Sale 10%

ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย

ปกแข็ง 450.00 บาทปกอ่อน 360.00 บาท

รหัส: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลทั่วไป

ผู้เขียน

ธงชัย วินิจจะกูล

จำนวนหน้า

352

ปีที่พิมพ์

2562

ISBN ปกอ่อน

9786167667751

ISBN ปกแข็ง

9786167667768

สารบัญ

คำนำสำนักพิมพ์

บทนำ

ภาค 1 ปริทัศน์ประวัติศาสตร์นอกขนบ

บทที่ 1 ภูมิทัศน์ของอดีตที่เปลี่ยนไป : ประวัติศาสตร์ชุดใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลา

บทที่ 2 ชาตินิยมกับปัญญาชนหัวก้าวหน้าในประเทศไทย

ภาค 2 Post-national History

บทที่ 3 การเมืองและวิธีวิทยาของ Siam Mapped

บทที่ 4 เขียนตรงรอยต่อ : นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประวัติศาสตร์แบบหลังชาติ

ภาค 3 แนะนำ Postmodern, Post-colonial History

บทที่ 5 การศึกษาประวัติศาสตร์แบบ Postmodern

บทที่ 6 การศึกษาประวัติศาสตร์แบบสาแหรก :   วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของฟูโกต์

ภาค 4 โครงเรื่องและเทศะมิติกับการสร้างประวัติศาสตร์

บทที่ 7 เรื่อง ลำาดับเรื่อง และโครงเรื่อง กับความรู้ประวัติศาสตร์

บทที่ 8 ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย กรณีพระมหาธรรมราชา :  ผู้ร้ายกลับใจ หรือถูกใส่ความโดย plot ของนักประวัติศาสตร์

บทที่ 9 ประชาธิปไตยไทยในความทรงจำาของสังคม :  เรื่องเล่าเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยอนุสาวรีย์

บทที่ 10 ผีหลายตนที่ท่าพระจันทร์ :   การเมืองของภูมิสถานและความทรงจำ

ประวัติผู้เขียน

ประวัติการตีพิมพ์

บรรณานุกรม

ดรรชนี

คำนำสำนักพิมพ์

หนังสือ ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย เล่มนี้ เป็นหนังสือรวมบทความของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ลำดับที่ 5 ที่จัดทำโดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน แม้ทุกเล่มที่ผ่านมาจะถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ระดับอุดมศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย ทว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นเล่มที่เข้าใกล้คำว่า “ตำราเรียน” มากที่สุด

บทความต่างๆ ที่ถูกคัดสรรและจัดหมวดหมู่รวมอยู่ในเล่มนี้ ดูราวกับว่าเขียนขึ้นอย่างกระจัดกระจายในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา และเผยแพร่ครั้งแรกในลักษณะต่างกรรมต่างวาระ (3 ชิ้นเขียนในทศวรรษ 2530, 4 ชิ้นเขียนในทศวรรษ 2540, 2 ชิ้นเขียนในทศวรรษ 2550, และ 1 ชิ้นรวมถึงบทนำเขียนในปี 2561 ในวาระรวมเล่มครั้งนี้) กระนั้นก็ตาม เมื่อมารวมอยู่ด้วยกัน กลับสะท้อนชัดเจนถึงสมาธิ ความมุ่งมั่นไม่สั่นคลอนของผู้เขียน ที่จะผลักดันความรู้ประวัติศาสตร์ไทยให้ออกนอกขนบเดิมๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ไปพ้นจากประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม

สำหรับนักอ่านทั่วไป การอ่านหนังสือเล่มนี้อาจคล้ายได้กลับไปลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้แบบไม่จำเป็นต้องท่องจำอะไรเลย ทว่าถูกท้าทายให้หัดคิดและตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา

สำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์ หนังสือเล่มนี้จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ประวัติศาสตร์ในระดับมูลฐาน ให้ภาพรวมของกระแสความเคลื่อนไหวของวิทยาการประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามออกนอกขนบ เสนอแนะทฤษฎีวิพากษ์ทั้ง post-national, postmodern, post-colonial history และทฤษฎีที่ให้มุมมองเชิงพื้นที่ รวมไปถึงตัวอย่างการปรับใช้ทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ในการวิเคราะห์วิพากษ์อย่างเป็นรูปธรรม

หากการอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง คล้ายกับการได้สนทนากับคนคนหนึ่ง หนังสือเล่มนี้สะท้อนภาพธงชัย วินิจจะกูล ที่เป็นคู่สนทนาของผู้อ่่านในสามแง่มุมเป็นอย่างน้อย

แง่มุมแรก ธงชัยในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่อยู่ “กึ่งๆ กลางๆ” (in-between) ข้ามไปข้ามมาระหว่างโลกวิชาการในประเทศไทยกับนอกประเทศไทย กล่าวคือ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ในปี 1988 เขากลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพียงสองสามปี ก่อนย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 1991 จนถึง 2016 (รวม 25 ปี) ทำให้กล่าวได้ว่าชีวิตทางปัญญาของเขาอยู่ในระดับโลก ขณะที่ความสนใจและเชี่ยวชาญของเขาอยู่ที่เรื่องราวที่ดำเนินไปในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองและอุษาคเนย์

ธงชัยน่าจะตระหนักดีถึงตำแหน่งแห่งที่อันก้ำกึ่งของตนเอง ซึ่งไม่ใช่ทั้งคนนอก/คนในของวงวิชาการไทยศึกษา และเกือบๆ จะเป็น “คนอื่น” ในวงวิชาการอเมริกัน เขาขัดเกลามุมมองจากตำแหน่งแห่งที่กึ่งๆ กลางๆ นั้นจนแหลมคม แล้วใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังที่ผู้อ่านอาจเห็นได้ในภาค 1 ของหนังสือเล่มนี้ ธงชัยปริทัศน์ประวัติศาสตร์ไทยที่พยายามออกนอกขนบ อภิปรายถึงภูมิทัศน์ทางปัญญาของประวัติศาสตร์ชุดใหม่ 4 กระแสหลัง 14 ตุลา ชี้ให้เห็นข้ออ่อนและคุณูปการของกระแสต่างๆ อีกทั้งตรวจสอบและวิพากษ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำถึงร่องรอยความคิดชาตินิยมของปัญญาชนฝ่ายซ้าย ที่นำไปสู่การร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายกษัตริย์นิยมในขบวนการต่อต้านประชาธิปไตย ล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งในรัฐประหาร พ.ศ. 2549

