สารบัญ
บทบรรณาธิการ
จากทหารพระราชา สู่ทหารพระราชา?
จดหมายถึงกองบ.ก.
คำขบวน
Operaismo (Workerism) and Autonomist Movements ลัทธิแรงงานนิยม และขบวนการอัตตาณัติ
ภัควดี วีระภาสพงษ์
มหาชนทัศนะ
การประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 ในความคิดของแซ็ง-มุสต์ (Saint-Just)
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ทัศนะวิพากษ์
กองทัพ: สัตว์สี่ขาของราชาหรือประชาชน?
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
เวรกรรมและวาทกรรม : รัฐประหาร 2549 กับปัญหาชายแดนภาคใต้
มาร์ค แอสคิว
วาทกรรมว่าด้วยการซื้อเสียง และการปฏิรูปการเมืองในประเทศไทย
วิลเลียม เอ. คัลลาฮาน
กำเนิด “เสื้อแดง” ในฐานะขบวนการโต้กลับ
อุเชนทร์ เชียงแสน
ผมสูญเสีย “สถาบันครอบครัว” ไปอย่างไม่มีวันกลับเพียงเพราะคนบางกลุ่ม (อ้างว่า) ต้องการปกป้อง “สถาบันกษัตริย์”
หนุ่มแดงนนท์
จิตรกรรมเฉลิมพระเกียรติกฤษฎาภินิหารอันบดบังมิได้
ธนาวิ โชติประดิษฐ
บันทึกร่วมสมัย ที่สื่อกระแสหลักไม่สนใจ
ส.ศิวรักษ์
หน้าซ้ายในประวัติศาสตร์
‘ลีมิตเต็ด มอนากี้’ กับ ‘รีปับบลึก’ สำนึกทางประชาธิปไตยของทหารใหม่ ร.ศ. 130
ณัฐพล ใจจริง
ว่าด้วยความเสื่อมซาม แลความเจรีญของประเทศ
บทบรรณาธิการ
จากทหารพระราชสู่ทหารพระราชา?
กองทัพสมัยใหม่ของสยามนั้นกำเนิดขึ้นมาในรัชสมัยของพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีภารกิจที่แท้จริงคือการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์และรักษาความมั่นคงของราชบัลลังก์ ดังภารกิจของทหารประจำการที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ทุกคนจะได้รับการฝึกอบรมให้มีความซื่อสัตย์กตัญญูต่อพระเจ้าแผ่นดิน เพราะถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ปกครองให้บรรดาทหารได้รับความร่มเย็นเป็นสุข เป็นผู้พระราชทานเงินเดือน และเบี้ยเลี้ยง เครื่องใช้สอยให้ทหาร ดังนั้นหน้าที่ของทหารจึงต้องพร้อมที่จะพลีชีพจนเลือดหยดสุดท้ายเพื่อเป็นประโยชน์และเกียรติยศแห่งสิ่งที่รักและนับถืออยู่เสมอทุกเมื่อ”
ขณะที่กองทัพของสยามไม่ต้องทำหน้าที่ป้องกันประเทศจากศัตรูภายนอกอย่างจริงจัง นอกจากรบกับ “ศัตรูภายใน” หน้าที่หลักของกองทัพในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงได้แก่ การรักษาความมั่นคงภายในของกษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงความทันสมัยอวดโลกภายนอก หรือเป็น “ทหารพระราชา” นั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในเวลาไม่นานเชื้อมูลแห่งการเปลี่ยนแปลงก็บ่มเพาะขึ้นในกองทัพเสียเอง นั่นคือ นายทหารคณะ ร.ศ. 130 ซึ่งเตรียมการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ก้าวสู่ภาวะ “ศรีวิลัย” ซึ่ง “ราษฎรได้รับความอิสรภาพเสมอหน้ากัน ไม่มีใครที่จะมาเป็นเจ้าสำหรับกดคอกันเล่น” แม้ว่าจะล้มเหลว แต่อีก 20 ปีต่อมานาย
ทหารกลุ่มหนึ่งได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรกระทำการยึดอำนาจจากกษัตริย์ และประกาศกลางพระนครว่า“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง”
ช่วงเวลา 15 ปีหลังการปฏิวัติสยาม 2475 ทหารได้เป็น “ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ปกป้องระบอบใหม่ของคณะราษฎรจากการโต้กลับของคณะเจ้า แต่ภารกิจดังกล่าวก็สิ้นสุดลงพร้อมกับการเมืองยุคคณะราษฎร เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2490 ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่าง (เครือข่าย)สถาบันกษัตริย์กับทหารอีกกลุ่มหนึ่งฉีกรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก
2 วันหลังรัฐประหาร หนังสือพิมพ์ เอกราช ได้พาดหัวข่าวว่า “ในหลวงรู้ปฏิวัติ 2 เดือนแล้ว” โดยพล.ท. กาจ กาจสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาส่งโทรเลขลับรายงานแผนการไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ ล่วงหน้า 2 เดือนก่อนรัฐประหาร
การรัฐประหาร 2490 นำไปสู่การฟื้นฟูอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของสถาบันกษัตริย์ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้ผู้นำกองทัพกลายเป็น “ขุนศึก” ซึ่งสามารถขึ้นมาเป็นผู้ปกครองและตัวแสดงที่มีฐานอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นของตนเองในเวลาต่อมา
ถึงยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์กลายเป็นศัตรูหลักที่คุกคามความมั่นคงของชาติ ด้วยการสนับสนุนจากมหามิตรอเมริกัน อำนาจและบทบาททางการเมืองของทหารขึ้นสู่จุดสูงสุดภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ธนะรัชต์ พร้อมๆ กับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันกษัตริย์ในฐานะหุ้นส่วนและแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของกองทัพ
ในระหว่างการทำสงครามต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ กองทัพและสถาบันกษัตริย์ยังได้ขยายบทบาทไปทำงาน “พัฒนา” ในฐานะเป็นยุทธวิธีสู้กับภัยคุกคามในชนบท และภายหลังได้หันมาใช้ “ประชาธิปไตย” เป็นยุทธวิธีในการสู้กับคอมมิวนิสต์ อันเป็นที่มาของนโยบาย 66/2523
หลังสงครามเย็นยุติลง ดูเหมือนภารกิจของกองทัพจะไม่มีความชัดเจน ขณะที่บทบาทและอำนาจทางการเมืองของตนก็ถูกลดทอนลงตามลำดับ แม้ผู้นำทหารจะก่อการรัฐประหารอีกในปี 2534 แต่ก็ต้องล่าถอยไปอย่างรวดเร็วเพื่อเปิดทางให้แก่กระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย
แต่แล้ว เมื่อการเมืองในระบบการเลือกตั้งเข้มแข็งขึ้นจนท้าทายเครือข่ายอำนาจเก่าที่รวมศูนย์อยู่ที่สถาบันกษัตริย์ กองทัพจึงหวนคืนสู่เวทีการเมืองเต็มตัวอีกครั้งในฐานะ “ทหารของพระราชา” กระทั่งก่อการรัฐประหารในปี 2549 เพื่อรักษา “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” จนนำมาสู่ความขัดแย้งในสังคมไทยที่ยืดเยื้อและลงลึกถึงราก
ปัจจุบันแม้กองทัพจะได้มีบทบาทมากขึ้น แต่ก็ถูกท้าทายมากขึ้น รวมถึงสถาบันกษัตริย์ที่เป็นแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมของกองทัพก็ถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน
ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมใหม่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเรียกร้องให้จัดวางบทบาทและตำแหน่งแห่งที่ของกองทัพเสียใหม่ด้วย โดยเฉพาะโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับ (รัฐบาล) พลเรือน ดูเหมือนว่ากองทัพไทยจะยังคงยึดมั่นกับบทบาทการเป็น “ทหารพระราชา” อย่างไม่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่สำนึกประชาธิปไตย สำนึกความเป็นพลเมืองของประชาชนขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนลงลึกถึงระดับรากหญ้าในขณะนี้ แต่กองทัพไทยที่เริ่มต้นจากการเป็น “ทหารพระราชา” จะยินดีที่จะเป็น “ทหารพระราชา” อยู่เช่นเดิม
สิ่งที่น่าตระหนักคือไม่เพียงแต่สำนึกทางการเมืองของกองทัพกลับย้อนไปสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์พอใจอยู่กับการเป็น “ทหารของพระราชา” เท่านั้น แต่สถาบันกษัตริย์ในฐานะแหล่งอ้างอิงความชอบธรรมก็อาจจะพอใจที่จะให้กองทัพดำรงสถานะเช่นนี้ตลอดไป ราวกับว่า 80 ปีของปฏิวัติสยาม ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย