สารบัญ
บทบรรณาธิการ
ปีศาจแห่งกาลเวลา
คำขบวน
Transformative Politics การเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง
ภัควดี วีระภาสพงษ์
หาเรื่องมาเล่า
“การปกครองตนเอง” (Autonomy) ในฐานะ “วิธีการ” แก้ปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์
จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม
ทัศนะวิพากษ์
อนาคต ณ จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์: ข้อเสนอว่าด้วยการสร้างอุดมการณ์ใหม่ของฟรานซิส ฟูกยาม่า
สุรัช คมพจน์, ตฤณ ไอยะรา
อนาคตของประวัติศาสตร์: เสรีประชาธิปไตยจะสามารถรอดพ้นจากความเสื่อมถอยของชนชั้นกลางได้หรือไม่
ฟรานซิส ฟูกยาม่าเขียน สุรัช คมพจน์, ตฤณ ไอยะรา แปล
อุดมการณ์ราชาชาตินิยมกับกระบวนการแปลงเจตจำนงมหาชนให้กลายเป็นเจตจำนงแห่งราชา
ปฤณ เทพนรินทร์
“ดุสิตธานี” หลุมหลบภัยของราชาธิปไตย และป้อมโจมตีประชาธิปไตย
ชานันท์ ยอดหงส์, พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล
หลักเกณฑ์การสืบตำแหน่งประมุขของรัฐที่เป็นราชอาณาจักร : ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายไทยกับกฎหมายต่างประเทศ
วิศรุต คิดดี
คนกึ่งเมืองกึ่งชนบทในการชุมนุมประท้วงของคนเสื้อแดงปี 2553 มิใช่เพียงแค่เกษตรกรยากจน?
นฤมล ทับจุมพล, ดันแคน แมคคาโก เขียน อัญชลี มณีโรจน์ แปล เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ บรรณาธิการ
การเมืองของสังคมหลังชาวนา : เงื่อนไขการก่อตัวของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน
สมชัย ภัทรธนานันท์ เขียน อัญชลี มณีโรจน์ แปล
บทความปริทัศน์
ประวัติศาสตร์หลัง 6 ตุลา : การตอบรับของสังคมไทยต่อปากไก่และใบเรือ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์
คริสเบเกอร์ เขียน สายชล สัตยานุรักษ์ แปล
รายงานพิเศษ
จุดเปลี่ยน 2500 ในสายตาอเมริกา
ธนาพล อิ๋วสกุล
รายงานข่าวกรองหมายเลข 7627 นัยทางการเมืองของรัฐประหารไทย
กองงานวิจัยและวิเคราะห์ตะวันออกไกล อัญชลี มณีโรจน์ แปล
บทบรรณาธิการ
ปีศาจแห่งกาลเวลา
แม้องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) จะประภาศรหัส “901” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเป็นฤกษ์ยามของการชุมนุม เพื่อหลอมรวมจิตใจของพสกนิกรให้ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งไปกว่านั้น แกนนำการชุมนุมยังมั่นใจว่าข้อหาหมิ่นกษัตริย์จะเป็น “หมัดน็อค” ได้ ถึงขนาดเปิด “คลิปหมิ่นเจ้า” กลางเมืองหลวง โจมตีเครือข่ายทักษิณและขบวนการคนเสื้อแดงที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทว่าก็ไม่สามารถเรียกทั้งประชาชนผู้จงรักภักดี ทหาร และผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญให้เข้ามาร่วม “แช่แข็งประเทศไทย” ตามนัดหมายได้ เพียงเวลาไม่ถึง 10 ชั่วโมง การชุมนุมดังกล่าวก็ต้องสลายตัวลง
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแม้ไม่ได้บอกว่าพลังอนุรักษนิยมหมดน้ำยาลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว แต่อย่างน้อยก็ชี้ได้ว่าพลังกลุ่มนี้อ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด อุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เสื่อมมนต์ขลัง ใช้ไม่ได้ผลเหมือนเก่า
การสถาปนาพระราชอำนาจนำโดยอาศัยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเป็นธงนำ เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 2490-2510 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ฝ่ายชนชั้นนำจารีตกลับมาเป็นฝ่ายรุกทางอุดมการณ์ความคิด กระบวนการดังกล่าวสถาปนาตั้งมั่นได้หลัง
เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และอาศัยช่วงเวลาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบสร้างเครือข่ายอำนาจที่เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งสามารถสร้างให้ “ราชา” กลายเป็นหนึ่งเดียวกับ “ชาติ” ได้
มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้การสถาปนาพระราชอำนาจนำตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางการเมือง-วัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยมที่หลงเหลืออยู่ การหนุนหลังของมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น การสร้างอำนาจบารมีและความเป็นธรรมราชาผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับข้าราชการ ปัญญาชน และพสกนิกรไปด้วยในตัว ตลอดจนการควบคุมการสื่อสารทางเดียวให้เห็นแต่แง่งาม
