สารบัญ
บทบรรณาธิการ
หาเรื่องมาเล่า
จากเกจิสู่ภูมิภาค
ไทยรบพม่า
จากอักษรสาส์นสู่สังคมศาสตร์ปริทัศน์
รายงานพิเศษ
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : อดีต ปัจจุบัน อนาคต
กองบรรณาธิการ
สารบรรณ
การเมืองภาคประชาชนในระบอบประชาธิปไตยโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
เมื่อได้อ่าน และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชานหนังสือ
กองบรรณาธิการ
ทัศนะวิพากษ์
พลวัต “การเมืองแบบชาวบ้าน” : การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรภาคเหนือ
วิเชิด ทวีกุล
อิสลามานุวัตรและอิสลามานุวัตรองค์ความรู้ : บริบทของมุสลิมในประเทศไทย
นิพนธ์ โซะเฮง
ความเป็นมาของคำว่า ‘นาถ’ ใน “พระบรมราชินีนาถ”
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ขอบฟ้าความคิด
เวเนซุเอลา : เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์
ภัควดี วีระภาสพงษ์
มนุษยภาพ
จะปฏิวัติกันอย่างไรดี? : บทวิจารณ์ฮอลโลเวย์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
เงินตรา คือ งานน้ำแรง
วิชัย นภารัศมี
What is money ?
Chit Phumisak
บทบรรณาธิการ
มองมุมใหม่ การเมืองภาคประชาชน
ณ พ.ศ.นี้คงไม่มีใครปฏิเสธบทบาทของการเมืองภาคประชาชนในการขับเคลื่อนสังคมไทย ดังจะดูได้จากพื้นที่ข่าวกิจกรรมทางการเมือง หรือแม้กระทั่งงานวิชาการก็มีให้เห็นอย่างดาษดื่น แต่การเมืองภาคประชาชน กลับเป็นเรื่องที่มีการตีความที่แตกต่างกันออกไป ตามแต่ทัศนะ หรือจุดยืนของแต่ละกลุ่ม/บุคคล ด้านหนึ่งก็มองว่า “การเมืองภาคประชาชน” คือการเคลื่อนไหวที่เกิดจากการยุยงของกลุ่มคนภายนอก โดยเฉพาะเอ็นจีโอทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความวุ่นวายและบ่อนเซาะความมั่นคงของประเทศ ขณะที่แนวคิดอีกด้านหนึ่งซึ่งมาจากกลุ่มคนที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน การเมืองภาคประชาชน คือการช่วงชิง “พื้นที่ทางการเมือง” ที่เคยผูกขาดอยู่กับรัฐและทุนทั้งในแง่ของการจัดการทรัพยากร การกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนา ฯลฯ ให้มาอยู่ในมือของประชาชนผู้เป็นทั้งเจ้าของอำนาจอธิปไตยและได้รับผลกระทบโดยตรง
แม้จะแตกต่างกัน 2 ขั้วแต่สิ่งที่แนวคิดทั้ง 2 มองเหมือนกันคือการตระหนักถึงพลังภายนอกในการเข้าไปปฏิสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว โดยแนวคิดแรกมองว่า การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมาจากการถูก “จูงจมูก” ของผู้ไม่หวังดี ขณะที่ฝ่ายหลังก็มองว่าตนเข้าไปหนุนเสริมเพื่อดึงศักยภาพที่มีอยู่แล้วของของเหล่าผู้เสียเปรียบออกมา แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากการพิจารณาขบวนการการเมืองภาคประชาชนคือเสียงของประชาชน หรือชาวบ้านจริง ๆ ว่าเขาเหล่านั้นประเมินตัวเอง
อย่างไร เป้าหมายคืออะไร เหมือนหรือต่างจากที่ออกสู่สาธารณะมาก ฯลฯ
เหตุผลที่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีอยู่ 2 ประการ คือ เป็นเรื่องที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วสู้ทำเรื่องอื่นที่น่าสนใจกว่า ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง ด้วยเหตุผลที่ว่าเกรงฝ่ายตรงข้ามจะรู้แล้วจะเป็นจุดอ่อนในการโจมตี นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราไม่รู้ว่า “ประชาชน” ใน “การเมืองภาคประชาชน” นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร
เรา-ฟ้าเดียวกัน– ตระหนักดีว่าการที่เราไม่เข้าใจตัวเองเราก็ไม่สามารถเข้าใจสังคมได้ และถ้าเราไม่สามารถเข้าใจสังคมได้ก็ยากยิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไม่ว่าจะโดยวิธีการใด ๆ ก็ตาม และหนทางเดียวสำหรับการเข้าใจตนเองเข้าใจสังคมคือการมีพื้นที่สำหรับการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเข้มข้น นี่เองที่เป็นสิ่งที่เรา-ฟ้าเดียวกัน– ได้ตระหนักถึง รวมทั้งเป็นเจตจำนงในการเริ่มต้นจัดทำวารสารเล่มนี้ เพราะเราเห็นว่าปัจจุบัน “ยังมีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องจริงจัง”
“พลวัต ‘การเมืองแบบชาวบ้าน’ : การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ” งานเขียนที่ปรับปรุงมาจากวิทยานิพนธ์ “การเมืองภาคประชาชน : การเคลื่อนไหวของชาวบ้านในเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ พ.ศ. 2530-2547” ของวิเชิด ทวีกุล เป็นความพยายามหนึ่งในการเปิดประเด็นว่าเราไม่สามารถอธิบายการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนด้วยแนวคิดการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจกับรัฐและกลุ่มทุนดังที่เป็นสูตรสำเร็จ ในการอธิบายของ “ฝ่ายประชาชน” พอ ๆ กับการอธิบายด้วยแนวคิด “มือที่สาม” ที่พบเห็นโดยทั่วไปจากฟาก “รัฐและทุน” ที่ออกมาเป็นสูตรสำเร็จไม่แพ้กัน แต่ “ประชาชน” ในการเมืองภาคประชาชนเองก็ฉลาดพอที่จะเลือกหรือไม่เลือกรับความช่วยเหลือจากภายนอก ภายใต้ประเด็นดังกล่าววิเชิดได้ชี้ให้เห็นว่า การที่จะเข้าใจการเคลื่อนไหวได้ “เราจำเป็นต้องพิจารณาบริบทและลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งที่ก่อตัวขึ้นในช่วงเวลานั้น ๆ และการที่จะเข้าใจบริบทของความขัดแย้ง ที่ก่อตัวขึ้นในชุมชนได้จำต้องมองลึกลงในรายละเอียดของการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรอันเนื่องมาจากแรงกระทบของปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลา”
แน่นอนว่างานชิ้นนี้อาจจะผิด, ห่างไกลจากข้อเท็จจริง, ตื้นเขิน, เป็นเพียงกรณีศึกษาหนึ่งเท่านั้น ฯลฯ แต่การที่เราจะต้องตอบคำถามใหม่ ๆ แทนที่จะหยุดนิ่งอยู่กับสูตรสำเร็จในการอธิบายแบบเดิม ๆ ก็น่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางปัญญามิใช่หรือ?
นอกจากเราจะต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจสังคมของเราแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในระดับสากลก็มิใช่เป็นสิ่งที่เราจะเพิกเฉยด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือบริบทของสังคมไทย “เวเนซุเอลา : เส้นทางปฏิวัติยุคหลังประวัติศาสตร์” บทความขนาดยาวจากการค้นคว้าของคุณภัควดี วีระภาสพงษ์ ที่ให้ทั้งมิติทางประวัติศาสตร์และสถานการณ์ปัจจุบันของภูมิศาสตร์การเมืองภาคประชาชนที่สำคัญยิ่งในศตวรรษที่ 21 แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้บริบทที่แตกต่างกันถ้าเรามองจากพื้นที่ แต่ถ้าหากมองภายใต้บริบทของทิศทางการเมืองโลกที่โน้มเอียงมาทางทุนนิยมเสรีนิยมที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ เวเนซุเอลา คือแนวหน้าของการ “ชูธงกระแสทวน” อย่างโดดเด่นที่สุดก็เป็นสิ่งที่เรามิอาจมองข้ามไปได้
พบกันใหม่ฉบับหน้า สถาบันกษัตริย์กับสังคมไทย