Sale 10%

ฟ้าเดียวกัน 19/2 : สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์

Original price was: 200.00 บาท.Current price is: 180.00 บาท.

รหัส: 9786167667980 หมวดหมู่:

สารบัญ

บทบรรณาธิการ

ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ทัศนะวิพากษ์

สาธารณรัฐจำแลงกับเสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์ : สองแนวโน้มฝังแฝงที่ขัดแย้งกันในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญไทย

เกษียร เตชะพีระ

ประวัติศาสตร์ของประวัติศาสตร์กฎหมายไทยนิพนธ์

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

พระพิมลธรรม สมณศักดิ์อาถรรพ์ : มองการเมืองสงฆ์หลังปฏิวัติ 2475 ผ่านชีวิตสมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสโภ (พ.ศ. 2446-2532)

นริศ จรัสจรรยาวงศ์

ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ในความทรงจำของข้าพเจ้า

อติเทพ ไชยสิทธิ์

บทความปริทัศน์

ตาสว่าง (ซํ้าสอง)

ปวงชน อุนจะนำ

บทบรรณาธิการ

ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 เป็นอวสานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยาม ซึ่งยุติสถานะของพระมหากษัตริย์ที่เป็นทั้งประมุขของรัฐและหัวหน้าฝ่ายบริหาร หรือทั้งครองราชย์และครองรัฐ ให้เหลือแค่เป็นประมุขของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว อำนาจบริหารทั้งหมดหลุดพ้นจากพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น คณะราษฎรยังได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย” นั่นหมายความว่าประเทศนี้จะไม่กลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกต่อไป (เว้นแต่ฝ่ายนิยมเจ้าจะลุกขึ้นมา “ปฏิวัติ” อีกรอบ)

แต่การปฏิวัติสยามก็เหมือนกับการปฏิวัติอื่นๆ ทั่วโลกที่จะต้องมีการยื้อยุดฉุดกระชากระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ดังเห็นได้ตั้งแต่วันแรกของการเริ่มระบอบใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะไม่ยอมลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับแรกจนกว่าจะได้มีการเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป เพื่อนำมาสู่การต่อรองรอบใหม่จนกลายเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 ที่สถานะของกษัตริย์เพิ่มสูงขึ้น ดังปรากฏใน “มาตรา 3 องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

[expander_maker id=”1″ more=”อ่านต่อ >>” less=”<< ย่อหน้า “]

ทว่าตลอด 15 ปีแรกของการปฏิวัติสยาม (2475-2490) โดยเฉพาะหลังจากพ่ายแพ้ในกบฏบวรเดช ฝ่ายศักดินาอันประกอบด้วยกษัตริย์และพวกนิยมเจ้าได้หลบฉากออกไปก่อน ต่อมาเมื่อคณะราษฎรแตกแยกจึงมีการจับขั้วใหม่ระหว่างฝ่ายศักดินากับบรรดาขุนศึก (คณะราษฎรสายทหารบก) ซึ่งร่วมกันทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ล้มรัฐบาลของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นคณะราษฎรสายพลเรือน นับจากนั้นเป็นต้นมาขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยามก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานจนถึงปัจจุบัน

เราได้เห็นการขยายพระราชอำนาจภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย (อันมี) พระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในรูปแบบต่างๆ เช่น การโอนการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่เดิมอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลให้กลับไปยังพระมหากษัตริย์ ผ่านพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2491 หรือเพียง 3 เดือนภายหลังการรัฐประหาร 2490 การมีพระราชดำรัสโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล ซึ่งกลายเป็นความขัดแย้งกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จนมาจบที่วันสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นับเป็นเหตุการณ์แรกๆ หลัง 2475 ที่พระมหากษัตริย์ลงมาใช้อำนาจมากจนดูเหมือนเราจะกลับไปใกล้สมบูรณาญาสิทธิราชย์มากที่สุดในรัชสมัยของพระองค์

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส การถวายคืนพระราชอำนาจในรูปแบบต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้น อาทิ การเสด็จพระราชดำเนินทั้งในและต่างประเทศตามพระราชอัธยาศัย การฟื้นฟูพระราชพิธีต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับราชสำนัก การรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การประชาสัมพันธ์ด้านเดียว รวมทั้งการใช้มาตรา 112 กับผู้ที่เห็นต่างก็เริ่มในสมัยนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างขุนศึกกับศักดินาดำเนินไปในลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน ศักดินาให้ความชอบธรรมกับขุนศึกด้วยวาทกรรมรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขณะที่ขุนศึกช่วยอำนวยความสะดวกให้กับศักดินาที่พยายามขยายอำนาจให้ใกล้สมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น

หลัง 14 ตุลา 2516 เมื่อเหล่าขุนศึกหลุดออกจากวงจรอำนาจไปเนื่องจากการลุกฮือของนักศึกษาประชาชน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยิ่งสามารถขยายพระราชอำนาจนำได้มากขึ้น โดยเฉพาะผ่านสิ่งที่เรียกว่า “เครือข่ายในหลวง” ซึ่งหมายรวมตั้งแต่องคมนตรี ทหาร ตำรวจ ตุลาการ ข้าราชการสายวัง นักธุรกิจระดับนำ นักพัฒนาเอกชน ฯลฯ จนขึ้นสู่จุดสูงสุดในเหตุการณ์พฤษภา 2535 เมื่อทรงแสดงบทบาทเป็นผู้ไกล่เกลี่ยคลี่คลายวิกฤตการเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม โดยไม่คาดคิดและส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตต้มยำกุ้งและรัฐธรรมนูญ 2540 กลายเป็นว่าพระราชอำนาจนำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องเผชิญกับการท้าทายจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเช่นทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ซ้ำเป็นช่วงเวลาที่พระพลานามัยของพระองค์เข้าสู่ภาวะเสื่อมถอย ดังนั้น หากมองจากมุมของสถาบันกษัตริย์และ “เครือข่ายในหลวง” เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่าง “เรียบร้อย” รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 จึงต้องเกิดขึ้น เห็นได้ชัดเจนผ่านสัญลักษณ์และวาทกรรมต่างๆ ของทั้งผู้ก่อการและผู้สนับสนุนว่ารัฐประหารทั้งสองครั้งเกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์”

แต่ผลที่ได้รับกลับตรงข้าม เพราะเกิดปฏิกิริยาโต้กลับในรูปแบบต่างๆ ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นขบวนการเสื้อแดง มาจนถึงคณะราษฎร 2563 ที่ยืนยันว่า “ประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย”

ขบวนการเสื้อแดงเริ่มจากการเรียกร้อง “คนเท่ากัน” ในแง่สิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นข้อเรียกร้องขั้นต่ำมากๆ ทว่าพวกเขากลับได้รับ “กระสุนจริง” แลกกับอาการตาสว่าง ขณะที่คณะราษฎร 2563 แม้จะยืนยันหลักการ “คนเท่ากัน” เหมือนกัน แต่กลับพุ่งไปสู่ใจกลางของปัญหา คือบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์ที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยซึ่งคณะราษฎร 2475 ได้ลงหลักปักฐานไว้ แต่ถูกโต้กลับตลอดมาโดยขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม

กล่าวได้ว่า พร้อมกับการเกิดใหม่ของคณะราษฎรในช่วงที่ผ่านมา มรดกตกทอดของพวกเขาได้เผยตัวสู่สังคมไทยในรูป 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 นั่นเอง

ตลอดปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 เราได้เห็นการต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่มีเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นแกนนำ ซึ่งถูกโต้กลับด้วยความพยายามฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลงทั้งโดยกลไกรัฐที่บิดเบือนกฎหมาย ไปจนถึงการใช้กระบวนการนอกกฎหมาย และล่าสุดคือคำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ว่าการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อย่างไรก็ดี พึงตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นั้นเพิ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2490 พร้อมกับสิ่งที่ดำเนินต่อเนื่องมานับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ การขยายพระราชอำนาจให้กลับไปใกล้เคียงกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากขึ้น ดังชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น “สมบูรณา­ญาสิทธิราชย์ซ่อนรูป” (อานนท์ นำภา) “กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์” (ธงชัย วินิจจะกุล) “สมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง” (ปิยบุตร แสงกนกกุล) หรือ “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์” ดังข้อเสนอของเกษียร เตชะพีระ ในวารสาร ฟ้าเดียวกัน ฉบับนี้

ขณะที่ข้อเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 ที่หลายคนมองว่า “สุดโต่ง” นั้นอยู่ภายใต้กรอบของการปฏิวัติ 2475 ทั้งสิ้น (หรือพูดให้เฉพาะเจาะจงลงไป คือช่วงเวลาระหว่าง 2475-2490 ซึ่งคณะราษฎรยังเรืองอำนาจอยู่) กล่าวคือ ประเทศนี้ยังเป็นราชอาณาจักรที่กษัตริย์ยังเป็นประมุขของรัฐอยู่เช่นเดิม และรูปแบบรัฐยังเป็นรัฐเดี่ยว ซึ่งถ้าใช้คำของเกษียรก็คือ “สาธารณรัฐจำแลง” โดยที่ยังมีกษัตริย์เป็นประมุขนั่นเอง

พิจารณาจากแง่มุมนี้อาจจะ “ถูกต้อง” แล้วที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเรียกร้องของคณะราษฎร 2563 เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้ก็เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เนื้อแท้แล้วคือการกลับไปใกล้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์” นั่นเอง

สิ่งที่คณะราษฎร 2563 เรียกร้อง คือการล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความหมายนี้ สังคมไทยยังอยู่ในภาวะเขาควายแบบนี้

ทดลองอ่าน