ตำแหน่งแห่งที่อันก้ำกึ่งนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นใปอีกในภาค 2 โดยเฉพาะในบทความ “เขียนตรงรอยต่อ : นักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับประวัติศาสตร์แบบหลังชาติ” ซึ่งธงชัยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ “นักวิชาการเจ้าบ้าน” (home scholar) และการเขียนประวัติศาสตร์ตรงรอยต่อ (interstices) ในฐานะทางเลือกและข้อได้เปรียบสำหรับนักประวัติศาสตร์ “พื้นถิ่น” (native)  หากอ่านภาค 2 ทั้งสองบทความควบคู่กัน ผู้อ่านอาจสังเกตเห็นด้วยว่าตัวธงชัยเองก็ใช้แนวคิดดังกล่าวในงาน Siam Mapped ของเขาด้วย

แง่มุมที่สอง ธงชัยในฐานะอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ความเป็นครูของธงชัยน่าจะปรากฏชัดในหนังสือเล่มนี้มากกว่าเล่มอื่นๆ ในบทความ “การเมืองและวิธีวิทยาของ Siam Mapped” ในภาค 2 ธงชัยชำแหละแบงานของตัวเองให้เห็นอย่างละเอียด บอกเล่าทั้งแรงบันดาลใจในการเขียน วัตถุประสงค์ กลวิธีการเล่าเรื่อง แนวคิดทฤษฎีและวิธีวิทยาเบื้องหลัง ข้อถกเถียงสำคัญๆ รวมถึงตอบข้อโต้แย้งจากนักวิจารณ์ในประเด็นต่างๆ น่าจะมีนักวิชาการน้อยคนที่ชำแหละแบงานของตนเองเพื่อเป็นวิทยาทานแบบที่เขาทำ ส่วนในภาค 3 ผู้อ่านจะได้เรียนรู้แนวคิดพื้นฐานของกระแส postmodernism และ post-colonial history อย่างกว้างๆ แต่เป็นลำดับขั้น กระชับเข้าใจง่าย เนื่องจากธงชัยอธิบายทฤษฎีเหล่านี้ผ่านความเข้าใจของตนหรือย่อยมาให้แล้วชั้นหนึ่งนั่นเอง นอกจากนี้ ในภาค 4 ทั้งสี่บทความแสดงถึงการปรับใช้แนวคิดทฤษฎีจากภาค 2 และภาค 3 อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่ออ่านทั้งเล่ม ผู้อ่านอาจเห็นร่องรอยการออกแบบโครงเรื่อง ลำดับเรื่อง และความรู้ประวัติศาสตร์ ที่ธงชัยในฐานะ “ครูผู้สอนประวัติศาสตร์” ได้เตรียมการสอนมาอย่างแยบคาย

แง่มุมที่สาม ธงชัยในฐานะผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม และปฏิเสธแนวคิดชาตินิยมทุกรูปแบบ ผู้อ่านอาจรู้สึกได้ว่างานเขียนของธงชัยแม้เป็นงานวิชาการแต่ขณะเดียวกันก็เจือไปด้วยความรู้สึกหลายอย่างปะปนกัน ความรู้สึกดังกล่าวอาจเกิดจากประวัติศาสตร์บาดแผลของเขาเองในฐานะปัจเจกชนที่ผ่านโศกนาฏกรรมป่าเถื่อนที่กระทำการโดยรัฐและสถาบันสำคัญของสังคมไทย หรืออาจเกิดจากสายตาของนักประวัติศาสตร์ “ตรงรอยต่อ” ที่มองเห็นเรื่องราวที่แลดู “ปกติ” ในสายตาของคนทั่วไป แตกต่างออกไปลิบลับ คือขันขื่นอย่างที่สุดจนไม่รู้ว่าจะร้องไห้หรือหัวเราะดี สถานะผู้รอดชีวิตแต่ก็เหมือนตายทั้งเป็นด้วยอาลัยชั่วกาลนานถึงเพื่อนที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งแห่งที่กึ่งๆ กลางๆ ไปอีกแบบ เป็นพื้นที่ของเส้นทางทางปัญญาที่ออกจะสันโดษ มุ่งสอบสวนถอดรื้อประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างไม่ลดละ

บทนำ (ธงชัย วินิจจะกูล)

นักเรียนประวัติศาสตร์รู้กันดีว่าคำว่า “ประวัติศาสตร์” มีความหมายถึงสองสิ่งในเวลาเดียวกัน หนึ่ง หมายถึงอดีตที่เกิดขึ้นไปแล้ว สอง หมายถึงความรู้หรือการศึกษาอดีต[1] แต่อันที่จริง “ประวัติศาสตร์” มีความหมายมากกว่านั้น อย่างน้อยอีกสองความหมาย

ความหมายที่สามของ “ประวัติศาสตร์” คือ เป็นความเชื่อ อุดมการณ์ที่สร้างขึ้นจากพื้นฐานของสองความหมายแรก นั่นคือมีพื้นฐานอยู่กับอดีตที่เชื่อว่าจริง ซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาหรือความรู้ที่ทำให้เราคิดกันว่าอดีตเป็นอย่างนั้น ความรู้ความเชื่อเกี่ยวกับอดีตก็ก่อรูปเป็นความเชื่อและอุดมการณ์บางอย่างที่มีคนยึดมั่นถือมั่น อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์จึงมิใช่ความรู้ แต่เป็นความเชื่อฝังหัวที่ทรงอิทธิพลจนมักเป็นกรอบ (frame) ของการสร้างความรู้ประวัติศาสตร์ (ความหมายที่สอง) ถ้าทรงอิทธิพลมากก็อาจใกล้เคียงกับศาสนาได้

ความหมายที่สี่ของ “ประวัติศาสตร์” หมายถึง วิถีความเป็นไปของมนุษย์และสังคมในช่วงเวลายาวนานจากอดีตถึงอนาคต (เช่น คำกล่าวว่า “ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติอันยาวไกล”) หมายความว่า บนพื้นฐานของสามความหมายแรก เราท่านสามารถก่อวิถีทัศน์ (perspective) หรือสายตาที่ยาวไกลว่าสังคมหนึ่งๆ มีความเป็นมาและจะดำเนินต่อไปในอนาคตในวิถีทางใด

