ฟ้าเดียวกัน 14/2 : 40 ปี 6 ตุลา

250.00 บาท

ของหมด

รหัส: 9786167667539 หมวดหมู่:

สารบัญ

บทบรรณาธิการ

ฆาตกรยังลอยหน้า คนสั่งฆ่ายังลอยนวล

บทบรรณาธิการประจำฉบับ

ความขัดแย้งและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

พวงทอง ภวัครพันธุ์

ทัศนะวิพากษ์

ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์: ความย้อนแย้งของกระบวนการ สร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย

เกษียร เตชะพีระ

การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง: จาก ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาปถึง กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน

ประจักษ์ ก้องกีรติ

เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม : กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

การละเมิดแบบเดิม แต่การปิดกั้นความจริงแบบใหม่ : รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการ สังหารหมู่ 6 ตุลา 2519

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น

ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด : องค์กรอิสระในกรณีการสลายการชุมนุมปี 2553

พวงทอง ภวัครพันธุ์

การกำจัดเผด็จการทหารในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในกรีซ

ปิยบุตร แสงกนกกุล

บททดลองเสนอ : อภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity) และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนในนิติรัฐแบบไทยๆ

ธงชัย วินิจจะกูล

บทบรรณาธิการ

ฆาตกรยังลอยหน้า คนสั่งฆ่ายังลอยนวล

หลังการล้อมปราบผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 17-21 พฤษภา 2535 ถึงแม้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีคนนอกที่เป็นสาเหตุหลักของการชุมนุมจะลาออกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 แต่ก่อนหน้านั้น 1 วัน พล.อ.สุจินดา ได้ออก พ.ร.ก. นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 ซึ่งสาระสำคัญคือ ทั้งผู้กระทำอันได้แก่ ผู้สั่งการและผู้ปฏิบัติการในการล้อมปราบ รวมทั้งประชาชนผู้สูญเสีย หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงซึ่งเท่ากับว่าเป็นการรับรองการฆ่าอย่างถูกกฎหมายนั่นเอง

เมื่อมีการทำบุญที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน จึงได้มีป้ายผ้าที่สะท้อนถึงความในใจของผู้รักประชาธิปไตยว่า ฆาตกรยังลอยหน้า คนสั่งฆ่ายังลอยนวล วิญญาณวีรชนจะนอนตายตาหลับได้อย่างไร18 ปีต่อมา ข้อความนี้ยังหยิบเอามาใช้ได้อีกในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 (และอาจจะต้องถูกนำมาใช้ในอนาคตด้วย)

ฆาตกรรมการเมืองโดยไม่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้เกิดครั้งแรกในปี 2535 เพราะอย่างน้อยในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ก็ไม่มีใครต้องรับผิดเช่นกัน ขณะที่การรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นหลักการร่วมกันของสังคมโดยไม่ต้องรับผิดนั้นเกิดขึ้น ตั้งแต่ปี 2490 แล้ว

คำถามก็คือ นี่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอย่างเดียวหรือไม่ สำหรับเราแล้ว นี่ไม่ใช่เพียงปัญหาข้อกฎหมาย แต่สะท้อนถึง ดุลอำนาจที่เป็นจริงแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ เช่นในปี 2516 หรือ 2535 ก็ไม่สามารถนำผู้สั่งฆ่ามาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ ไม่ต้องกล่าวถึงความพ่ายแพ้ในปี 2519 และ 2553 รวมถึงฆาตกรรมการเมืองอื่นๆ เช่น การลอบฆ่านักการเมืองฝ่ายก้าวหน้าในภาคอีสาน และผู้นำชาวนาในภาคเหนือ กรณีถังแดงในภาคใต้ รวมถึงความรุนแรงอันเนื่องจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์-ศาสนา และการเลือกปฏิบัติในชายแดนใต้ ในทุกกรณีเหล่านี้ บรรดาฆาตกรยังลอยหน้า คนสั่งฆ่ายังลอยนวล อยู่เช่นเดิม

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ? ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ เพราะสังคมไทยไม่เคยแตกหักโดยการเมืองมวลชนจริงๆ ดังนั้นแม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะชนะ แต่กลุ่มอำนาจเดิมก็ยังอยู่ทุกอย่างจึงจบลงแบบประนีประนอม ไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ (แล้ววงจรการฆ่าโดยไม่ต้องรับผิดก็เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเช่นเดิม)

ดังนั้น วิธีการเดียวที่จะหยุดวัฏจักรอันเลวร้ายก็คือ การสร้างวัฒนธรรมการรับผิดพร้อมๆ กับการปรับดุลอำนาจทางการเมืองไปพร้อมกัน ถ้าทำไม่ได้ก็ป่วยการที่จะพูดถึงการปรองดอง สมานฉันท์ หรือแม้แต่อภัยวิถี

กล่าวสำหรับฟ้าเดียวกันฉบับนี้ เราได้รับมอบหมายจากคณะทำงานวิชาการในโอกาส 40 ปี 6 ตุลา ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิชาการหลากหลายสาขาทั้งหมด 7 ท่าน เพื่อร่วมกันพิจารณาปัญหาความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย โดยมีพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เขียนทำหน้าที่บรรณาธิการ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดทำ อ่านได้จากบทบรรณาธิการประจำฉบับ

กล่าวสำหรับเรา-ฟ้าเดียวกัน การนองเลือด 6 ตุลานั้นยังเป็นประวัติศาสตร์ที่รอการสะสาง เช่นเดียวกับฆาตกรรมการเมืองอื่น ๆ ในสังคมไทย แต่สิ่งที่ทำให้ 6 ตุลา ต่างออกไปเพราะเกิดท่ามกลางกระแสสูงของแนวคิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างถึงราก เพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ยังผลให้ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยรับไม่ได้ จึงร่วมกัน สหบาทาศัตรูผู้เห็นต่าง ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยมิได้ฆ่า ศัตรูเท่านั้น แต่ยังจงใจฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณกลางทุ่งพระเมรุ นอกจากนั้น พวกเขายังได้ฆ่าความฝันและอุดมคติเพื่อการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ดังจะเห็นจากวัฒนธรรมการเมืองที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยสร้างขึ้นหลัง 6 ตุลา ล้วนแล้วแต่มีวัตถุประสงค์ไปในทิศทางเดียวคือการสร้างแนวคิดเกี่ยวกับหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่อยู่กันอย่างสงบสุข ปราศจากความขัดแย้ง หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้างก็จะมี ผู้ใหญ่มาห้ามปราม พิพากษา และกลับสู่ความสงบ ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ให้ลืม ๆ กันไป ดังสะท้อนผ่านแบบเรียน อนุสาวรีย์ พิธีกรรมแห่งรัฐฯลฯ หรือพูดอีกอย่างคือ ความเชื่อว่าจริงที่เราคุ้ยเคยกันในปัจจุบัน จำนวนมากคือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างหลัง 6 ตุลา นั่นเอง

ในฐานะคนทำหนังสือ เราขอร่วมรำลึก 40 ปี 6 ตุลา ด้วยการนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของปัญหาความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยผ่านวารสารฉบับนี้

ทดลองอ่าน