากการเมืองของชาวนาผู้ยากไร้ในอดีตหรือชาวนาชายขอบในปัจจุบันในแง่ที่ว่า ชาวนารายได้ปานกลางไม่ได้ต่อต้านอำนาจที่มาจากภายนอก แต่ต้องการสร้างสายสัมพันธ์กับแหล่งอำนาจต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์แก่ตน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจของตลาด/ทุน อำนาจของผี หรืออำนาจทางศีลธรรมของชุมชน ซึ่งเป็นสีปริมณฑลสำคัญใน “สังคมการเมือง” แบบใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในชนบท

สังคมชาวนาของไทยไม่ได้สูญสลายไปตามคำทำนายของนักทฤษฎีหลายคนในศตวรรษที่ 20 แต่การดำรงคงอยู่ของสังคมชาวนาไทยนั้นพึ่งพาอาศัยการสนับสนุนของรัฐเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนนโยบายด้านการคลังของรัฐจากการเรียกเก็บภาษีจากชนบทไปสู่การให้เงินอุดหนุนแก่ชนบท เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเป็นภัยคุกคามทางการเมืองได้นั้น มีบทบาทสำคัญในการดำรงรักษาประชากรจำนวนมากไว้ ในชนบท ซึ่งแม้ว่าจะเป็นประชากรที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ก็ไม่มีผลิตภาพเพียงพอที่จะตอบสนองความมุ่งมาดปรารถนาต่างๆ ที่เกิดจากการกระตุ้นของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญของชาวนารายได้ปานกลางจึงอยู่ที่การเพิ่มผลิตภาพ ด้วยการดึงงบประมาณของรัฐและทุนเอกชนเข้าสู่หมู่บ้าน และการเลือกตั้ง ก็เป็นช่องทางสำคัญในการใช้อำนาจของพวกเขา เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายและโครงการต่างๆ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและดึงทรัพยากรจากภายนอกเข้ามาพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

พลังของการเลือกตั้งทำให้ฐานต่อรองทางอำนาจเคลื่อนย้ายจากเมืองหลวงไปสู่เขตเลือกตั้งในชนบท โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งมีสัดส่วนที่นั่งในสภาค่อนข้างมาก ชนชั้นนำและชนชั้นกลางเก่าพยายามทำลายความชอบธรรมของอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวาทกรรมเรื่องการซื้อเสียงและความ “โง่-จน-เจ็บ” ของผู้เลือกตั้งในชนบท และดึงอำนาจกลับมาอยู่ในมือชนชั้นนำเสียงข้างน้อย พวกเขาวิจารณ์ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณว่าส่งเสริมให้คนชนบทเกิดความคาดหวังทางเศรษฐกิจที่เกินตัว บ่อนทำลายวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชนบท ซึ่งก็สอดคล้องกับการรณรงค์ต่อต้านทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ขององค์กรภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนไม่ยอมรับความต้องการของคนชนบทที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น อยากส่งลูกหลานเรียนมหาวิทยาลัย ฯลฯ แต่ต้องการกดพวกเขาไว้ให้อยู่แบบพอเพียงในหมู่บ้านมันจึงเป็นบทแย้งของ “สังคมการเมือง” แบบใหม่ในชนบท

รัฐบาลหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 พยายามบ่อนทำลาย “สังคมการเมือง” แบบใหม่ในชนบท และพาประเทศถอยหลังย้อนกลับไปในยุครัฐราชการ แต่ถ้าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชนบทที่ก่อให้เกิดชาวนารายได้ปานกลางเป็นของจริง ความพยายามกดทับเสียงของชาวชนบทด้วยอำนาจจากกระบอกปืนก็คงพิสูจน์กันต่อไปว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

สุดท้าย สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขอขอบคุณแอนดรู วอล์คเกอร์ ผู้เขียน และจักรกริช สังขมณี ผู้แปล รวมทั้ง The University of Wisconsin Press เป็นอย่างสูง ที่มอบความไว้วางใจให้เราดำเนินการแปลและจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา

อนึ่ง ในหนังสือเล่มนี้ผู้แปลเลือกใช้คำว่า “สังคมประชา” สำหรับการแปลคำว่า “civil society” เพื่อให้สอดรับกับคำว่า “สังคมการเมือง” (political society) ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของปาร์ธาแชทเทอร์จี ที่ถูกใช้เป็นตัวเปรียบต่างของแนวคิดเรื่อง “civil Society” อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงองค์กรหรือขบวนการเคลื่อนไหวของ “civil Society” ผู้แปลใช้คำว่า “ภาคประชาสังคม” เนื่องจากเป็นคำที่นิยมใช้กันจนกลายเป็น ศัพท์เฉพาะไปแล้ว

กิตติกรรมประกาศ

บุคคลหลายคนมีส่วนสำคัญในการทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นมาได้ ผู้เขียนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมากต่อรุ่งนภา เกษมราช ผู้ช่วยวิจัยในช่วงที่ผู้เขียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลในบ้านเทียม รุ่งได้ใช้เวลาอยู่ในบ้านเทียมนานกว่าผู้เขียนมาก และความอดทน ความมุมานะ ตลอดจนรายงานที่ละเอียดของเธอ ทำให้ผู้เขียนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเขียนหนังสือเล่มนี้ สุปราณี เดวิส ผู้ช่วยวิจัยอีกคนหนึ่ง ได้ช่วยเหลือผู้เขียนเป็นอย่างมากในช่วงเริ่มเก็บข้อมูลที่แสนจะวุ่นวาย สุเป็นผู้สำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับประชากร การเกษตร และอำนาจเหนือธรรมชาติ นิโคลัสฟาร์เรลลี (Nicholas Farrelly) ผู้เป็นทั้งมิตรและเพื่อนร่วมงานได้ร่วมลงพื้นที่ที่บ้านเทียมกับผู้เขียนในช่วงแรกๆ ของการวิจัย ในระหว่างการลงพื้นที่ช่วงนั้นและในการสนทนาที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง นิคได้ช่วยทำให้ความคิดของผู้เขียนเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสังคมไทยเป็นรูปเป็นร่างขึ้นอย่างมาก