วิถีทัศน์ทางประวัติศาสตร์ (historical perspective) มีได้ต่างๆ กันสารพัดแบบ ไม่จำเป็นต้องกลายเป็นอุดมการณ์ (แม้โดยมากจะเกี่ยวพัน เป็นผลหรือเป็นเหตุของอุดมการณ์ก็ตาม) บางคนมองเห็นความต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์ บางคนเห็นความไม่ต่อเนื่อง หักเห พลิกผัน บางคนเห็นทั้งสองอย่างปนกัน บางคนเห็นประวัติศาสตร์เสมือนทางเส้นเดียว (linear) ทอดยาวจากจุดตั้งต้นจนถึงปลายทาง บางคนเห็นเส้นนั้นคดเคี้ยวไปมา ซิกแซ็ก วนเป็นขดลวด หรือบิดเบี้ยวไปมา ตีลังกากลับหลังไปจุดเดิมก็ได้ กระโดดก็ได้ หรือสะดุดขลุกขลักตลอดวิถีทางของมัน บางคนมองว่าวิถีประวัติศาสตร์มีจุดหมายไปทางที่แน่ๆ อยู่แล้ว (teleological) ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าลิขิต เทพลิขิต บุญลิขิต เทคโนโลยีลิขิต หรือประชาลิขิต บางคนเห็นว่าเป็นวิถีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ บางคนกลับว่าจะถอยหลังลงเรื่อยๆ จนถึงยุคอันตรธาน บางคนกลับเห็นว่าไม่มีวิถีประวัติศาสตร์ที่แน่นอนใดๆ เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องของความไม่แน่ไม่นอน บางคนเห็นว่าวิถีประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสมเหตุสมผล (rational) เพราะมีหลักเหตุผลบางอย่าง หรือพลังที่เป็นเหตุเป็นผลผลักดันอยู่ บางคนไม่เชื่อว่าวิถีประวัติศาสตร์เป็นเหตุเป็นผลเลยสักนิด เพราะแม้กระทั่งพระเจ้าก็จัดการกับประวัติศาสตร์ด้วยการทอดลูกเต๋าเป็นครั้งๆ ไป

ความหมายทั้งสี่อย่างนี้ (และอาจจะมีมากกว่านี้ด้วย) มักจะปนเปเหลื่อมล้ำกัน จนยากที่จะจำแนกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด บ่อยครั้งคำว่า “ประวัติศาสตร์” ในประโยคหรือในคำพูดหนึ่งๆ สามารถมีความหมายได้เกินหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน ความหมายที่ต่างกันแต่เกี่ยวพันกันเช่นนั้นยังมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วย หมายความว่าความหมายหนึ่งสามารถทำให้เราคิดไปถึงอีกความหมายหนึ่งได้ และถ้าหากเรามองหาว่าความหมายใดเป็นเหตุหรือเป็นผลกันแน่ บางครั้งเราจะพบว่าต่างเป็นทั้งเหตุและผลต่อกันและกัน

ประวัติศาสตร์เป็นความรู้ประหลาดตรงที่ทรงอำนาจเหนือผู้คนมาก แม้ว่าคนส่วนมากเห็นว่าน่าเบื่อ ไม่น่าเรียนรู้ และแทบไม่ต้องเรียนรู้เลยก็นึกว่าตนรู้ประวัติศาสตร์เป็นอย่างดีได้

สมัยเราเรียนชั้นประถมมัธยม คงมีไม่กี่คนที่ชอบเรียนวิชาประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่าย ไม่สนุก เต็มไปด้วยรายละเอียดเรื่องราวเก่าๆ ที่ไม่เข้าใจว่าจะมีประโยชน์อะไรกับชีวิตในปัจจุบัน แต่คุณครูก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่าเป็นความรู้สำคัญเพื่อความภูมิใจในชาติของเรา แถมดูเหมือนจะเรียนแล้วเรียนอีก ลงรายละเอียดเรื่องเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ วิชาประวัติศาสตร์ดีอย่างเดียวคือเรียนไม่ยาก ท่องตะบันเข้าไปก็สอบผ่านได้

ครั้นโตเป็นผู้ใหญ่ คนส่วนมากก็ยังเป็นยังเห็นว่าเป็นวิชาคร่ำครึและไม่ช่วยทำให้เกิดรายได้หรืออาชีพการงานที่รุ่งเรืองมั่นคงแต่อย่างใด แถมดูเหมือนว่าใครๆ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ได้ ไม่เห็นจะต้องมีการฝึกฝนร่ำเรียนสักเท่าไหร่ ตอนที่เป็นผู้ใหญ่นี่แหละ เรามักเชื่อว่าเรารู้ประวัติศาสตร์ของชาติเราเป็นอย่างดี ยามใดที่มีความขัดแย้งสาธารณะที่เกี่ยวพันกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนชาติอื่นมาสะกิดแตะต้องประวัติศาสตร์ของชาติเราล่ะก็ ผู้ใหญ่ทั้งหลายก็จะพากันแสดงตัวเป็นผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ ช่วยกันโต้แย้งคนชาติอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยสนใจเรียนมาก่อนเลย

ความประหลาดของความรู้ประวัติศาสตร์อยู่ตรงนี้แหละ คือไม่น่าเรียน น่าเบื่อ แต่ทุกคนสามารถเป็นผู้รู้ดี สามารถมีอารมณ์ร่วมได้ ภูมิใจจนน้ำตาไหลได้ รักชอบเกลียดชังได้กับความขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องในอดีตอย่างลึกซึ้ง ช่าง “อิน” กันเหลือเกิน

เพราะประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่แพร่หลายครอบงำสังคมไทย หรือเป็นขนบ (convention) ของความรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน มิใช่การไต่สวนค้นคว้าเพื่ออธิบายอดีตหรือปัจจุบันอย่างรอบคอบ มิใช่ความรู้หรือการไต่สวนเพื่อวุฒิภาวะทางปัญญา แต่เป็นประวัติศาสตร์เพื่อปลูกฝังความเชื่อและศรัทธาชุดหนึ่งที่ไม่พึงสงสัย และตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีก ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมเป็นอุดมการณ์ที่แทบจะเป็นศาสนาแบบโลกวิสัย (secular) ชนิดหนึ่ง มีความศักดิ์สิทธิ์ในระดับหนึ่ง จึงมีไว้ให้ชื่นชมดื่มด่ำ การละเมิดความเชื่อทางประวัติศาสตร์ประเภทนี้ จึงเป็นอาชญากรรมทางความคิดที่ควรลงโทษอย่างรุนแรงทำนองเดียวกับการลบหลู่ทางศาสนา (blasphemy) ทีเดียว

การค้นคว้าใหม่ๆ ที่มักส่งเสริมกันก็เป็นรายละเอียดหรือเป็นตัวต่อ (jigsaw) ชิ้นเล็กๆ ที่ประกอบกันเข้าเพื่อยืนยันภาพรวมที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของชาติและบรรพบุรุษ (โดยเฉพาะเจ้ากรุงเทพฯ) ตามที่เรื่องเล่าแม่บท (master narrative) ได้สถาปนาไว้นานแล้ว ประวัติศาสตร์ตามขนบแบบนี้กลายเป็นมาตรฐานไว้ลงโทษ กีดกัน หรือผลักไสคำถามและความรู้ที่อาจบ่อนเซาะความเชื่อหลักให้สงบเสียงหรือให้อยู่ตามขอบของความรู้ ในทางกลับกัน ละครและนิยายประวัติศาสตร์ในประเทศนี้จะได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญขนานใหญ่ ถ้าหากมันตอกย้ำเรื่องเล่าหลักที่รู้กันอยู่แล้ว ละครหรือนิยายใดที่ก่อให้เกิดคำถามและก่อความใฝ่รู้ทางปัญญาที่ขัดแย้งกับความเชื่อหลัก เป็นอันตรายยิ่งใหญ่ในสังคมนี้

