เนื้อในระบอบถนอม

ลดราคา!

฿630.00฿720.00


Back Cover

หมายเหตุ

  • จัดส่งฟรี
รหัสสินค้า: ไม่ระบุ หมวดหมู่:

ข้อมูลสินค้า

คำนำสำนักพิมพ์

คำนำผู้เขียน

บทที่ 1 เส้นทางทหารการเมืองของ พล.อ. ถนอม กิตติขจร

บทที่ 2 การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแบบเผด็จการทหารของ พล.อ. ถนอม

บทที่ 3 ลบรอยเท้าจอมพลสฤษดิ์ สร้างภาพลักษณ์ที่แตกต่าง

บทที่ 4 ภัยคอมมิวนิสต์ สหรัฐอเมริกา กับการรักษาอำนาจของจอมพลถนอม

บทที่ 5 รัฐบาลสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร

บทที่ 6 การควบคุมกองทัพและการกำราบประชาชน

บทที่ 7 เผด็จการซ่อนรูปในเสื้อคลุมประชาธิปไตยแบบไทย : รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง 

บทที่ 8 นายกรัฐมนตรีในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย (2512–2514)

บทที่ 9 ระบอบเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ : การรักษาอำนาจทางการเมืองในช่วงสุดท้ายของจอมพลถนอม

บทที่ 10 สิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์ เริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

บทสรุป

ภาคผนวก ก ลำดับเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับจอมพลถนอม กิตติขจร (ปี 2500–2519)

ภาคผนวก ข การยึดทรัพย์จอมพลถนอม จอมพลประภาส พ.อ. ณรงค์ และภริยาของทั้งสาม

ประวัติผู้เขียน

บรรณานุกรม

ดรรชนี

ภาพจำของจอมพลถนอม กิตติขจร สำหรับคนไทยทั่วไป คือผู้สืบทอดอำนาจจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกโค่นล้มด้วยขบวนการนิสิตนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จากนั้นจึงเดินทางออกนอกประเทศ แล้วเมื่อกลับมาในฐานะสามเณรถนอม ก็เป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และรัฐประหารที่ตามมาหลังจากนั้น แต่ “เนื้อในระบอบถนอม” เป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างจาก “ระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” ของสฤษดิ์หรือไม่ ถนอมคงไม่ใช่แค่เงาของสฤษดิ์ ตัวตนของถนอมเป็นเช่นไรกันแน่ ถนอมน่าจะฉลาดและเล่นการเมืองเก่งพอตัว ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถอยู่ในอำนาจยาวนานถึงหนึ่งทศวรรษได้ แต่เงื่อนไขปัจจัยอะไรที่ส่งผลให้ระบอบเผด็จการทหารซึ่งดูแข็งแกร่งพังทลายลงได้ในที่สุด ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้ทำการศึกษาวิจัย รวบรวมข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์จำนวนมหาศาล เพื่อชำแหละตรวจสอบ วิเคราะห์วิพากษ์ระบอบถนอมลงลึกในรายละเอียดอย่างยิ่ง จนสำเร็จเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกในชื่อ “บทบาททางการเมืองของจอมพลถนอม กิตติขจร พ.ศ. 2506–2516” ทั้งยังปรับแก้อย่างอุตสาหะจนกลายเป็นหนังสือ เนื้อในระบอบถนอม: ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร.. 25062516ที่อยู่ในมือผู้อ่านเล่มนี้

ในห้วงเวลาที่การเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนต่อต้านระบอบรัฐประหารชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยถูกสกัดจากสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร คสช. ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ! กล่าวได้ว่าหนังสือเล่มนี้ออกสู่บรรณพิภพในเวลาที่ประจวบเหมาะอย่างยิ่ง เพราะขณะที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านอาจรู้สึกว่าเห็นภาพอดีตกับปัจจุบันซ้อนทับกัน ราวกับว่าการเมืองไทยวนลูปเป็นวงกลม

นับแต่รัฐประหาร 2500 จนถึงปี 2516 เป็นเวลา 16 ปี ที่การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหารของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส

นับแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงปี 2566 เป็นเวลา 16 ปี ที่การเมืองไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหารที่นำโดยสนธิ บุญยรัตกลิน (คั่นด้วยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อายุ 2 ปีกว่า) ต่อด้วยระบอบ 3 ป. ประยุทธ์-ประวิตร-อนุพงษ์ (และยังไม่จบ)

สองห้วงเวลาดังกล่าวแม้มีด้านที่คล้ายคลึงกัน ทว่าก็มีด้านที่แตกต่างกันอย่างมาก

ด้านที่คล้ายคลึงกันคือ การสร้างภาพลักษณ์ของเผด็จการทหารว่าเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ได้ต้องการแสวงหาอำนาจ (โดยเฉพาะประยุทธ์ที่ลอกแบบมาจากถนอม) แต่เข้ามาเพื่อปกป้องชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์ โดยสร้างคู่ตรงข้ามคือนักการเมืองที่ทุจริต คอร์รัปชั่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว และที่สำคัญคือการสร้าง “ปีศาจ” ซึ่งถูกอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สมัยก่อนคือ “ภัยคอมมิวนิสต์” สมัยนี้คือ “พวกล้มเจ้า” ซึ่งขยายความเลยเถิดไปถึงพรรคการเมืองที่เพียงแค่เสนอนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้ กลไกการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารก็ยังเหมือนๆ เดิม คือ การสร้างวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทย การยื้อการเลือกตั้งให้เกิดขึ้นช้าที่สุด การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)/สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเป็นเสมือนสภาตรายางของคณะรัฐประหาร การเขียนรัฐธรรมนูญที่แฝงฝังเมล็ดพันธุ์พิษอย่าง ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งซึ่งมีอำนาจล้นเหลือ การกำหนดกฎเกณฑ์คุณสมบัติของ ส.ส. การตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ สมัยก่อนคือ พรรคชาติสังคมของสฤษดิ์ พรรคสหประชาไทยของถนอม สมัยนี้คือพรรคพลังประชารัฐของคณะรัฐประหาร 2557 ก่อนที่ประยุทธ์จะแยกออกมาสร้าง พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองห้วงเวลายังก่อเกิดขบวนการเยาวชนนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นหัวหอกในการต่อต้านระบอบเผด็จการอีกด้วย 

แม้จะมีความคล้ายคลึงกันหลายประการดังกล่าว แต่ด้านที่แตกต่างกันอย่างสำคัญยิ่งคือ ในยุคนั้นปัจจัยภายนอกประเทศคือสงครามเย็น ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำค่ายเสรีนิยม มีส่วนในการสนับสนุนรัฐเผด็จการทหารของไทยเป็นอย่างมาก ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศในปัจจุบันแทบจะไม่มีส่วนกดดันความเป็นไปของการเมืองไทยภายใต้ระบอบรัฐประหาร เพราะไทยมิได้เป็นจุดยุทธศาสตร์ในภูมิรัฐศาสตร์ของความขัดแย้งในโครงสร้างอำนาจโลกร่วมสมัยอีกต่อไป แถมรัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหารของไทยก็ไม่ขัดเขินที่จะรับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากจีน ชาติมหาอำนาจใหม่ซึ่งมิได้รังเกียจแนวคิดเผด็จการแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ความแตกต่างที่สำคัญที่สุดคือ ระดับของพระราชอำนาจนำที่สูงล้ำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งผูกพันธมิตรกับขบวนการนิสิตนักศึกษาด้วยแนวคิดราชประชาสมาสัยนั้น ยังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากพระราชอำนาจของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ที่เพิ่มสูงขึ้นภายใต้รัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ซึ่งถูกตั้งคำถามจากขบวนการเยาวชนคนหนุ่มสาวหลากหลายกลุ่มที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ มิพักต้องกล่าวถึงความไม่สามารถกดปราบสื่อหรือสกัดกั้นข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัลได้อีกต่อไป 