แน่นอนว่าผู้เขียนจะต้องขอบคุณชาวบ้านหลายคนในหมู่บ้านซึ่งผู้เขียนเรียกว่า “บ้านเทียม” ผู้เขียนอยากจะระบุชื่อเสียงเรียงนามของพวกเขา อย่างไรก็ตาม การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างเปิดเผยของผู้เขียนบางส่วนได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้มีอำนาจในสังคมไทย และผู้เขียนไม่ต้องการสร้างปัญหาความยุ่งยากใดๆ ให้แก่มิตรสหายและครอบครัวเจ้าของบ้านที่ผู้เขียนไปพักอาศัย อีกทั้งประเด็นอ่อนไหว บางประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาอภิปรายในหนังสือเล่มนี้ก็เป็นเหตุผลอันสมควรที่จะต้องปกปิดชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของพวกเขาไว้ ผู้หญิงที่ผู้เขียนเรียกว่า “ป้ากล้วย”ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเจ้าของบ้านที่ให้การดูแลผู้เขียนเป็นอย่างดีในช่วงเวลาส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนทำงานวิจัยในบ้านเทียม ป้ากล้วย พร้อมทั้งสามี แม่ และลูกสาวของเธอ ล้วนแล้วแต่ให้การต้อนรับขับสู้ผู้เขียนเป็นอย่างดีในบ้านของเธอ ชาวบ้านคนอื่น ๆ ใน หมู่บ้านก็ตอบคำถามต่างๆ ด้วยความอดทน ช่วยให้ข้อมูลในการสำรวจ แบ่งปันอาหาร และการเฉลิมฉลอง จับเข่านินทา หัวเราะเฮฮา คอยอธิบายสิ่งต่างๆ ให้ฟังอย่างยึดยาว และทำให้การทำงานวิจัยในหมู่บ้านแห่งนี้ได้ทั้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์และความสนุกสนาน ขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับเด็กผู้คอยช่วยเหลืองานวิจัยในแง่มุมต่างๆ แดงสำหรับการแบ่งปันความรู้อันน่าทึ่งของเธอในเรื่องการเกษตร แต้มสำหรับคำอธิบายต่างๆ และเรื่องซุบซิบนินทาที่ออกรสชาติ วีสำหรับการวิเคราะห์เรื่องต่างๆ ที่ไม่มีใครเหมือน (ยังไม่รวมพวกคำผวนและการเล่นคำของเขาที่ผู้เขียนไม่ค่อยจะเข้าใจนัก) อ๋อ ตาล และแจนสำหรับคำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ตลอดจนสุ ตา และล้วน ที่ให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการต่างๆ แก่ผู้เขียน นอกอาณาบริเวณของบ้านเทียม เจ้าหน้าที่ในสำนักงานเทศบาล ที่ว่าการอำเภอ สหกรณ์การเกษตร ตลอดจนร้านค้าและ ร้านอาหารหลายแห่งก็มีส่วนช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจกิจการต่างๆ ของท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ในขณะที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานสองแห่งของวิทยาลัย เอเชียและแปซิฟิก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เขียนเริ่มงานวิจัยชิ้นนี้ในขณะที่ทำงานอยู่ภายใต้โครงการการจัดการทรัพยากรในเอเชียและแปซิฟิก หรือ RMAP (Resource Management in Asia Pacific Program) แรกเริ่มเดิมที ผู้เขียนตั้งใจที่จะเน้นประเด็นการศึกษาวิจัยทั้งหมดไปที่เรื่องการจัดการทรัพยากร แต่แล้วก็มีเรื่องอื่นที่ทำให้ความสนใจของผู้เขียนเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ทำงานอยู่ที่โครงการ RMAP นักศึกษาปริญญาเอกหลายคนมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนความคิดของผู้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับชุมชนชาวนา ไม่ว่าจะเป็น Holly High ซึ่งศึกษาเรื่องการพัฒนาในประเทศลาว Sarinda Singh ซึ่งทำงานวิจัยเกี่ยวกับป่าไม้และ อำนาจในประเทศลาว จักรกริช สังขมณี ซึ่งเขียนวิทยานิพนธ์ว่าด้วยการเมืองของการพัฒนาแหล่งน้ำในประเทศไทย และ Jinghong Zhang ซึ่งศึกษาความนิยมคลั่งไคล้ชา พู่เออ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ในปี 2552 ผู้เขียนย้ายมาประจำอยู่ที่ ภาควิชาความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมือง ภายใต้การนำของ Paul Hutchcroftและ Ed Aspinalในเวลาต่อมา ผู้เขียนขอขอบคุณทั้งสองคนนี้และเพื่อนร่วมงานใหม่คนอื่นๆ ทั้งหมดสำหรับการต้อนรับผู้เขียนอย่างอบอุ่นสู่พื้นที่ใหม่แห่งนี้ หลังจากนั้นไม่นาน Tyrell Haberkornก็เข้ามาร่วมงานกับผู้เขียน เธอมักจะมีมุมมองที่เป็นประโยชน์ มีรายชื่อหนังสือมาแนะนำ และมีกำลังใจที่แบ่งปันให้อยู่เสมอ ผู้เขียนยังได้ประโยชน์จากการอภิปรายเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจชาวนาหลายต่อหลายครั้งกับณัฐกานต์ อัครพงศ์พิศักดิ์ นักศึกษาปริญญาเอกซึ่งกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับการยึดครองที่ดินในภาคเหนือของไทย ในช่วงปีสุดท้ายของการเขียน ผู้เขียนโชคดีที่มีพงษ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ มาช่วยงานวิจัย พงษ์พิสุทธิ์เป็นเจ้าแห่งการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่กระจัดกระจายและบางครั้งก็ขัดแย้งกันให้เป็นระบบที่มีความสอดคล้องต้องกัน เขาได้ไล่เรียงข้อมูลจำนวนมหาศาลซึ่งช่วยทำให้การอภิปรายในหนังสือเล่มนี้สมบูรณ์มากขึ้น

ยังมีคนอื่นๆ อีกหลายคนที่ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี Craig Reynoldsเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ กำลังใจ และคำแนะนำทางวิชาการโดยทั่วไปและเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทยโดยเฉพาะ Tim Forsyth ช่วยเป็นแรงกระตุ้นในยามที่ผู้เขียนอ่อนล้าPeter Warr, IkukoOkamoto และเบญจพรรณ เอกะสิงห์ ช่วยเหลือผู้เขียนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ Ryan Lane และ David Gilbert ให้ความเห็นที่แหลมคม และ Assa Doran ช่วยแนะนำหนังสือและบทความที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง Chris Baker Katherine Bowie และ Jonathan Riggสละเวลาอ่านต้นฉบับทั้งหมด และความเห็นที่ละเอียดของพวกเขาได้ช่วยทำให้ข้อถกเถียงและการอภิปรายชัดเจนขึ้นอย่างมิอาจประเมินค่าได้ แนวคิดบางประการในหนังสือเล่มนี้เคยผ่านการทดสอบสนามมาก่อนในเว็บไซต์ New Mandalaซึ่งผู้เขียนดูแลร่วมกับ Nicholas Farrellyผู้เขียนได้รับ ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์อย่างมากจากผู้อ่านเว็บ และข้อวิจารณ์ที่สำคัญบางส่วนก็ช่วยให้ผู้เขียนปรับเปลี่ยนและขัดเกลาข้อถกเถียงของตัวเองให้ชัดเจนมากขึ้น ผู้เขียนอยากจะขอขอบคุณผู้อ่านสองคนเป็นพิเศษ คือ Chris Baker และ Jean-Philippe Leblondทั้งสองคนนี้ได้ให้ข้อคิดเห็นที่หลักแหลมอย่างต่อเนื่อง และแนะนำแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำคัญที่ผู้เขียนอาจจะละเลยไป New Mandalaยังทำให้ผู้เขียนได้ติดต่อทางอีเมล์กับ Rick Donerผู้เขียนหนังสือเรื่อง Politics of Uneven Developmentซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อรูปความคิดของผู้เขียนเป็นอย่างมาก

บางส่วนของหนังสือเล่มนี้ดึงมาจากงานเขียนเกี่ยวกับบ้านเทียมชิ้นก่อนๆ ของผู้เขียน กล่าวคือ บทที่ 3 เป็นบทที่เขียนขึ้นมาใหม่จากบทความ “Matrilineal Spirits, Decent, and Territorial Power in Northern Thailand” ตีพิมพ์ในวารสาร Australian Journal of Anthropology17, 2 (2006) บทที่ 4 ปรับปรุงมาจากบทความ “Now the Companies Have Come: Local Values and Contract Farming in NorthernThailand” ตีพิมพ์ในหนังสือ Agrarian Angst and Rural Resistance in Contemporary Southeast Asia (London: Routledge, 2009) ซึ่งมี Sarah Turner และ Dominique Caouetteเป็นบรรณาธิการ บางส่วนของบทที่ 6 ใช้ข้อมูลจากบทความ “The Festival, the Abbot, and the Son of the Buddha” ตีพิมพ์ในหนังสือ Tai Lands and Thailand: Community and State in Mainland Southeast Asia (Singapore : National University of Singapore Press, 2010) ซึ่งมีผู้เขียนเป็นบรรณาธิการ และบทที่ 7 ปรับปรุงจากบทความ “The Rural Constitution and the Everyday Politics of Elections in Northern Thailand” ตีพิมพ์ใน Journal of Contemporary Asia38, 1 (2008) ผู้เขียนขอขอบคุณผู้จัดพิมพ์ทั้งหลายที่อนุญาตให้นำงานเหล่านี้มาใช้ในหนังสือเล่มนี้

บางส่วนของงานวิจัยที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนจาก Discovery Project (project no. DP0881496) ของสภาการวิจัยแห่งประเทศออสเตรเลีย

ผู้เขียนรู้สึกขอบคุณเป็นอย่างมากต่อสมาชิกในครอบครัวของผู้เขียน คือ Diane, Mali และ Josh พวกเขาให้การสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับผู้เขียนในการทำงานเสมอมา แม้ว่างานดังกล่าวจะยึดครองเวลาและพลังงานของผู้เขียนมากเกินไปทั้งยังพรากผู้เขียนไปจากบ้านอยู่เป็นประจำ หนังสือเล่มนี้ผู้เขียนขออุทิศให้กับพวกเขาทั้งสามคน

ทดลองอ่าน