อำนาจของประวัติศาสตร์ตามขนบแบบราชาชาตินิยมนั้นน่ากลัว สามารถกลายเป็นประวัติศาสตร์อันตรายก็ได้ สามารถมีส่วนก่อให้เกิดการสังหารหมู่กลางเมืองก็ได้ ทั้งยังมีอำนาจปกปิดอาชญากรรมที่มันเองได้มีส่วนก่อขึ้นด้วย

ความพยายามต่อสู้กับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมที่รู้จักกันดีในสังคมไทย คือประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ ทั้งที่อยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและทั้งงานที่อยู่นอกอิทธิพลของ พคท. มีการศึกษาสำรวจและวิพากษ์วิจารณ์ไว้อย่างดีแล้วในหลายด้าน[2] ในที่นี้ ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกเพียงบางอย่างซึ่งเกี่ยวพันกับประเด็นที่จะกล่าวถึงต่อไปในเรื่องการรื้อสร้างประวัติศาสตร์ที่โหดร้าย

ประการแรก ประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ของไทยต่อต้านท้าทายราชาชาตินิยมโดยตรง โดยพยายามผลักดันชาตินิยมอีกชนิดหนึ่งเข้าแทนที่ คือ ชาตินิยมของประชาชน (“ประชาชน” เป็นมโนทัศน์ที่มีนัยได้หลายอย่าง ในมโนทัศน์แบบมาร์กซิสต์ “ประชาชน” หมายถึงกลุ่มคนตามสังกัดชนชั้น ไม่ใช่ประชาชาติจากสารพัดชนชั้นที่ร่วมกันต้านเจ้าอาณานิคม และไม่ใช่ citizens ซึ่งหมายถึงคนในชาติหนึ่งๆ ที่มีสิทธิเสมอภาคกันในปทัสถานทางสังคม [social norms] และทางการเมือง)[3]

ประการที่สอง ประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามสร้างอำนาจชนิดใหม่ พวกมาร์กซิสต์ไทยที่เป็นเหมาอิสต์อ้างเสมอว่า ประวัติศาสตร์ของตนถูกต้องกว่า ความรู้ของพวกเขาเป็นสัจธรรมที่แท้จริง ความขัดแย้งกันเรื่องวิเคราะห์สังคมไทยจึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ถึงกับทำให้ฝ่ายซ้ายไทยแตกเป็นศัตรูกันและทำให้พรรคแตกได้เพราะวิเคราะห์สังคมไทยไม่ตรงกัน ความรู้ประวัติศาสตร์ในความเข้าใจของพวกเขาก็ศักดิ์สิทธิ์ทำนองเดียวกับลัทธิศาสนา ละเมิดมิได้ทำนองเดียวกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม เราไม่มีทางรู้ว่าถ้า พคท. ยึดอำนาจรัฐสำเร็จ ประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ของไทยจะศักดิ์สิทธิ์โหดร้ายน่ากลัวขนาดไหน เรารู้เพียงแต่ว่ามันเคยเป็นประวัติศาสตร์ต้านราชาชาตินิยมได้อย่างทรงพลังประเภทหนึ่ง

ประการที่สาม ในสังคมไทย เราคุ้นเคยกับการถือว่าความคิดมาร์กซิสต์เท่ากับ radical และเมื่อกล่าวถึง radical บ่อยครั้งเราจะนึกถึงมาร์กซิสต์ก่อนอย่างอื่น (ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ขอไม่อธิบายในที่นี้) มาถึง พ.ศ. นี้แล้ว เราท่านคงรับรู้แล้วว่าความคิดมาร์กซิสต์มีทั้งด้านที่ radical และด้านที่อนุรักษนิยม ยิ่งมาร์กซิสต์แตกเป็นหลายสกุลหลายสาขา รวมถึงได้อำนาจรัฐในหลายประเทศ ครั้นได้อำนาจ ความคิดที่ถือว่า radical นั้นก็กดขี่ปราบปราม และสถาปนาตนเองเป็นอำนาจที่ละเมิดมิได้ในหลายแห่ง ประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์กลายเป็นขนบศักดิ์สิทธิ์ในหลายประเทศ (อาจมีคำแก้ตัวว่า นั่นไม่ใช่มาร์กซิสต์แท้ แต่เป็นสตาลินนิสต์บ้าง เป็นเหมาอิสต์บ้าง ซึ่งเป็นคำแก้ตัวเพื่อปกป้องความบริสุทธิ์ของมาร์กซิสต์ แต่กลับยอมรับว่ามีมาร์กซิสต์ที่อ้างสัจธรรมเป็นอำนาจอันโหดร้ายจริง)

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์เป็น radical ที่สำคัญในศตวรรษที่ 20 แต่ทุกวันนี้เราจะยังควรถือโดยอัตโนมัติว่ามาร์กซิสต์กับ radical เป็นอย่างเดียวกันหรือ ? อันที่จริง radical ไม่ได้หมายถึงเฉพาะมาร์กซิสต์ ฝ่ายขวาที่ radical ก็มี คือขวาที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันไปทางขวา สุลักษณ์ ศิวรักษ์ก็เรียกตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยมแบบ radical คำว่า “radical” จึงเป็นคำที่สัมพัทธ์ ขึ้นอยู่กับบริบทว่าใช้คำนั้นในประโยคอย่างไร ขยายความคำนามตัวไหน หรือเมื่อพูดถึงสังคม จึงขึ้นอยู่กับว่ากำลังพูดถึง radical ในสังคมไหน ยุคไหน และแง่ไหนของสังคมนั้น ไม่จำเป็นว่า radical ต้องเท่ากับซ้ายแบบมาร์กซิสต์ และมาร์กซิสต์ก็อาจไม่ radical เสมอไป

สำหรับสังคมไทย ยังมีปัญญาชนรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยที่ทึกทักเช่นนั้นอยู่ จนมักกล่าวถึงคนที่ไม่ใช่มาร์กซิสต์ว่าพวกเขาถดถอย หรือไม่ radical อีกแล้ว ผู้เขียนอยากฝากให้คิดว่า มาร์กซิสต์อาจเป็นพวกที่ถดถอย ไม่ radical อีกต่อไปแล้วก็ได้ สำหรับสังคมไทยยุคสมัยนี้ ความคิดที่จัดว่า radical ที่สุดอาจจะเป็น เสรีนิยม (liberalism) ธรรมดาๆ นี่แหละ ความคิดทางประวัติศาสตร์ก็เช่นกัน