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้ยากจะคงสภาวะเดิมสืบเนื่องไปตลอดหรือผลิตซ้ำได้ ประกอบกับสภาวะความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่าง “ราชา” กับ “ชาติ” ก็มีข้อจำกัดและความเปราะบางในตัวเอง
ความปรารถนาของชนชั้นนำจารีตที่จะ “แช่แข็ง” ประเทศ เพื่อหยุดกาลเวลา หยุดความเปลี่ยนแปลง เมื่อต้องเผชิญกับการท้าทายครั้งใหญ่จากเครือข่ายอำนาจใหม่ที่ถูกสร้างภาพให้เป็น “ปีศาจ” ในนามของ “ระบอบทักษิณ” จึงไม่ใช่อะไรมากไปกว่าอาการละเมอหวาดกลัว
เป็นความละเมอหวาดกลัวดังคำของสาย สีมา ตัวเอกในนิยายเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่กล่าวต่อหน้าสมาคมของชนชั้นสูงว่า “ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้… เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”
แต่ในช่วงปลายรัชกาลนี้ เรื่องอาจกลับตาลปัตรอย่างร้ายกาจ เมื่อโลกเก่า-ความคิดเก่ากำลังเพลี่ยงพล้ำอ่อนแรงลง ทว่าแทนที่รัฐบาลที่เป็น “ปีศาจ” ของเหล่าชนชั้นนำจารีตจะใช้โอกาสนี้เร่งถอนรื้อโครงสร้างที่เป็นแขนขามือไม้ของโลกเก่า แล้ววางรากสร้างฐานของโลกใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ กลับพยายามจะลอยตัว ไม่กล้าทำอะไร นอกจากรอคอย “เวลา” แห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะต้องมาถึงตามกฎธรรมชาติที่ว่า ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า
รัฐบาลเพื่อไทย ยังคิดด้วยว่า “เวลา” อยู่ข้างพวกเขา และลำพังอาศัย “เวลา” เป็นอาวุธไร้เทียมทานก็สามารถทำลายโลกเก่าได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปซื้อทำลายนั่งร้านค้ำยันโลกเก่าที่กำลังจะตายไปเอง ขอเพียงรักษาตัวให้รอดรอถึงวันที่ “เวลานั้น” มาถึง สังคมใหม่ก็ปรากฏเรืองรองขึ้นต่อหน้าต่อตาโดยอัตโนมัติ
แทนที่ความพ่ายแพ้ของพลังอนุรักษนิยมจะเป็นจุดหนุนเสริมให้มีการพัฒนาประชาธิปไตย กลายเป็นว่าปีศาจแห่งกาลเวลาสำหรับพลังอนุรักษนิยม กลับสร้างภาพพลังที่กำลังจะโรยรานี้ให้เป็น “ปีศาจ” ที่ยังมีพลังแฝงเร้นอีกมาก เพื่อคอยหลอกหลอนตัวเองและเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง รักษาซากเดนแห่งโลกเก่าเอาไว้ แล้วทำได้เพียงรอ “เวลา” ให้มาจัดการกับปีศาจที่ว่านี้เท่านั้น ความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นกลายเป็นข้ออ้างง่ายๆ ให้รัฐบาลใช้เลี้ยงพันธกิจที่มีต่อคะแนนเสียงที่ต้องการผลักดันกงล้อประชาธิปไตยให้ขับเคลื่อนต่อไป
เราจึงเห็นปรากฏการณ์ที่ประธานรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยโยนร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอทิ้งอย่างไม่ไยดี ไม่เห็นความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่จะปฏิรูประบบตุลาการ ทั้งๆ ที่ “ตุลาการภิวัตน์” เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการล้มรัฐบาลมา 3 ครั้งแล้ว ไม่เห็นความพยายามที่จะปฏิรูปกองทัพ ทั้งๆ ที่กองทัพเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำรัฐประหารและสังหารประชาชนในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 แต่กลับเพิ่มงบประมาณให้ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ เช่น การแก้ไขกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านกลับมามีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี หลังจากที่คณะรัฐประหารแก้ไขให้กลับไปดำรงตำแหน่งจนเกษียณอายุ 60 ปี รัฐบาลเพื่อไทยก็ “ถอย” และยังไม่ต้องพูดถึงการผลักดันอย่างจริงจังให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่เป็นมวลชนร่วมต่อสู้เพื่อขับไล่อำมาตย์มาด้วยกัน
ปีศาจแห่งกาลเวลา หรือจะเป็นเพียงปีศาจที่อาศัยเวลาเป็นเกราะกำลังเพื่อรักษาโลกขาดๆ อื่น ๆ ของสมาคมชั้นสูงเอาไว้ในที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์-การเมือง-กองทัพ-ศาล เพราะเชื่อว่าสถาบันและระเบียบการเมืองที่เป็นปฏิกิริยาจะหมดสิ้นพิษสงไปเองเมื่อถึงเวลาแห่งรัชสมัยใหม่
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ระหว่างปีศาจ กาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงโลกที่ต่างกัน เป็นเรื่องของสถานะ การกำหนดท่าทีต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า และการเลือกยุทธศาสตร์ทางการเมืองในองคาพยพของปีศาจแห่งกาลเวลาที่ต่างกัน
อย่าปล่อยให้ “เวลา” กลายเป็นเครื่องมือแช่แข็ง “ปีศาจ” ที่เกิดขึ้นมาหลอกหลอนโลกเก่า-ความคิดเก่า เสียเอง