พูดให้กระชับคือ ในขณะที่ในยุคทศวรรษ 2500–2510 การเมืองไทยเป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบเผด็จการทหารสมบูรณาญาสิทธิ์กับระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยฝ่ายหลังได้รับชัยชนะ แต่หากพิจารณาสภาวการณ์ปัจจุบันที่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมยกการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ขึ้นมาเป็นปราการขัดขวางการตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยนกันแล้ว หรือก็คือโหนกันจนสุดตัวด้วยการทำให้คู่ขัดแย้งของประชาชนต้องเปลือยล่อนจ้อน จนเกิดคำถามว่าการเมืองไทยในห้วงเวลานี้เป็นการต่อสู้ระหว่างระบอบอะไรกับระบอบอะไรกันแน่ หากหนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดภาพเสมือนย้อนอดีต ความรู้สึก “เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง” ที่เกิดขึ้น แท้แล้วคือเสมือนระบอบเผด็จการทหาร หรือเสมือนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นับแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อำนาจอธิปไตยเคยเป็นของปวงชนชาวไทยแล้วหรือยัง หรือยังเป็นของใครกันแน่ ดูเหมือนเราวนลูปเป็นวงกลมก็จริง แต่วงไหนกันแน่ วงเล็ก หรือวงใหญ่ สังคมไทยจะหาทางออกจากวงกลมนี้ได้หรือไม่ หากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คือจุดจบของระบอบเผด็จการทหาร เหตุการณ์หรือฉากทัศน์เช่นไรที่รอเราอยู่ข้างหน้า

หนังสือชุด “สยามพากษ์” เป็นผลงานที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันคัดสรรมาตีพิมพ์ เนื่องจากเห็นว่าเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยในยุคสมัยนั้นๆ และเป็นงานที่ท้าทาย หักล้าง หรือเติมเต็มงานศึกษาก่อนหน้าด้วยข้อมูลใหม่และ/หรือกรอบคิดทฤษฎีที่แตกต่างออกไป ขณะที่หนังสือ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ ของประจักษ์ ก้องกีรติ ผลงานสยามพากษ์ลำดับที่ 3 คือการศึกษาวิเคราะห์การเมืองไทยภายใต้ระบอบถนอม โดยเน้นแง่มุมการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หนังสือ เนื้อในระบอบถนอม: ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหาร.. 2506–2516 ของธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผลงานสยามพากษ์ลำดับที่ 8 คือการฉายภาพให้เห็นการเมืองของชนชั้นนำในยุคสมัยเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดจะเติมเต็มความเข้าใจพลวัตการเมืองไทยในยุคสมัยดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังอาจช่วยให้เราสะท้อนย้อนคิด
ถึงการเมืองไทยร่วมสมัยอีกด้วย

อ่านต่อ >>

มายซันเกิดขณะที่ผมปิดเล่มการแก้ไขวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นครั้งสุดท้ายในวันนั้น เมษายน 2551

“โย… ผมเชื่อคุณ ขอให้คุณทำตามที่คุณคิด” อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวสรุปข้อตกลงการทำวิทยานิพนธ์เล่มนี้ โดยให้ผมรายงานความก้าวหน้าเป็นระยะๆ ด้วยการมาพบปะสนทนาเล่าสู่กันฟัง และอาจารย์สุธาชัยก็จะเล่าประสบการณ์ที่ได้อ่านได้เห็นให้ฟังด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อาจารย์สุธาชัยยังได้เชิญ ศ. ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาเป็นที่ปรึกษาร่วมด้วย ทั้งยังได้เชิญ ศ. ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมสอบวิทยานิพนธ์เล่มนี้ ร่วมกับอาจารย์ประจำภาควิชา ได้แก่ ศ. ดร. ปิยนาถ บุนนาค รศ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ โดยมี รศ. พิพาดา ยังเจริญ เป็นประธานในการสอบ จึงขอขอบคุณทุกท่าน และผมขอขอบคุณคณาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนามด้วย  ขอขอบคุณบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อนุญาตให้นำวิทยานิพนธ์เล่มนี้มาปรับปรุงเพื่อจัดพิมพ์เป็นหนังสือ และขอขอบคุณเพื่อนร่วมงานทุกคนที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของการทำงานนานนับสามทศวรรษ

ตั้งแต่สมัยทำวิทยานิพนธ์จนกระทั่งมาปรับเป็นหนังสือ ต้องขอบคุณบทสนทนาทางวิชาการที่ไม่รู้จบกับอาจารย์เพื่อนพ้องน้องพี่จำนวนมาก ขอบคุณเวทีวิชาการ ความก้าวหน้าทางวิชาการ และความเคลื่อนไหวทางการเมืองในรอบสองทศวรรษ ที่ช่วยให้ความคิดตกผลึก ที่ช่วยให้เห็นข้อเท็จจริง ที่ช่วยให้มีความฝันในชีวิต และร่วมกิจกรรมทางสังคมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศ. ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อ. สุจิตต์ วงษ์เทศ ศ. ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อ. ทรงยศและคุณปรียา แววหงษ์ อ. วีระ ธีระ­ภัทรานนท์ ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ศ. ดร. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ผศ. อัครพงษ์ ค่ำคูณ อ. ปรีชา โพธิ อ. สมฤทธิ์ ลือชัย คุณชนิสรา โสกันต์ คุณศิริวุฒิ บุญชื่น อ. ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คุณดาวเรือง แนวทอง ผศ. สุวิมล รุ่งเจริญ อ. ดร. ประสิทธิ์ พงศ์อุดม ผศ. จรัล ดิษฐาอภิชัย ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ผศ. ดร. ณัฐพล ใจจริง ผศ. ดร. ภมรี สุรเกียรติ คุณสุภัตรา ภูมิประภาส คุณยุวดี วัชรางกูร อ. อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ คุณนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ คุณชุติมา นันทะวงษ์ คุณขวัญใจ บุญญาภิบาล ผศ. ปรีชา ธรรมวินทร ผศ. ดร. พุฑฒจักร สิทธิ อ. วิชาญ ฤทธิธรรม อ. วีรศักดิ์ บำรุงตา อ. โพชฌ์ จันทร์โพธิ์ ลุงหนวด นาอุ่นใจ หยอง จำปาขาว และคุณณวัศกร สิทธิลิขิต ซึ่งเป็นผู้ช่วยวิจัยด้านหนังสือพิมพ์รายวัน มิตรภาพของทีมดรีม แคชเชอร์ กราฟฟิค ยุ้ย จอย ฝน ต้อม ทั้งขอขอบคุณทุกท่านที่ไม่ได้เอ่ยนามด้วยหัวใจ

หนังสือเล่มนี้ปรากฏออกมาได้ ต้องขอบคุณการทำงานอย่างหนักของทีมงานฟ้าเดียวกันทุกคน โดยเฉพาะคุณอัญชลี มณีโรจน์ บรรณาธิการ และคุณธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหาร ที่ทำให้ผมต้องตัดปรับทอนเนื้อหาเกือบหกร้อยหน้าให้เหลือน้อยกว่าสี่ร้อยหน้า จัดแบ่งบทใหม่ ช่วยปรับชื่อหัวข้อให้คมและตรงเป้า ตรวจสอบรายละเอียด ปรับถ้อยคำภาษา และบรรณาธิการยังค้นพบว่าบทสุดท้ายนั้นผมควรต้องเขียนใหม่และให้คมชัด ทั้งยังรอคอยอย่างอดทนได้นานหลายปี ขอบคุณคุณสังคม จิรชูสกุล ที่ช่วยจัดหน้าและปรับแก้ format การอ้างอิง คุณนฤมล กระจ่างดารารัตน์ ที่ช่วยตรวจทานยศของบุคคลต่างๆ และหารูปประกอบ คุณวิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ ที่ช่วยตรวจปรู๊ฟอย่างละเอียดลออ

ท้ายสุด ครอบครัวของผมคือพลังสำคัญให้เรามีความสุขในการเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่ย่อท้อ ทั้งอำแหมะ อาเฮีย อาอึ้ม อาเจ็ก อาซ้อ แห่งเพชรเลิศอนันต์ ที่ได้ช่วยเหลือสนับสนุนในด้านต่างๆ รวมทั้งคนที่ข้าพเจ้ารักและชีวิตที่สนุกสนานกับมายซัน

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์

28 กุมภาพันธ์ 2566

อ่านต่อ >>