หากมองในทำนองนี้ เราน่าจะนับว่ามีงานที่ท้าทายประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมในสังคมไทยอยู่ไม่น้อย แต่ใครจะถือว่าอะไร radical ต้านขนบหรือไม่ เราท่านคงใช้วิจารณญาณกันเอง คงมีไม่น้อยที่อาจกล่าวได้เต็มปากว่า radical ต้านขนบในยุคหนึ่ง แต่มองจากอีกยุคหนึ่งกลับไม่เป็นเช่นนั้น รวมถึงประวัติศาสตร์แบบมาร์กซิสต์ด้วย

ในทัศนะและรสนิยมของผู้เขียน แนวความคิดที่มักเรียกรวมๆ กันว่าเป็น ทฤษฎีวิพากษ์ยุคหลังมาร์กซ์ (post-Marxist critical theories) เป็นกลุ่มความคิดที่ท้าทายต่อขนบที่สุด หมายถึงแนวคิดของทฤษฎีวิพากษ์ (critical theories) สายสกุลต่างๆ ทั้งแบบสมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ และหลังอาณานิคม และความคิดของพวกมาร์กซิสต์รุ่นหลังๆ ที่แลกเปลี่ยนและปรับตัวร่วมทางไปกับทฤษฎีวิพากษ์เหล่านั้นในบริบทของวัฒนธรรมทางปัญญาแบบเสรีนิยมนอกอิทธิพลพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย กลุ่มสกุลเหล่านี้มีการริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ มากมายนับจากประมาณทศวรรษ 1970 และ 1980 เป็นต้นมา ความคิดต่อประวัติศาสตร์ของสกุลเหล่านี้สามารถสืบสาแหรก (genealogy) ย้อนกลับไปได้หลายทาง ทั้งมาร์กซิสต์และไม่ใช่มาร์กซิสต์ สาแหรกที่สำคัญสายหนึ่งคือ งานประวัติศาสตร์สำนัก Annales ของฝรั่งเศสที่บุกเบิกพลิกผันวงการประวัติศาสตร์อย่างมาก

ผู้เขียนได้รับอิทธิพลของทฤษฎีวิพากษ์ยุคหลังมาร์กซ์ แต่ไม่ใช่สกุลความคิดหรือนักคิดคนหนึ่งคนใดโดยเฉพาะ ได้รับแนวคิดแปลกๆ และการตั้งคำถามที่คาดไม่ถึง ผิดแผกไปจากการให้เหตุผลตามปกติ และผิดแผกไปจากสกุลมาร์กซิสต์เดิมๆ ได้แรงบันดาลใจจากสำนัก Annales ให้กล้าแหวกกรอบออกนอกขนบของงานประวัติ­ศาสตร์เดิมๆ กล้าใฝ่ฝันที่จะสร้างงานที่แปลกใหม่

ในภาวะที่ผู้เขียนมีประสบการณ์กับความโหดร้ายของประวัติศาสตร์ตามขนบแบบราชาชาตินิยม แรงบันดาลใจดังกล่าวมีความหมายอย่างมาก เพราะช่วยให้ผู้เขียนกล้าบ้าบิ่นพอที่จะตั้งความปรารถนาว่า หนทางหนึ่งที่จะต่อสู้รบรากับประวัติศาสตร์ตามขนบที่โหดร้าย คือการรื้อสร้างประวัติศาสตร์ไทยกันใหม่ สร้างประวัติศาสตร์นอกขนบหรือถึงขนาดต้านขนบได้ก็ยิ่งดี

หมายถึงประวัติศาสตร์แบบไหนกัน ?

คงไม่มีคำจำกัดความที่แน่นอนตายตัวได้ เพราะคงมีทัศนะต่างกันว่าอะไรคือขนบที่ควรละเมิดและควรต้าน คุณสมบัติที่เสนอข้างล่างนี้ไม่ใช่คำจำกัดความ ทว่าเป็นคุณสมบัติที่ตั้งไว้เป็นแนวทาง (guidelines) ตามทัศนะของผู้เขียนเพื่อรื้อขนบของประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมในยุคปัจจุบัน เป็นความปรารถนาที่ผู้เขียนตั้งไว้สำหรับตัวเองที่จะพยายามทำในทิศทางเหล่านั้น แต่จะสำเร็จมากน้อย หรือไม่เลย ย่อมอยู่เหนือการตัดสินของผู้เขียนเอง

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ จะต้องไม่เป็นการเฉลิมฉลองความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษ หรือเทวดาบนโลกมนุษย์

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ จะต้องไม่ช่วยให้เกิดความรักชาติ แต่ตรงข้ามคือ ควรให้เกิดความสงสัย กังขาต่อความรักชาติทุกชนิดไม่ว่าชาติของเจ้า ไพร่ ทหาร ประชาชนหรือใครทั้งสิ้น

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ จะต้องไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่ชวนให้ภูมิใจ หรือชวนให้เกิดความรู้สึกผูกพันดื่มด่ำประทับใจกับอะไรทั้งสิ้น แต่ควรชวนให้เกิดคำถาม ฝึกหัดความสงสัยไม่หยุดหย่อน

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ ควรเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีประโยชน์ ในแง่ที่ว่าไม่สามารถจะเอาไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดทั้งสิ้นโดยเฉพาะเอาไปใช้ทางการเมือง ไม่ว่าเกื้อหนุนต่อฝ่ายใดก็ไม่ได้ทั้งนั้น ประโยชน์ที่พึงมีอย่างเดียวคือเป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเซลล์สมองที่คิดและสงสัยไม่หยุดหย่อน

ถ้าทำได้ ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ ควรท้าทายมนุษย์ที่หลงตัวเองว่าเป็นองค์ประธานของประวัติศาสตร์ เพราะมนุษย์อหังการ์เกินไป หลงคิดว่าตัวเองสร้างหรือบงการประวัติศาสตร์ได้หมด มองไม่เห็นว่าตนเองก็อยู่ใต้บงการของหลายสิ่งหลายอย่างตลอดเวลาเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ น่าจะชี้ให้เห็นอำนาจของวัตถุ ความเชื่อ เหตุผลที่ไร้สาระแต่กลับสามารถบงการให้มนุษย์กระทำการต่างๆ ตามอำนาจไร้สาระของมัน อำนาจที่ไร้สาระมักซ่อนอำนาจเอาไว้ด้วยการทำให้เราคิดว่ามันเป็นธรรมชาติ หรือศักดิ์สิทธิ์ หรือเกิดขึ้นมานานแล้วและจะเป็นอย่างนั้นต่อไป เราเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่มนุษย์เองเป็นผู้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ที่ไร้สาระเหล่านั้นขึ้นมาเอง

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ ควรเป็นประวัติศาสตร์ที่เปิดเผยอำนาจศักดิ์สิทธิ์อันไร้สาระพรรค์นั้นให้ล่อนจ้อน พอที่มนุษย์ผู้น่าสงสารจะสามารถเย้ยหยันมันได้และเลิกเชื่อ (unlearn) ได้อย่างสมถะตามประสาคนธรรมดา

ประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบ ควรจะแปลก คือคาดไม่ถึงว่าจะมีเรื่องเล่าในทำนองนั้น ความแปลกและคาดไม่ถึงจะช่วยเป็นกำแพงกั้นไม่ให้ผู้อ่านเชื่อประวัติศาสตร์ต้านขนบเช่นนี้เกินไปโดยไม่ฉุกคิดก่อน ประวัติศาสตร์ทุกอย่างไม่ควรมีอำนาจมากเกินไป ไม่ควรทำให้คนเชื่อว่าเป็นความจริงอย่างไม่พึงสงสัย ควรมีอำนาจแต่เพียงชวนให้เกิดความสงสัยใคร่รู้

คงเป็นเรื่องยากที่จะหาผลงานประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งหรือชุดใดที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้นอย่างครบถ้วน กล่าวอย่างถึงที่สุด ถ้ายึดถือเอาแนวทางเหล่านั้นเป็นมาตรฐานหรือเกณฑ์วัดคุณภาพอย่างเคร่งครัด ก็คงสอบตกกันหมด ผลงานประวัติ­ศาสตร์ชิ้นหนึ่ง ถ้าสามารถส่งผลไปในแนวทางเหล่านั้นบางระดับ ก็น่าจะนับเป็นคุณูปการได้

ที่ผ่านมา มีผู้พยายามออกนอกขนบนอกลู่นอกทางของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมมาทุกยุคสมัย แม้ว่าเราอาจจะไม่สามารถเรียกว่างานเหล่านั้นสามารถรื้อขนบได้อย่างชะงัดหรือมีพลัง แต่เราก็ควรชื่นชมและให้เกียรติแก่ความพยายามเหล่านั้น งานหลายชิ้นที่เริ่มต้นเป็นการตั้งคำถามท้าทายต่อประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม แต่ต่อมากลับถูกดูดกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมันก็มีเช่นกัน

งานของผู้เขียนที่พยายามท้าทายรื้อประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมแบ่งออกได้เป็นสามประเภทด้วยกัน อย่างแรกได้แก่หนังสือ Siam Mapped อย่างที่สองคือ การศึกษากำเนิด ลักษณะ และอิทธิพลของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่มีต่อวงการประวัติศาสตร์และต่อองค์ความรู้เรื่องไทยโดยรวม งานในกลุ่มนี้รวมอยู่ในหนังสือ โฉมหน้าราชาชาตินิยม ซึ่ง ฟ้าเดียวกัน ตีพิมพ์ไปแล้ว อย่างที่สามคือ บทความที่แนะนำวิธีวิทยาและแนวคิดต่างๆ ที่ท้าทายประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ โดยจัดเป็นลำดับได้สี่กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่หนึ่ง มีสองบทความ บทความแรกเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามสร้างประวัติศาสตร์ที่ต่างไปจากขนบ เริ่มด้วยการสำรวจกระแสประวัติศาสตร์หลัง 14 ตุลา 2516 ที่ออกนอกกรอบประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยม ได้แก่ งานของฉัตรทิพย์ นาถสุภา ในช่วงต้นที่ปลดพวกเจ้าออกจากองค์ประธานของประวัติศาสตร์ไทย งานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างเข้มข้นตรงเป้าเผง ทั้งในแง่แนวคิดพื้นฐาน การใช้หลักฐาน และการเมืองของมัน และงานของศรีศักร วัลลิโภดม ที่ประจัญบานกับชาตินิยมไทย (ยกเว้นราชา) ในตอนท้ายได้ชี้ว่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของไทยซึ่งน่าจะท้าทายประวัติศาสตร์แห่งชาติ แต่กลับถูกผนวกเข้าไปส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมในที่สุด

บทความที่สองเป็นเรื่องของความผันแปรของฉัตรทิพย์ที่ยังคงมุ่งมั่นเขียนประวัติศาสตร์ของชาวนาอย่างไม่เปลี่ยนแปร แต่แทนที่จะเป็นชาวนาในความสัมพันธ์ขัดแย้งกับชนชั้นอื่น กลับเป็นชาวนาไทยที่สามารถรักษาเนื้อแท้ของความเป็นไทยไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงสามารถต้านทานทุนนิยมโลกไว้ได้ ประวัติศาสตร์ชาวนาไทยจึงเป็นเรื่องของ

ชาวนา + ความเป็นไทย —-ที่จะต่อสู้กับ—-> ทุนนิยมโลก + รัฐที่เป็นตัวแทนของมัน

ในยุคที่ความเป็นไทยเผชิญกับการคุกคามของทุนนิยมโลก ประวัติศาสตร์แบบนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ตามขนบไป นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของความคิดที่ถือกันว่าเป็นซ้าย แต่ต่อมากลับกลายเป็นอนุรักษนิยมหรือเป็นชาตินิยมไป ไม่ว่าจะด้วยเป็นเพราะความคิดที่ผันแปรไป หรือจะด้วยเหตุที่ความคิดไม่เปลี่ยนแต่สังคมเปลี่ยนไป จนความคิดที่เคยซ้ายในสมัยหนึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งประวัติศาสตร์กระแสหลักไปได้ บทความนี้เขียนขึ้นหลังจากที่ผู้เขียนมองเห็นฝ่ายซ้ายเดิมจำนวนมากกลายเป็นนักชาตินิยมเพราะ “ศัตรูหลัก” คือ ทุนนิยมโลก (ที่เป็นฝรั่ง) จึงเชื่อว่าคงต้องมีงานประวัติศาสตร์ที่สะท้อนปรากฏการณ์นี้เช่นกัน แต่เขียนก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ซ้ายรักษาพระองค์” นับจาก 2549 เป็นต้นมา ซึ่งฉัตรทิพย์ไม่ได้เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนั้น

กลุ่มที่สอง ผู้เขียนพยายามเสนอว่าประวัติศาสตร์ที่รื้อขนบน่าจะมีลักษณะอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิธีวิทยา ในบทความ “การเมืองและวิธีวิทยาของ Siam Mapped” ซึ่งเขียนขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนอธิบายอีกครั้งว่าประกอบสร้างงานชิ้นนั้นขึ้นมาด้วยวิธีวิทยาอย่างไร ซึ่งเกี่ยวพันกับการเมืองของหนังสือนั้นและความปรารถนาจะต่อสู้กับประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมอย่างไร ความคิด สปิริต และการเมืองของ Siam Mapped เป็นจุดตั้งต้นและเป็นตัวแทนของสปิริตและการเมืองของการทำงานทางประวัติศาสตร์ของผู้เขียนจนถึงทุกวันนี้

บทความอีกชิ้นในกลุ่มที่สองนี้ เป็นการถกเถียงเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แบบหลังชาติ (post-national history) ว่าน่าจะมีลักษณะอย่างไร อะไรเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย หรือเป็นความได้เปรียบ (comparative advantage) ของนักประวัติ­ศาสตร์พื้นถิ่นหรือ “นักวิชาการเจ้าบ้าน” (home scholar) ในการสร้างประวัติศาสตร์แบบหลังชาติ บทความนี้เป็นการสนทนากับนักวิชาการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา นานาชาติ ซึ่งพยายามแสวงหาประวัติศาสตร์ลักษณะใหม่ ที่ข้ามพ้นประวัติศาสตร์ที่ถือเอาชาติเป็นองค์ประธาน (subject of history) ปัญหาที่ถกเถียงกัน เช่น เรื่อง local/global เรื่องการส่งผ่านทางวัฒนธรรมข้ามชาติ (transculturation) ก็เป็นเรื่องที่สนใจถกเถียงกันในโลกภาษาอังกฤษ ซึ่งแตกต่างจากโลกวิชาการของไทย[4] ประเด็น คำถาม การให้เหตุผล จนถึงศัพท์แสงสำนวนที่แปลออกมาจึงอาจฟังแปร่งหูสักหน่อย

กลุ่มที่สามเป็นการแนะนำว่ากระแสความคิดที่เรียกว่าหลังสมัยใหม่ (post-modernism) และหลังอาณานิคม (post-colonialism) จะมีผลให้การศึกษาประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปอย่างไร สร้างประวัติศาสตร์แบบใหม่ๆ ที่น่าจะช่วยในการต่อสู้กับประวัติศาสตร์ตามขนบอย่างไร บทความแรกในกลุ่มนี้เป็นการแนะนำอย่างรวมๆ ให้รู้จักทัศนะแบบโพสโมเดิร์นว่าจะเข้าใจอดีตและความรู้เกี่ยวกับอดีตอย่างไร

อีกบทความหนึ่งเป็นการแนะนำวิธีวิทยาแบบสาแหรก (genealogy) ของมิเชล ฟูโกต์ ซึ่งทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาเป็นเรื่องเดียวกับประวัติศาสตร์สังคมและการเมือง เขาสร้างสรรค์วิธีวิทยาอย่างใหม่ขึ้นมาด้วยฐานความคิดที่ต่างไปจากที่เราคุ้นเคยกันในวงการประวัติศาสตร์ ปรัชญา และการเมือง ทั้งเรื่องกำเนิด วิวัฒนาการ ความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ อำนาจ ฯลฯ วิธีวิทยาของการศึกษาวาทกรรมต่างจากวิธีวิทยาตามขนบของ history of ideas และ intellectual history ที่ใช้กันมานานกว่า 100 ปีอย่างมาก เช่น ไม่มุ่งเน้นความคิดของนักคิดหรือปราชญ์คนสำคัญ เพราะเขาไม่ถือว่าปราชญ์เป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดต่างๆ แต่กลับถือว่าปราชญ์เหล่านั้นเป็นผลผลิตของกระแสวาทกรรมในบริบทของเขา ดังนั้น เราน่าจะเปลี่ยนโฟกัสจากนักคิดไปที่กระแสวาทกรรมและปฏิบัติการทางสังคมต่างๆ ความคิดและงานของฟูโกต์หลายชิ้นเป็นตัวอย่างของการรื้อสร้างประวัติศาสตร์และวิธีวิทยาตามขนบด้วยการสร้างงานใหม่ที่ท้าทายจนปฏิเสธไม่ได้

บทความสี่ชิ้นในกลุ่มสุดท้าย เป็นการนำเสนอความคิดเกี่ยวกับวิธีวิทยาซึ่งผู้เขียนใช้เป็นประจำ ผ่านกรณีศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม วิธีวิทยาดังกล่าวมีสี่ส่วนประกอบกัน ได้แก่ หนึ่ง มโนทัศน์แบบเทศะมิติ (spatial perspective) สอง การต่อสู้ของวาทกรรมต่างๆ ความรู้ต่างๆ เพื่อครอบครองสนามของความหมาย สาม ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่ากับสถานที่/พื้นที่/เทศะ และสี่ ความสำคัญของโครงเรื่องต่อเรื่องเล่าหนึ่งๆ แนวคิดเชิงวิธีวิทยาที่ว่านี้ไม่ใช่และไม่ผูกกับความคิดทางการเมืองใดๆ

บทความแรกในกลุ่มนี้เป็นการอธิบายว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์มีส่วนคล้ายนิยาย มิใช่ความจริงในอดีตที่ฟื้นขึ้นมาได้ด้วยหลักฐานอย่างที่มักอ้างกันแค่นั้น เพราะต้องอาศัยการสร้างเป็นเรื่องเล่าขึ้นมาจึงจะเข้าใจกันได้ การสร้างเรื่องเล่าต้องใช้กรรมวิธีไม่ต่างจากการสร้างนิยาย ที่สำคัญคือต้องอยู่บนโครงเรื่องหนึ่งๆ ประวัติศาสตร์กรณีเดียวกัน ใช้หลักฐานชุดเดียวกัน สามารถเล่าออกมาได้เป็นคนละเรื่อง เป็นเพราะโครงเรื่องต่างกัน หรืออาจคิดกลับกันก็ได้ว่า ถ้าเราเปลี่ยนโครงเรื่อง ประวัติศาสตร์ก็สามารถเปลี่ยนไป

บทความ “ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย” ชี้ให้เห็นว่าเราเข้าใจประวัติศาสตร์การเสียกรุงฯ ครั้งที่ 1 และบทบาทของพระมหาธรรมราชาผิดมาตลอด เพราะเรามักอ่านพระราชพงศาวดารฯ ด้วยโครงเรื่องแบบชาตินิยม ซึ่งเป็นการอ่านที่ผิดยุคผิดสมัย หากเราอ่านพระราชพงศาวดารฯ ด้วยโครงเรื่องแบบพระราชพงศาวดารฯ เราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ตอนนั้นต่างจากที่เข้าใจกันอยู่

บทความ “เรื่องเล่าเกี่ยวกับประชาธิปไตยโดยอนุสาวรีย์” แปลและเรียบเรียงใหม่จากปาฐกถาครั้งหนึ่งของผู้เขียน ซึ่งไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนมาก่อนเลยไม่ว่าในภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ปาฐกถาครั้งนั้นว่าด้วยความทรงจำและเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยสำนวนต่างๆ ซึ่งงอกเงยจากความคิดทางการเมืองที่ต่างกัน ความทรงจำและเรื่องเล่าเหล่านี้ต่อสู้ปะทะกันในสังคมไทยอยู่ตลอดเวลา เรื่องเล่าของแต่ละความคิดมีตัวแทนรูปธรรมเป็นอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยของไทยหลายแห่ง

บทความสุดท้ายในกลุ่มนี้และของเล่มนี้ อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องเล่ากับสถานที่ เพราะแทบไม่มีสถานที่ใดๆ เลยที่ไม่มีเรื่องเล่าประกอบ ปัญหาน่าคิดคือ สถานที่หลายแห่งมักมีเรื่องเล่าหลายเรื่องแย่งชิงกันให้ความหมายแก่สถานที่นั้น

ผู้เขียนตระหนักดีว่างานแปลทางวิชาการเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะแต่ละสาขาวิชาความรู้เฉพาะด้านต่างๆ ต่างก็มีศัพท์แสงเทคนิคสำนวนโวหารของตน แถมสังคมไทยรวมถึงวงวิชาการเองยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของงานแปลว่าเป็นการส่งผ่านทางเทคโนโลยี (transfer of technology) ประเภทหนึ่ง วิชาชีพการแปลทางวิชาการในประเทศไทยก็ยังไม่เติบโตถึงขนาดที่จะให้มีผู้แปลที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเฉพาะสาขาวิชาได้ ผู้แปลแต่ละคนจึงต้องลงแรงใช้เวลาทำความเข้าใจสาขาวิชานั้นๆ หัวข้อเฉพาะนั้นๆ จนถึงความคิดของผู้เขียนแต่ละคนที่แสดงออกมาเป็นศัพท์แสงสำนวนเฉพาะของตน นอกจากนี้ บทความหลายชิ้นของผู้เขียนทำขึ้นเพื่ออภิปรายกับวงวิชาการเฉพาะด้านนอกประเทศไทย ซึ่งมีความต่างกับวงวิชาการในประเทศพอสมควร จึงเป็นเรื่องหนักเข้าไปอีกสำหรับผู้แปล ด้วยเหตุทั้งหมดนี้จึงขอขอบคุณเป็นพิเศษต่อคณะทำงานแปลของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้แก่คุณอัญชลี มณีโรจน์ คุณธันวา ใจเที่ยง และคนอื่นๆ

สุดท้ายผู้เขียนหวังว่าบทความเหล่านี้จะให้แนวความคิดและเป็นตัวอย่างว่าประวัติศาสตร์ที่ออกนอกขนบเป็นอย่างไร หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้สนใจประวัติศาสตร์ “ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย” กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับขนบ หรือหาเรื่องท้าทายขนบก็ยิ่งดี เพราะประวัติศาสตร์ควรเป็นความรู้เพื่อสร้างวุฒิภาวะของ citizen ควรเป็นหนทางของอารยชน จึงไม่ควรมีประวัติศาสตร์ที่เป็นอันตรายทำร้ายผู้คนอีก

 

[1] ในที่นี้ ขอไม่อภิปรายความคิดที่ว่า อันที่จริงสองความหมายนี้เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะอดีตที่อยู่นอกเหนือความรับรู้ของเรา ย่อมเป็นอดีตที่ไม่มีอยู่จริง ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้นัก แต่เข้าใจความสำคัญของความคิดนี้ในเชิงปรัชญาประวัติศาสตร์และประโยชน์ของมันอย่างมาก

[2] ดู นภาพร อติวานิชยพงศ์, พัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่ พ.. 2475–ปัจจุบัน (กรุงเทพฯ : กลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531); Craig J. Reynolds and Lysa Hong, “Marxism in Thai historical studies,” Journal of Asian Studies 43, no.1 (1983) : 77-104. ไม่นานมานี้มีผู้บ่นพ้อทำนองว่า ทำไมหัวข้อวิเคราะห์สังคมไทยและรัฐไทยในหมู่ฝ่ายซ้ายจึงหยุดไปเฉยๆ (เก่งกิจ 2555) คำตอบอันหนึ่งคือ ฝ่ายซ้ายไทยยุคนั้นเห็นว่าคำอธิบายทั้งหลายล้วนไม่น่าพอใจและดูเหมือนจะผิดทิศผิดทางเสียด้วย เพราะโจทย์และคำถามพื้นฐานของการวิเคราะห์สังคมไทยแบบฝ่ายซ้ายคือ ทำไมสังคมไทยจึงยากจน เป็นทุนนิยมล้าหลังหรือเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา ทว่าในกลางทศวรรษ 1980 นั้นเอง จู่ๆ สังคมไทยก็ก้าวพรวดดูเหมือนร่ำรวยขึ้นอย่างรวดเร็วจนเกือบจะได้เป็น “เสือ” ทางเศรษฐกิจกับเขาด้วย ดังนั้น คำถามพื้นฐานของบรรดาฝ่ายซ้ายจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเสียเลย พวกเขาจึงไม่สามารถดันทุรังทางปัญญาต่อไป จนดูเป็นเรื่องน่าตำหนิในสายตาฝ่ายซ้ายรุ่นหลัง

[3] ไม่กี่ปีมานี้มีหลายฝ่ายเสนอให้ใช้คำว่า “พลเมือง” เป็นคำแปลของคำว่า citizen บางคนเข้าใจว่าคำนี้เป็นคำใหม่หลัง 2475 เพราะเห็นคณะราษฎรก็ใช้คำนี้ ผู้เขียนไม่มีความรู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ทราบแต่เพียงว่า “พลเมือง” เป็นคำเก่ามาก มีอยู่ในกฎหมายตราสามดวงด้วย ความหมายของ “พลเมือง” มิได้ตรงกับคำว่า citizen สักเท่าไหร่ กล่าวคือ คำว่า พละ แปลว่ากำลัง พละของเมือง หมายถึงไพร่ฟ้าที่เป็นกำลังแรงงาน เป็นแค่มือตีนและกล้ามเนื้อของบ้านเมือง ”พลเมือง” จึงไม่รวมถึงชนชั้นปกครองอย่างเจ้าและขุนนาง เพราะเขาไม่ใช่พละของเมือง แต่เป็นศีรษะ เป็นใจของเมือง “พลเมือง” จึงไม่ใช่ citizen

[4] เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นหลังๆ บางคนยังคงถกเถียงเรื่องอิทธิพลภายนอกหรือภายในเป็นพลังหลักที่ผลักดันประวัติศาสตร์ และยังพยายามจัดคนนั้นคนนี้ให้เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยไม่คิดว่าประเด็นนี้เหลวไหล เพราะการจำแนกภายนอกและภายในเป็น false dichotomy

ทดลองอ่าน